E-DUANG : มอง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่าน “ซุนวู”

กระบวนท่าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งวัน ยิ่งน่าศึกษา
เมื่อปะเข้ากับ “มรสุม” แต่ละลูกที่ซัดตูม ตูม เข้ามา น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้หนี
นั่นก็คือ มิได้ดำเนินตาม “หนีคือยอดกลยุทธ์”
ขณะเดียวกัน ความรู้สึกของแฟนนานุแฟนจำนวนไม่น้อยก็มีความเห็นร่วมว่า ด้านหลักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ การถอย
ถอยโดยไม่เข้า “ปะทะ” ซึ่งหน้า
ทำให้ต้องพิจารณาอย่างจริงจังถึงจุดต่างระหว่าง”ถอย”กับ”หนี”ว่าดำเนินไปอย่างไร

หลักการโดยทั่วไปที่ “หนี คือ ยอดกลยุทธ์” เตือน ความหมายก็คือ เมื่อรบกับข้าศึก หากข้าศึกแข็งเราอ่อน
เราอาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็ว เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะ
ดังคัมภีร์อี้จิง บทว่าด้วยแม่ทัพ ระบุว่า “ถอยหนีมิผิด เป็นวิสัยซึ่งสงคราม”
การถอยก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยหายในยามที่เราเป็นฝ่าย เสียเปรียบ และเพื่อชิงโอกาสตอบโต้ในภายหลัง มิใช่ถอยหนีอย่างพ่ายแพ้หมดรูป
ตีโต้กลับมิได้อีก
นี้เป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะเลวกว่าใช้รูปแบบถอยหนีเพื่อหาโอกาสพิชิตข้าศึกอย่างหนึ่ง

ปมเงื่อนไม่ว่าจะเป็น “การถอย” ไม่ว่าจะเป็น “การหนี” จึงดำเนินไปใน 2 รูปแบบ
รูปแบบ 1 ถอยจริงๆ หนีจริงๆ
นั่นก็คือ ถอยหรือหนีอย่างไม่มีการตระเตรียมอย่างที่ศิลาจารึกบอกว่า “หนียะย่ายพ่ายจะแจ”
รูปแบบ 1 ถอยไปตั้งหลัก ถอยอย่างมีแผนการ
คัมภีร์”ไหวหนานจื่อ ฝึกการยุทธทหาร”จึงกล่าว “แข็งจึงสู้ อ่อนจึงหนี” คัมภีร์ “ปิงฝ่าหยวนจีได้” ก็กล่าว “แม้นหลบแล้วรักษาไว้ได้ก็พึงหลบ”
ซุนวูก็เน้นใน”บทกลยุทธ์”ด้วยว่า “แข็งพึงเลี่ยงเสีย”
คำถามอยู่ที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถอยและหนีด้วยกระบวนท่าใด