วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/เหตุแห่ง 6 ตุลา 19

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เหตุแห่ง 6 ตุลา 19

สัญญาณเตือนฝ่ายสันติวิธี และสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ส่อให้เห็นถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองของฝ่ายประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มชัดเจนขึ้น

จากการลอบปาระเบิดสำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติ กระบวนการข่มขู่คุกคามมีการกระทำหลายรูปแบบ โดยใช้วิทยุกระจายเสียงสถานีวิทยุยานเกราะเป็นเครื่องมือปลุกระดมของฝ่าย “ขวา” ที่หนังสือพิมพ์ตั้งชื่อให้ว่า “ขวาพิฆาตซ้าย”

หลังจาก จอมพลประภาส จารุเสถียร ถอยกลับไปรักษาตาที่ไต้หวัน ข่าวการเดินทางเข้าประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดขึ้นทุกวัน

ในที่สุด การเดินทางมายังประเทศสิงคโปร์ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร กับครอบครัว ก็เป็นความจริง การชุมนุมและเดินขบวนของผู้ต่อต้าน “ทรราช” และเผด็จการเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันเช่นกัน

จากเดือนสิงหาคม ขึ้นเดือนกันยายน มีการแต่งตั้งโยกย้ายทหารเข้ารับราชการ เกิดการปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ วันเวลาห้วงนั้น สถานการณ์ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา บรรดานักวิชาการ และนักการเมืองต่างประเมินสถานการณ์วันต่อวัน เช่นเดียวกับในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ต้องระมัดระวังตัวเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการปล่อยข่าวของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

พันเอกอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มีรายการวิจารณ์ขบวนการนิสิตนักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์บางกลุ่ม ใช้คำขวัญและภาษิต เช่น “อย่าเอากุ้งฝอยไปตกปลากะพง” หรือ “พวกนักข่าวไม่ต้องทำอะไรมาก ใช้เงินบาทสองบาทหยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะ แล้วโทร.ถามคนนั้นที ถามคนนี้ที ได้ความคิดอย่างนั้น นำไปถามแย้งกับอีกคนหนึ่ง” ราวกับว่า ผู้ให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถามนักข่าวไม่มีความคิดของตัวเอง ยอมให้นักข่าวใช้คำถามเพื่อเสี้ยมให้ตอบอีกอย่าง เป็นต้น

ระยะที่มีข่าว จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ หัวหน้าข่าวประชาชาติสั่งการให้ทุกคนหาข่าวการเดินทางของจอมพลถนอมว่าจะเข้ามาประเทศไทยเมื่อไหร่

เพียงไม่นานจากนั้น ราวปลายเดือนกันยายนที่มีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไพบูลย์ วงษ์เทศ หัวหน้าข่าวหน้า 1 ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดโทรศัพท์เข้าที่พักของจอมพลถนอมได้ในเย็นวันหนึ่ง

รุ่งขึ้นจึงนำคำตอบยืนยันว่า จอมพลถนอม กิตติขจร พำนักในอาคารแห่งหนึ่งของสิงคโปร์

การทำงานข่าวของนักข่าวและหัวหน้าข่าวต้องเจาะลึกให้ถึงแก่นข่าวหรือแหล่งข่าว เพื่อให้ได้ความจริง หรือข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง

เช่นก่อนหน้านั้น ครั้งหนึ่งมีข่าวอธิบดีกรมอัยการ สมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี นักข่าวประจำกระทรวงมหาดไทยได้รับคำสั่งให้พยายามติดต่ออธิบดีคนนั้นเพื่อสัมภาษณ์และสอบถามข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเป็นจริงตามนั้น หรือต้นเค้าปลายเหตุเป็นอย่างไร

หลังติดต่อนัดวันเวลาไปพบ ไพบูลย์เดินทางไปที่กรมอัยการด้วยตัวเอง พร้อมกับนักข่าวกระทรวงมหาดไทย ลีลาการตั้งคำถามและเค้นหาคำตอบเป็นวิธีการเฉพาะตัวจริงๆ ไม่ว่าอธิบดีจะตอบคำถามหลีกเลี่ยงไม่ให้คำตอบมัดตัวเองเท่าใด คำถามก็ยิ่งรุกเร้าเพื่อให้ได้คำตอบอย่างสุภาพและเรียบง่าย

