ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
ตูน บอดี้สแลม เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมไม่กี่เรื่องที่ผมพูดทีไรก็อึดอัดใจ และถึงแม้เจ็ดปีนี้ผมจะวิจารณ์รัฐบาลทหารจนโดนคุกคาม หรือถูกสื่อสายอวยเอาไปบิดเบือนต่างๆ นานา
แต่ความอึดอัดใจในการพูดถึงคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับน้อยกว่าพูดถึงตูน ทั้งที่ตูนไม่มีอำนาจยัดคดีหรือส่งคนมาคุกคามได้เลย
ตูนเป็น “ไอดอล” ของยุคปัจจุบัน การพูดถึงตูนจึงเป็นเรื่องที่จะถูกคนเอาไปพูดต่อทั้งถูกและผิดได้ทั้งนั้น
ตัวอย่างเช่น ผมเคยพูดถึงตูนในรายการโอเวอร์วิวว่าเจอทัวร์ลงช่วงโควิด คนตั้งคำถามว่าทำไมตูนไม่ช่วยนักร้องนักดนตรีที่ตกงานเหมือนวงอื่นๆ ก็ถูกสื่อบางค่ายไปเขียนว่าศิโรตม์ด่าตูน
คนปกติฟังแล้วก็รู้ว่าผมพูดเรื่อง “ตูนทัวร์ลง” เพื่อรายงานปรากฏการณ์ “ตูนทัวร์ลง” การรายงานจึงไม่ใช่การด่า เพราะเป็นการพูดว่าคนอื่นคิดอะไรในเรื่องตูน ไม่ใช่ผมคิดอย่างไรในเรื่องนี้
แต่การพูดถึงตูนจะเจอปัญหานี้ นั่นคือจะมีคนเอาเรื่องนี้ต่อยอดเป็นประเด็นอื่นเสมอ ไม่ด่าก็เอาไปอวยรัฐบาล
ตูนกลับมาวิ่งรอบสองไม่ปังอย่างที่ผ่านมา และถึงแม้บางคนอาจโต้แย้งว่าตูนวิ่งรอบแรกสำเร็จจนรอบสองไม่มีวันยิ่งใหญ่เท่า
แต่คำอธิบายนี้ก็เป็นเพียงเชิงอรรถที่แจกแจงสาเหตุซึ่งทำให้ตูนไม่ปังอย่างวิ่งครั้งแรก หรืออีกนัยคือการยอมรับว่าตูนกลับมารอบนี้เงียบ ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม
ตรงข้ามกับการวิ่งรอบที่แล้วที่ตูนเป็นฮีโร่จนแม้คำถามว่าโรงพยาบาลเอาเงินไปทำอะไรยังโดนประณาม
รอบนี้คำถามว่า “พี่ตูนวิ่งทำไม” แพร่หลายทั่วไปหมด ตูนกลับมารอบนี้จึงโดนทัวร์ลงเละอย่างไม่มีใครคาดคิดว่าจะโดนขนาดนี้
ขณะที่ฉันทานุมัติของสังคมเรื่องตูนจะเปลี่ยนไปอีกทิศทาง
ตูนวิ่งครั้งแรกเพื่อขอบริจาคเงินช่วยซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน และถ้ามองว่าการวิ่งคือการณรงค์เพื่อให้คนเข้าใจปัญหาการขาดแคลน ตูนก็คือนักรณรงค์เรื่องซึ่งคนไทยทุกคนรับรู้ว่าเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐเก่า, เสื่อมสภาพ และมีไม่พอใช้ตรวจหรือรักษาประชาชน
คนไทยคุ้นเคยกับการบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาล รายได้ของโรงพยาบาลใหญ่ๆ จึงมาจากการบริจาคมากจนไม่น่าเชื่อ ถึงแม้คนไทยจะบริจาคให้โรงพยาบาลน้อยกว่าให้วัดอย่างเทียบไม่ได้ การบริจาคให้โรงพยาบาลก็ถือเป็นการ “ทำบุญ” นอกวัดซึ่งถือว่าแพร่หลายที่สุดด้วยซ้ำไป
ตูนวิ่งรอบแรกเพื่อให้คนบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล แม้เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ทุกคนทำได้ แต่ “สาร” และ “กิจกรรม” ในการรณรงค์ก็เป็นเรื่องที่คนไทยเข้าใจกันพอสมควร การรณรงค์จึงง่าย เช่นเดียวกับกับการชักจูงให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกับตูนด้วยการร่วมบริจาคเงิน
