การศึกษา / จับตาปี 2565 เสือดุ งานหินพิสูจน์ฝีมือ 3 รัฐมนตรี ศธ.

การศึกษา

จับตาปี 2565 เสือดุ

งานหินพิสูจน์ฝีมือ 3 รัฐมนตรี ศธ.

 

ส่งท้ายปีฉลูวัวทอง 2564 การศึกษาไทยยังไม่พ้นวิกฤตหลังเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี นักเรียน ครู ผู้ปกครองต้องปรับตัว มาใช้ชีวิตตามวิถี “นิวนอร์มอล”

เด็ก ครูเรียนออนไลน์ เกิดสารพัดปัญหาใหม่ๆ มาให้แก้รายวัน วุ่นที่สุดหนีไม่พ้นผู้ปกครองที่นอกจากต้องทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮมแล้ว ยังต้องรับหน้าที่พี่เลี้ยงคอยดูแลบุตรหลานให้เข้าเรียนออนไลน์ เจอสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้เข้าถึงทุกพื้นที่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน

สำคัญที่สุดคือความพร้อมของครู เด็ก และผู้ปกครอง ที่ไม่ได้เท่ากันทุกคน เกิดความเครียด ตามมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเด็กออกกลางคัน

ข้อมูลล่าสุด มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เฉพาะภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ไม่ต่ำกว่า 6.6 หมื่นคน ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดังนี้

กศน. 1,483 คน, สช.ออกกลางคัน 2,578 คน, สอศ.แบ่งเป็น รัฐ 16,690 คน เอกชน 18,161 คน และ สพฐ.แบ่งเป็น กลุ่มเด็กทั่วไป 5,621 คน กลุ่มเด็กพิการ 7,137 คน กลุ่มรอยต่อ 14,953 คน รวมมีนักเรียน/นักศึกษา ออกกลางคันทุกสังกัด 66,623 คน

กระทั่งเคยมีข้อเสนอ ให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ

อีกทั้งเผยผลวิจัยเด็กไทยเกิดความเครียด โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกระบุว่าการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะ Learning Loss หรือความรู้ถดถอย

ภาวะดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศให้โรงเรียนที่มีความพร้อม เปิดเรียนออนไซต์ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนนักเรียนและครู

โดยขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 98%

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

 

แม้จะเจอปัญหาตลอดทั้งปี แต่ผลงานของ 3 สาว รัฐมนตรี ศธ. ทั้ง “ครูเหน่ง” ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. “ครูกัลยา” คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ “ครูโอ๊ะ” กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ก็ไม่ถือว่าน่าเกลียด

ถึงยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม แต่หลายเรื่องขับเคลื่อนไปพอสมควร อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management)หรือ CVM ทั้ง 25 แห่งอย่างเป็นทางการ เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลิตกำลังคนให้ตรงกับงานตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากกว่า excellent center

เดินหน้าจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ เปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่างๆ

ผลักดันการเรียนโค้ดดิ้ง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเสมา 2 มีการอบรมครูไปแล้วกว่า 3 แสนคน

ส่วนการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จัดทำโครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำ

สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้น เป็นการขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

 

ขณะที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 47 แห่งซึ่งเป็นหนึ่งงานที่เสมา 2 กำกับดูแล ได้มีการนำทฤษฎีและแนวปฏิบัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาเป็นหลักสูตร “ชลกร” คือหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจัดการน้ำ ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้จะมีความรู้หลากหลาย มีความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา ความรู้เรื่องฝน เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้

การเดินหน้านโยบาย “กศน. สช. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล” ของครูโอ๊ะ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่น่ายินดีคือ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกฎหมายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษา พ.ศ…. เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น ปี 2565 คงได้เห็นหน้าตาโรดแมปการศึกษาไทยแน่นอน

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษา พ.ศ…. ถือเป็นการพลิกโฉมสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดึงออกพ้นอกสำนักงานปลัด ศธ. ปรับการบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล เพื่อให้มีความอิสระ คล่องตัว ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้การศึกษานอกระบบ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ รองรับการศึกษาตลอดชีวิต ที่ต้องปรับให้ทันกระแสโลก…

ปีหน้าเสือดุ ต้องจับตาการศึกษาไทย ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ถือเป็นงานหินพิสูจน์ฝีมือ 3 รัฐมนตรี สาว สาว สาว