โฟกัสพระเครื่อง : วัตถุมงคล-เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม พระเกจิชื่อดังสมุทรสาคร

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ / [email protected]

 

วัตถุมงคล-เหรียญรุ่นแรก

หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

พระเกจิชื่อดังสมุทรสาคร

 

“หลวงพ่อเฮง อินทโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม) อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดังที่ชาวบ้านย่านตำบลโคกขามและชาวมหาชัยต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ประกอบกิจการประมงออกทะเลล่องเรือหาปลา

เป็นพระเถระที่ดำรงตนอย่างสมถะและมีความถ่อมตน น่าเคารพนับถือ สร้างวัตถุมงคลทั้งสิ้น 2 วาระ

แต่ไม่ปรากฏว่ามีแบบใดที่เป็นเหรียญรูปเหมือนของตัวท่านเอง ทุกแบบที่อนุญาตให้จัดสร้างได้นั้นเป็นรูปพระพุทธทั้งสิ้น

ปี พ.ศ.2497 จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกขึ้น มีด้วยกัน 3 แบบ มีทั้งเนื้อทองแดงและเนื้อเมฆพัตร แต่ละแบบสร้างขึ้นมีจำนวนแบบละ 999 เหรียญ

เหรียญแบบที่ 1 เหรียญพระพุทธสี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อทองแดง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหูในตัว ตัวเหรียญมีเอกลักษณ์ที่โดนเด่นจดจำได้ง่าย

ด้านหน้า มีรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชรเหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างทั้งสองด้าน มีอักขระยันต์ และด้านล่างมีอักขระขอม ขอบเหรียญยกเป็นมุมนูนสูง

ด้านหลัง ผูกยันต์หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์และลงอักขระขอมไว้ด้วย

เหรียญแบบที่ 2 เหรียญน้ำเต้า หลวงพ่อเฮง เป็นเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นรูปน้ำเต้า มีหูในตัว

ด้านหน้า ภายในเหรียญเป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชรลอยองค์ ไม่มีฐานรองรับแบบเหรียญสี่เหลี่ยม ใต้รูปพระพุทธมีอักขระขอม

ด้านหลัง ผูกด้วยยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอุณาโลมบนยอดทั้ง 3 ด้านล่าง มียันต์หัวใจเป็นยันต์ตารางสี่เหลี่ยม

ส่วนเหรียญแบบที่ 3 พระกลีบบัว หลวงพ่อเฮง สร้างด้วยเนื้อเมฆพัตร

ด้านหน้า มีลักษณะเหมือนกับพระเมฆพัตรเกศทองคำ ของเจ้าคุณสุนทร วัดกัลยาณมิตร

ด้านหลัง เป็นยันต์แบบพระเจ้าห้าพระองค์ ในแบบอุณาโลมสามยอด และทุกองค์จะเลี่ยมด้วยทองแดงจับขอบ มีหูห้อยได้มาจากวัด

เป็นอีกเหรียญที่พบเห็นได้ยาก

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต

มีนามเดิมว่า เฮง สีลวรรณ์ เป็นชาวเขมรโดยกำเนิด เกิดที่ ต.ตัพพัง อ.เมือง จ.พระตะบอง เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 2433 ตรงกับวันอังคาร แรม 4 ค่ำ ปีเถาะ เดือน 6 บิดา-มารดาชื่อนายโต และนางต่วน สีลวรรณ์

ในวัยเยาว์อายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดอินทราธิบดี ต.หนองกระโดน เมืองพระตะบอง

ด้วยความที่มีจิตใจใฝ่ทางธรรม ซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา จึงไม่ยอมสึก ครองเพศเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ภาษาบาลี และภาษาขอมอย่างมุ่งมั่น