แน่นอนว่ามีคนตั้งคำถามกับการวิ่งรอบแรกมากมาย และหลายคำถามก็เป็นคำถามที่ถูก ถึงแม้ฟังแล้วจะหงุดหงิดใจในเวลาที่คนอยากควักเงิน “ทำบุญ”
โดยเฉพาะคำถามเรื่องทำไมเครื่องมือแพทย์ถึงไม่พอ ทั้งที่รัฐบาลประยุทธ์คุมงบฯ ประเทศปีละ 3 ล้านล้านจนมีเงินซื้อเรือดำน้ำแม้คนด่าระนาว
ในยุคที่ตูนเฟื่องฟู ไม่เพียงคำถามเหล่านี้จะไม่ได้รับการตอบจากตูน ตัวตูนยังด้อยค่าคนที่ตั้งคำถามโดยเหน็บกลับว่า “ผมเป็นนักทำมากกว่านักพูด” จนแม้การถามว่าทำไมตูนให้เงินโรงพยาบาลใหญ่บางแห่ง ทั้งที่มีเงินสร้างห้องพักหมอพร้อมห้องฉายหนังเหมือน “เลานจ์” ก็ถูกตอบโต้อย่างรุนแรง
ตูนรอบนี้ไม่ปังเพราะพูดเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา และถึงแม้คนจำนวนมากจะพูดว่าการศึกษาสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ก็จบแค่ลมปากมากกว่าจะมีใครทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ต้องพูดว่าลึกๆ คนจำนวนมากมองปัญหานี้แบบผิดๆ ว่าเกิดจากความยากจนหรือความไม่สามารถของตัวเด็กเอง
ประเทศไทยมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาช่วงอนุบาลถึงมัธยมเฉียด 7 หมื่น ซ้ำบางสำนักอ้างว่าตัวเลขนี้สูงระดับแสนรายช่วงโควิดลาม ตัวปัญหาจึงสะท้อนถึง “ระบบ” หรือ “โครงสร้าง” ที่ทำให้เกิดปัญหา รวมทั้งเรียกร้องวิธีแก้ปัญหาที่ต้องทำอะไรมากกว่าการเอาเงินไปใส่ในมือเด็กก็พอ
ตูนโดนวิจารณ์ว่าช่วยเด็กแค่ 109 คนไม่พอ เพราะเด็กที่เดือดร้อนมีมากกว่านั้นเยอะ
ทางออกจริงๆ จึงได้แก่การเรียกร้องให้รัฐบาลจัดงบฯ หรือมีนโยบายแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ
แต่ที่จริงเรื่องนี้ต้องดูต่อไปว่าตูนจะใช้ตัวเลข 109 เพื่อสื่อสารให้คนเห็นปัญหามากกว่านี้หรีอไม่ และอย่างไร
อย่างไรก็ดี ต่อให้ตูนจบการวิ่งด้วยการช่วยเด็กแค่ 109 คน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปว่าอะไรตูนได้ เพราะวิ่งเป็นงานจิตอาสา ใครพอใจแค่นั้นก็ทำแค่นั้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องไปวิ่งเท่านั้นเอง
การวิ่งของตูนจุดประเด็นถกเถียงเพราะคนจำนวนมากเห็นว่า “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” คือต้นตอของปัญหาอุปกรณ์แพทย์ขาดแคลน รวมทั้งปัญหาเด็กหลุดจากการศึกษาในระบบ และสำนึกว่า “รัฐ” เป็นปัญหาคือสำนึกใหม่ซึ่งขยายตัวอย่างกว้างขวางหลังการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่หลังปี 2563 นี้เอง
“อิกนอร์” หรือ “อิกซ์นอแรนต์” คือหนึ่งในคำที่ยุคนี้ใช้วิจารณ์คนที่เพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งปฏิเสธการแสดงออกทางการเมืองในเวลาที่ประเทศมีปัญหาเชิงระบบ ไม่ว่าจะด้วยการไม่เห็นประโยชน์ของการมีส่วนร่วม หรือกังวลตัวเองจะเกิดผลลบก็ตาม
ตอนที่ตูนวิ่งครั้งแรกในปี 2560 บรรยากาศของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลยังไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน เช่นเดียวกับสำนึกว่า “รัฐ” คือต้นตอของปัญหาต่างๆ จนควรมีการแก้ไขระดับรัฐก็ยังไม่มากเท่านี้
