ฉายารัฐบาล 2564 แสบทรวง ทะลวงใจ สะท้อนความเชื่อมั่น-ศรัทธา จากสื่อฯ ถึง ‘ชำรุดยุทธ์โทรม’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฉายารัฐบาล 2564

แสบทรวง ทะลวงใจ

สะท้อนความเชื่อมั่น-ศรัทธา

จากสื่อฯ ถึง ‘ชำรุดยุทธ์โทรม’

 

ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันเป็นประจำตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สำหรับการตั้งฉายารัฐบาลประจำปี เพื่อสะท้อนภาพการทำงานของรัฐบาล ล่าสุดปีนี้ สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ได้เผยผลการตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี รวมถึงวาทะแห่งปี ประจำปี 2564 ออกมาดังนี้

ฉายารัฐบาล “ยื้อยุทธ์” สะท้อนภาพรัฐบาล ที่ยื้อแย่งกันเอง ทั้งในส่วนของอำนาจ ตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชน และการเดินหน้าประเทศ จนถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และมองการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่อย่างไร ใครไม่อยู่แต่ประยุทธ์อยู่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับฉายา “ชำรุดยุทธ์โทรม” จากการบริหารประเทศที่ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ จนถูกโจมตีรอบด้าน แม้จะยังอยู่ในตำแหน่งได้แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ

ซึ่งหลังจากเปิดเผยฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในอาการปิดปาก คาดว่าน่าจะเกิดอาการไม่พอใจชื่อฉายา ก่อนจะเปิดปากขอบคุณอย่างนิ่งๆ ว่า “ขอบคุณในฉายาละกัน”

ต่อกันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับฉายา “รองช้ำ” จากการประสบพบเจอแต่เรื่องช้ำๆ เจ็บซ้ำมาโดยตลอด ทั้งสถานการณ์ที่ต้องตกเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเมือง โดยเฉพาะปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดความแตกแยกอย่างหนัก ท้ายที่สุดเลือกใครไม่ได้ จำยอมต้องยอมแบกความเจ็บช้ำไว้คนเดียว

งานนี้พอถูกไมค์จ่อปากถามถึงความรู้สึกต่อฉายาที่ได้รับ คำตอบที่ได้รับกลับไม่ใช่ “ไม่รู้” อย่างที่เคย แต่กลายเป็นการยืดอกน้อมรับฉายา แถมยังบอกอีกว่า “รองช้ำเพื่อชาติไม่เป็นไร รองช้ำเพื่อให้ประเทศชาติอยู่ต่อไป”

อนุทิน ชาญวีรกูล ฉายา “ว้ากซีน” ล้อมาจากคำว่า “วัคซีน” ภาพที่ผู้คนยื้อแย่งวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ออกมาเรียกร้องวัคซีนชนิด mRNA ผู้คนตำหนิการจัดหาและให้บริการวัคซีน ที่ถูกเลื่อนไม่มีกำหนดบ้าง ไม่มาตามนัดบ้าง โดยเฉพาะในโซเชียลมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนอนุทินต้องออกมาโต้ตอบอย่างดุเดือดผ่านสื่อและโซเชียลทุกครั้งที่มีโอกาส

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ฉายานายกฯ บางโพล จากการแสดงความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะยังไม่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่โพลบางสำนักระบุต้องการให้เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เปรียบได้กับการเป็นนายกรัฐมนตรีแค่บางโพล ไม่ใช่ทุกโพล

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ฉายา “มหาเฉื่อย 4D” จากการแสดงฝีมือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เด่นชัด จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แม้จะผุดโปรเจ็กต์ต่างๆ ก็ถูกมองเป็นนโยบายขายฝัน โดยเฉพาะนโยบาย 4D ที่ท่องจนเป็นคาถาติดปาก ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ตอบสื่อถึงเรื่องนี้ พร้อมยืนยันไม่โกรธสื่อที่ตั้งฉายานี้ให้ ยังยืนยันจะสานต่องานต่อไป

ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น ได้รับฉายา “สุชาติ ชมเก่ง” มาจากการที่ออกตัวชื่นชมหัวหน้าใหญ่อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ในทุกครั้งที่ถูกไมค์จ่อปาก แถมยังติดสอยห้อยตามการลงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงอาสาออกหน้ารับคำท้าขึ้นชกมวยคาดเชือกกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ แทน พล.อ.ประยุทธ์อีกด้วย

ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ขอบคุณสื่อที่ตั้งฉายาให้ พร้อมทั้งยังบอกอีกว่าน่ารักน่าเอ็นดู ปิดท้ายการชมว่าถ้าไม่มี ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ นโยบายแรงงานขับเคลื่อนไม่ได้

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ฉายา “สายขม นมชมพู” มาจากปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังคงคาราคาซังมานานข้ามปี จนกลายเป็นเรื่องขมคอของหน่วยงานภาครัฐ บวกซ้ำกับภาพหลุดเชื่อมโยงคลัสเตอร์โควิด-19 สถานบันเทิงย่านทองหล่อ