ในที่สุดเมื่อถึงคำถามสุดท้าย อธิบดีตอบว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น หมายถึงน่าจะเป็นอย่างคำถามที่หัวหน้าข่าวตั้งธงไว้

เท่านั้นเพียงพอสำหรับการเขียนข่าวตามที่ได้รับคำตอบมา และคำตอบจากแหล่งข่าว กับข่าวที่เกิดขึ้นนำมาผนวกเข้าด้วยกัน เป็นข่าวใหญ่ในวันรุ่งขึ้น

ข่าวการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่มีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำ มี สุธรรม แสงประทุม นายกหรือประธานศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ เป็นผู้นำ และนิสิตนักศึกษาอีกหลายคน

สถานการณ์ในกรุงเทพมหานครระหว่างนั้นระส่ำระสาย อาการหวาดระแวงเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น ทำร้ายผู้นำนิสิตนักศึกษา ทำร้ายผู้นำกรรมกร ทำร้ายผู้นำแรงงาน กลุ่มกระทิงแดงพยายามขัดขวางการชุมนุมของผู้ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้ามาประเทศไทยของจอมพลถนอมกับพวก

ที่สุด ความรุนแรงหฤโหดก็เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคม 2519

ยิ่งมีผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากขึ้นเท่าใด ภายนอกที่เป็นแนวร่วมของอีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งขยายวงปลุกระดมเพิ่มขึ้นเท่านั้น

จากสถานีวิทยุยานเกราะ ไปเป็นกลุ่มวิทยุเสรีที่ใช้สถานีวิทยุเป็นการปลุกระดมผ่านรายการหลากหลาย มีผู้ร่วมวงปลุกระดมเพิ่มขึ้น กระทั่งแทบว่าทุกสถานีวิทยุที่เป็นคลื่นของทหารมีรายการเดียวกันหมด ยกเว้นกรมประชาสัมพพันธ์ ซึ่งอยู่ในควบคุมของรัฐบาล และสถานีโทรทัศน์บางช่อง

ณ บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นแหล่งจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา เข้มข้นจากการอภิปรายและปลุกระดมให้ฝ่ายต่อต้านทรราชและเผด็จการทั้งวันทั้งคืน การชุมนุมขยายวงออกไปอีกหลายจังหวัด

ข่าววิทยุของกรมประชาสัมพันธ์พยายามไม่ออกข่าวการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแต่เพียงการนำเสนอข่าวและภาพในหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเท่านั้น

แล้วเช้าวันหนึ่งก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์พนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม 2 คน ถูกทำร้ายและถูกแขวนคอไว้ที่หน้าประตูหน่วยงานหนึ่ง

อีกวันหนึ่งก่อนวันที่ 6 ตุลาคม ณ บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงละครและล้อเลียนการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม พร้อมเรียกร้องให้ตำรวจกับรัฐบาลเร่งจับคนร้ายให้เร็วที่สุด ด้วยเป็นเหตุข่มขวัญและทารุณกรรมอย่างโหดเหี้ยม

การแสดงล้อเลียนการแขวนคอที่เกิดขึ้นในเช้าวันนั้น วันรุ่งขึ้นมีการตีพิมพ์ภาพในหน้าหนังสอพิมพ์หลายฉบับที่ออกในเช้าวันนั้น ปรากฏภาพของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามนำเสนอภาพในมุมกล้องหนึ่ง ที่มีใบหน้าคล้ายบางคนอันเป็นเหตุให้กลุ่มปลุกระดมฝ่าย “ขวาพิฆาตซ้าย” นำไปโจมตี กล่าวหาว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาและผู้ชุมนุมครั้งนั้น คือผู้ที่คิดล้มล้างสถาบันของประเทศ

ตั้งแต่เช้าวันนั้น กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมในสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระส่ำระสาย ขณะที่มีข่าวกลุ่มกระทิงแดงปิดล้อมและระดมยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัย

เช้าวันนั้น ถนนทุกสายมุ่งสู่สนามหลวง รวมทั้งผมซึ่งต้องไปปฏิบัติหน้าที่นักข่าวและช่างภาพจำเป็น