แต่เมื่อตูนกลับมาวิ่งหลังจากเวลาเดินหน้าไปครึ่งทศวรรษ คำถามของยุคสมัยจึงดังขึ้นโดยปริยาย
คำวิจารณ์ตูนเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นบนความคาดหวังว่า “บุคคลสาธารณะ” ควรแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง “โครงสร้าง” หรือ “ระบบ” ที่เป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ
แต่ปัญหาคือไม่ใช่ “บุคคลสาธารณะ” ทุกคนที่มีความสามารถหรือมีความพร้อมใจพูดเรื่องนี้ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม
สำหรับบุคคลสาธารณะแบบตูน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือโลกกำลังเคลื่อนสู่ทิศทางของความคาดหวังว่า “บุคคลสาธารณะ” ต้องทำหน้าที่ “ผู้มีอิทธิพลทางความคิด” ในการชี้ให้สังคมเห็นว่าอะไรเป็นอะไร
แต่สังคมเองก็ต้องทำความเข้าใจด้วยเช่นกันเรื่องแบบนี้ไม่ใช่จะทำได้กันทุกคน
สําหรับบุคคลสาธารณะที่รู้สึกว่าจะเรียกร้องอะไรจากกู สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือสถานะ “บุคคลสาธารณะ” มาจากความรักและศรัทธาของประชาชน รวมทั้งการควักเงินหรือสละเวลาสนับสนุนด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่สังคมจะคาดหวังให้บุคคลสาธารณะทำอะไรเพื่อสังคมเป็นธรรมดา
สำหรับบุคคลสาธารณะที่ไม่รู้สึกว่าอยากทำอะไร นอกจากกอบโกย การถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า “อิกนอร์” หรือ “อิกซ์นอแรนต์” คือชะตากรรมที่เลี่ยงได้ยากในยุคสมัยแบบนี้ ถัดจากนั้นก็คือการบอยคอตหรือการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับให้ได้ในยุคปัจจุบัน
เพื่อไม่ให้เรื่องตูนจบที่ดราม่าด่าตูนหรืออวยรัฐบาล ควรระบุด้วยว่าตูนพูดเรื่องเด็กหลุดจากการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาจริงในสังคมไทย การยุติปัญหานี้อย่างเร่งด่วนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเข้าสู่วงจรสีเทา หรืออย่างดีคือเป็นประชากรวัยทำงานที่ไม่สามารถหางานได้เลย
ตัวเลขของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระบุว่าสองปีที่โควิดระบาดทำให้ประเทศไทยมี “นักเรียนยากจนพิเศษ” สูงขึ้นถึง 1,244,591 คน หรือ 19.98% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ขณะที่ภาคการศึกษา 1/2563 มีนักเรียนแบบนี้ 994,428 คน เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 250,163 คน
ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าการด่าตูนเพื่อแซะรัฐบาล รวมทั้งอวยตูนเพื่ออวยรัฐบาลคือการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ และแน่นอนว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครพูดอะไรเพื่อหยุดปัญหานี้เลย
ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ปัญหารัฐบาลห่วยยังคงเป็นภัยคุกคามประชาชนอันดับหนึ่งของประเทศต่อไป ไม่ใช่การด่าตูนหรือการอวยตูน