ก่อนเจ้าตัวจะชี้แจงว่าภาพดังกล่าวแค่สะท้อนชีวิตหนุ่มโสด ร้องคาราโอเกะ ดื่มนมชมพู หาความสุขหลังเลิกงานเท่านั้น

พิพัฒน์ รัชกิจประการ ฉายา “ดีลล่มระดับโลก” จากความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยการออกตัวการันตีว่าจะนำ “ลิซ่า วงแบล็กพิงก์” มาร่วมงานเคาต์ดาวน์ ก่อนที่ดีลดังกล่าวจะล้มไม่เป็นท่า หลังค่ายเกาหลีต้นสังกัดออกแถลงการณ์ดับฝัน หรือแม้แต่โครงการ Sandbox ก็สะดุดจนเกือบจะเป็น Sadbox เข้าให้

วาทะแห่งปี 2564 ต้องยกให้กับ “นะจ๊ะ” ที่มาแรงแบบไม่มีประโยคไหนแซงโค้งได้ คำพูดติดปากของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะเป็นคำธรรมดาที่ใช้ทั่วไป แต่กลายเป็นคำไม่ธรรมดาเมื่อออกจากปากของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศ และยิ่งไปกว่านั้นออกมาในช่วงโควิด-19 กำลังวิกฤตหนัก ประชาชนเดือดร้อน ผู้คนล้มตาย คำที่ออกมาจากปากของนายกรัฐมนตรีกลับไม่เหมาะสม

สะท้อนภาวะความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวในการสื่อสารอย่างเห็นได้ชัด

 

ขณะที่ “ฉายารัฐสภาปี 2564” สื่อมวลชนประจำรัฐสภาก็ตั้งขึ้นมา เพื่อสะท้อนการทำงานตลอดทั้งปีของฝ่ายนิติบัญญัติ เริ่มจาก สภาผู้แทนราษฎร ฉายา “สภาอับปาง” สภาเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชนและงานบริหารราชการแผ่นดิน แต่กลับล่มซ้ำซากหลายครั้งติดต่อกัน ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดี

วุฒิสภา ฉายา “ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)” หลังถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกโหวตคว่ำทุกครั้ง

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฉายา “ชวนพลังท่อม” จากการทำงานของนายหัวชวนในการนั่งเป็นประธานในการประชุมสภาได้อย่างยาวนาน เสร็จกิจจากในสภาก็ยังปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ได้อีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ราวกับคนเคี้ยวใบกระท่อมที่มีแรง อึด ถึก ทนมากเป็นพิเศษ

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฉายา “ร่างทรง” อยู่ยาวมาตั้งแต่สมัย คสช. จนมาถึงปัจจุบัน ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานวุฒิสภาต่อเนื่อง เพื่อคอยสนองความต้องการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (อดีต) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ฉายา “สมพงษ์ตกสวรรค์” ได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้านแต่กลับไร้บทบาท มิหนำซ้ำยังผิดพลาดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมหลุดจากผู้นำฝ่ายค้านในสภาโดยปริยาย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รับฉายา “ดาวเด่นแห่งปี” ด้วยความโดดเด่นในสภาที่ฉายแสงมาโดยตลอด สุดท้ายผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย จนได้รับการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา

วิรัช รัตนเศรษฐ ผู้ที่เคยนั่งแท่นเป็นถึงประธานวิปรัฐบาล ก่อนจะถูกศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา ทำให้ได้รับ “ดาวดับ” ไปครอง

เหตุการณ์เด่นแห่งปี แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี เรื่องลับๆ ของการเดินสายล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ความลับดันถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก่อนที่ในที่สุดจะถูกสั่งปลดจากตำแหน่งไปเสียดื้อๆ

ส่วน วาทะแห่งปี ก็ต้องยกให้กับ “วัคซีนเต็มแขน” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ระบุว่า “ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย จะมีอยู่เต็มโรงพยาบาล อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทย” ก่อนคำพูดดังกล่าวจะกลายเป็นไวรัลให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะวัคซีนไม่มาตามนัดอย่างที่คุยโวไว้

คู่กัดแห่งปี ยกให้ เสรี สุวรรณภานนท์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากการโต้เถียงกันบ่อยครั้งในระหว่างการประชุมสภา และสุดท้ายกับฉายา คนดีศรีสภา ที่ในปีนี้ก็ยังคงต้องยกเลิกไปอีกปี

 

การตั้งฉายาเหล่านี้จากสื่อมวลชน ไม่ใช่การตั้งเอาความบันเทิง จิกกัด หรือเสียดสี แต่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้สังคมเห็นถึงการบริหารงานของรัฐบาล

ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาโดยตรงกับประชาชน หากรัฐบาลยังรับไม่ได้กับฉายาที่ได้รับเหล่านี้ ก็เป็นการสะท้อนคำตอบว่ารัฐบาลยังปรับตัวไม่ได้

และไม่ได้มาด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง