มนัส สัตยารักษ์ : ตำรวจยุค 4.0 จะเป็นแค่ “ปื๊ด” ไม่ได้

สื่อโซเชียลใช้เฟซบุ๊กพาดหัว ชื่นชมนายมงคล ขับรถขนเหล็กงัดกฎหมายสู้ตำรวจจนพ้นผิดแล้วแจ้งจับตำรวจยกชุด ตำรวจยอมรับพลาด

ผมเพิ่งชื่นชมในความพร้อมของตำรวจไปหยกๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรณีชายหัวหมอลองดีไม่ยอมส่งมอบใบขับขี่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านตรวจเรียกตรวจ ตำรวจเลยตั้งข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” และดำเนินคดี

ศาล จว.สิงห์บุรี มีคำพิพากษา คดีแดง 1749/59 สรุปคำพิพากษาว่า

“ข้ออ้างของจำเลยที่ไม่ยอมลงจากรถ ไม่ยอมส่งมอบใบขับขี่ เพราะไม่เชื่อว่าเป็นตำรวจ กลัวถูกทำร้าย จึงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอ เป็นความผิดตาม ปอ.328 วรรคแรก”

แต่กรณีรถกระบะของนายมงคลขนเหล็กกลับตรงกันข้าม

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วัดพระยาไกร ตั้งจุดตรวจ “กวดขันวินัยจราจร” สกัดรถกระบะที่บรรทุกท่อนเหล็กซองแล้วออกใบสั่งระบุความผิดว่า “บรรทุกสิ่งของที่ไม่มีสิ่งปกคลุม และยื่นล้ำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”

ผู้ขับรถปฏิเสธไม่ยอมรับใบสั่งเพราะมั่นใจว่าตัวเองไม่ผิด ถ้ารับใบสั่งแล้วไม่ไปจ่ายเงินค่าปรับก็จะกลายเป็นมีความผิด จึงขอให้ตำรวจทำบันทึกการจับกุมเพื่อให้ตนได้มีช่องทางในการต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป

รอง ผกก. จราจร สน.วัดพระยาไกร เปิดเผยว่า ได้วัดความยาวของท่อนเหล็กสแตนเลสจากกระบะท้ายรถแล้ว ยื่นล้ำออกมา 1.70 เมตร ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด (2.50 เมตร) จึงได้ตัดข้อหานี้ออก ออกใบสั่งแค่ข้อหาเดียว คือบรรทุกสิ่งของโดยไม่มีสิ่งปกคลุม

ดูด้วยสายตาจากภาพในคลิปเห็นเหล็กหรือสแตนเสสยื่นล้ำตัวรถออกมามาก แต่ก็ไม่เกิน 2.50 เมตรแน่นอน ส่วนข้อหาไม่มีสิ่งปกคลุมจะผิดหรือไม่ผิดคงต้องว่ากันอีกเรื่อง

ซึ่งผมภาวนาให้เขาชนะคดี ตำรวจจะได้ตระหนักว่าประชาชนยุค 4.0 เขาคิดและรู้สึกอย่างไร

ไม่เพียงแต่สื่อและชาวบ้านจะชื่นชมคนขับรถ ผมเองก็ร่วมชื่นชมด้วยกับความ “พร้อม” ของผู้ใช้รถ ขณะเดียวกันก็ค่อนข้างเชื่อว่าตำรวจแจ้งข้อหาไปด้วยความเคยชินหรืออย่างมักง่าย นายมงคลก็บอกว่าถูกจับมาหลายหนแล้ว

ถ้ามองในแง่ “สามัญสำนึก” ก็อยากจะพูดว่าฝ่ายตำรวจเจตนาไม่บริสุทธิ์ ตำรวจควรตระหนักและรับรู้ว่า การตั้งด่านตรวจรถถูกมองในแง่นี้มาแต่ไหนแต่ไร

นึกถึงครั้งที่ผมเกษียณอายุใหม่ๆ ตำรวจหนุ่มที่ด่านตรวจถนนสุขุมวิทนายหนึ่งพยายามจะจับผมในข้อหา “ขับรถเร็ว” ให้ได้ ทั้งที่การจราจรติดขัด

ผมออกจากรถอย่างหัวเสียบอกว่า “ออกใบสั่งมา ผมจะสู้คดี”

ตำรวจหนุ่มชะงักและเงอะงะ จนจ่าอาวุโสเดินมาตัดบท

ครั้งที่ผมเป็นสารวัตรรถวิทยุกองปราบปรามใหม่ๆ กลางดึกคืนหนึ่ง ผมนั่งรถนอกเครื่องแบบไปตรวจบริเวณแยก “สามเหลี่ยมเหล็ก” (ดอนเมือง-รังสิต) ซึ่งมีกิตติศัพท์ร่ำลือกันว่าเป็น “แหล่งหากิน” ของตำรวจนอกแถวหลายสังกัด

พลตำรวจเด็กนายหนึ่งชะโงกหน้าเข้ามาดูอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถซึ่งมีทั้งวิทยุ โทรศัพท์ สวิตช์สัญญาณไฟวับวาบ สัญญาณเสียงไซเรน และสปอตไลต์

เขาอุทานออกมาด้วยความตื่นเต้น “รถอะไรวะเนี่ย…เครื่องเคราเต็มไปหมด” แล้วทำท่าจะขอดูใบอนุญาตขับขี่