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2453 ที่พัทธสีมาวัดอินทราราม เมืองพระตะบอง พระครูธรรมจริยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูธรรมสุวรรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพรหมสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาภาษาบาลี สันสกฤตจนมีความชำนาญ จึงหันมาศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดจนพุทธาคมต่างๆ กระทั่งเห็นว่ามีภูมิพอเอาตัวรอดและรักษาตัวเองได้ จึงออกปฏิบัติธรรมอยู่รุกขมูล ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรและสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนสรรพวิทยากับคณาจารย์หลายท่าน

เหรียญพระพุทธสี่เหลี่ยม หลวงพ่อเฮง

 

เหรียญน้ำเต้า หลวงพ่อเฮง

 

กระทั่งได้มาพำนักจำพรรษาที่วัดบ้านขอม ชาวบ้านเห็นว่าเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จริยาวัตรงดงาม จึงให้ความเคารพศรัทธา

เมื่อหลวงพ่อแฉ่ง เจ้าอาวาสวัดบ้านขอม มรณภาพ คณะศิษย์ ผู้ศรัทธาและใกล้ชิดของท่านจึงไปพบกับหลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม และหลวงพ่อชด วัดคอกกระบือ ซึ่งทั้งสองท่านเป็นผู้มีหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในเขตดังกล่าว และท่านทั้งสองเห็นพ้องกันว่าควรให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านขอม สืบต่อจากเจ้าอาวาสรูปเดิม

แม้จะมีผู้ร้องเรียนคัดค้านไปทางเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครขณะนั้นอยู่บ้าง ถึงความไม่เหมาะสมบางประการ แต่ก็ผ่านการทดสอบ และได้รับตำแหน่งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขอมอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคุมสอบนักธรรมของจังหวัดอีกตำแหน่งหนึ่ง

เป็นพระนักปฏิบัติ เคร่งครัดในพระวินัยมาก ฉันอาหารมื้อเดียว

เคยเล่าให้กับพระเณรฟังว่า ท่านบวชมาตั้งแต่เป็นสามเณรที่พระตะบอง เรียนวิชาคาถาอาคมต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังเรียนภาษาบาลี สันสกฤตอีก เวลาเรียนตอนกลางคืนไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ธูปดอกใหญ่จุดพอมีแสงสว่างให้ท่องอ่านตำรับตำราได้

นับว่าเป็นผู้มีความเพียรเป็นเลิศ

พระกลีบบัว หลวงพ่อเฮง

 

กล่าวสำหรับวัดโสภณาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าวัดบ้านขอม ตั้งอยู่ที่ ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร การคมนาคมสะดวก ใช้ถนนเอกชัยมุ่งหน้าไปทางมหาชัยเมืองใหม่ ผ่านหมู่บ้านเคหะชุมชนประมาณ 300 เมตร ให้เลี้ยวขวามีป้ายบอกทาง ตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร ข้ามทางรถไฟก็จะถึงวัด

วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นมากว่า 200 ปีแล้ว แต่ประวัติผู้ก่อตั้งไม่ชัดเจน โดยเล่าสืบต่อกันมาว่าพระอธิการสะ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและมีเจ้าอาวาสสืบต่ออีกหลายรูป

ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ลือชื่ออีกรูปหนึ่ง ในทำเนียบพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าของมหาชัย เช่น หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน, หลวงปู่แก้ว วัดช่องลม เป็นต้น

ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้าน โดยเฉพาะเถ้าแก่เรือประมง เวลาต่อเรือเสร็จใหม่ จะต้องให้หลวงพ่อเฮงเจิมทุกลำ เพื่อความเป็นสิริมงคล มีความเชื่อว่าเรือที่หลวงพ่อเฮงบริกรรมภาวนา เรือลำนั้นจะโชคดี ทำมาค้าขึ้น มีแต่โชคลาภและเฮงตลอดปี

ส่วนชาวบ้านที่ไปให้เป่ากระหม่อมจะประสบแต่ความโชคดี ค้าง่ายขายคล่อง หากินง่าย ไม่ฝืดเคือง

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2508

สิริอายุ 75 ปี พรรษา 55