ตำรวจขับรถของผมเป็นนายสิบนอกเครื่องแบบที่กำลังจะรับปริญญานิติศาสตร์ คงทั้งมึนและขันและฉุนผสมกัน หันมาถามผมสั้นๆ ว่า

“เอาไงดีครับ”

ผมยังไม่ทันตอบก็มีจ่านายหนึ่งปราดเข้าดึงไหล่พลตำรวจหนุ่มออกห่างจากรถ

“ไอ้ห่ะ! นี่มันรถนาย… ไม่ดูตาม้าตาเรือเดี๋ยวก็โดนหรอก”

ความไม่พร้อมของตำรวจที่ไปตั้งด่านตรวจรถ (จะด้วยภารกิจและเป้าหมายใดก็ตาม) ทำให้ถูกมองและถูกประณามว่า “หาแดก” มาแต่ดึกดำบรรพ์ ช่วงเวลาที่ผมเป็นสารวัตรใหญ่ (หรือ ผกก. ในปัจจุบัน) อยู่ในฐานะ “บิ๊ก” ภายในเขตท้องที่ ผมแก้จุดด้อยของตำรวจด้วยการให้ตำรวจแจ้งข้อหา “ให้สินบนเจ้าพนักงาน” แก่ผู้ที่ให้เงินสินบนแก่ตำรวจ

ตำรวจในท้องที่ สน. ของผมจับกุมและส่งดำเนินคดีเป็นร้อยราย ศาลพิพากษาลงโทษทุกราย (ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนโทษจำคุกให้รอลงอาญา) อาจตีความได้ว่าทั้งอัยการและศาลต่างเห็นโทษความเลวร้ายต่อสังคมของการให้สินบนเจ้าพนักงาน

ผมเหิมเกริมจึงลอง “คุยนอกรอบ” กับผู้บังคับบัญชาชั้นนายพลท่านหนึ่ง ท่านเห็นด้วยแต่พูดอ้อมไปอ้อมมาสรุปว่า “มันเป็นหม้อข้าว” ของใครก็ของมัน

ผมแปลได้ความในภาษาปัจจุบันว่า “อย่าเผือก” (ฮา)

ภารกิจและหน้าที่ของตำรวจกองปราบปรามที่ต้อง “บุกเดี่ยว” แทบจะทุกกรณีทำให้ต้องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าเสมอ

ตอนเป็นรองสารวัตรต้องไปทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่คนเดียวในหน่วย นปข. ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ทำให้ผมติวตัวเองอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับกฎหมายภาษีศุลกากร ประกาศคณะปฏิวัติสารพัดฉบับที่เกี่ยวกับข้าวและสินค้าบริโภค ฯลฯ รวมไปถึง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เพราะ จนท. ต้องนั่งเรือตรวจตามลำน้ำโขงด้วย

ผมแม่นยำกับตัวบทกฎหมาย โต้เถียงและชนะจนได้ “หักหน้า” นายตำรวจยศ พ.ต.อ. ที่เป็นรองหัวหน้าหน่วย…เสียผู้เสียคนกันไปทั้งคู่

ตอนไปอยู่ในป่าศรีราชา จ.ชลบุรี แม้จะมีตำรวจหลายนาย แต่ผมก็เป็นคนเดียวที่เป็นนายตำรวจ จึงอ่านกฎหมายป่าไม้และเรื่องเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

ก่อนไปจับกุมผู้ลักลอบฆ่าสุกรเถื่อน 200 ตัว (จนเป็นตำนาน) ที่ จ.ปทุมธานี ผมก็อ่านและศึกษาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตหรืออาชญาบัตร เพราะตัดสินใจออกนอกเขตุ กทม. เพียงลำพังกับตำรวจคู่หู ทั้งนี้ โดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาก่อนตามระเบียบ เพื่อมิให้ความลับรั่วไหล

การไปจับผู้ลักลอบฆ่าสุกรโดยไม่มีอาชญาบัตรครั้งนั้น ทำให้ได้รู้ตำนานตำรวจโบราณชื่อ “ปื๊ด” อีกตำนานหนึ่ง

ปื๊ดเป็นตำรวจวัยอาวุโสของกองปราบปราม ความรู้สามัญอาจจะน้อย แต่บุคลิกท่าทางและการแต่งกายดี เสียงดังฟังชัด ปื๊ดจึงเป็น “ลูกพี่” ของตำรวจเด็กจบ ม.8 ที่หลายคนกำลังเรียนปริญญาตรีสาขาต่างๆ อยู่

เวลาไปตั้งด่านตรวจ ปื๊ดจะไม่รู้และไม่รับรู้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับอะไรต่างๆ ทั้งสิ้น แน่นอนว่าปื๊ดย่อมไม่รู้จัก “อาชญาบัตร” ด้วย พี่แกจะปราดเข้าไปที่คนขับอย่างว่องไว กระดิกนิ้วเรียกตรวจเอกสาร

“เอาใบอะไรต่อมิอะไรมาดูซิ” (ฮา)

กลายเป็นตำนานของตำรวจรถวิทยุมาจนถึงยุคผมเป็นสารวัตร

มาถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 เรามีอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย กล้องถ่ายรูปมือถือ และ CCTV ในรถยนต์ ที่สำคัญประชาชนรู้สิทธิของตน ตำรวจจะรู้แค่ “ปื๊ด” และรู้จักแต่ “ใบอะไรต่อมิอะไร” ไม่ได้ แม้ไม่ต้องบุกเดี่ยวและทำงานกันป็นชุดก็ถูกฟ้องทั้งชุด