กาเบรียล โบริก แกนนำนักศึกษาสู่ประธานาธิบดีชิลี/บทความต่างประเทศ

Chile's President-elect Gabriel Boric speaks to the press after holding a meeting with President Sebastian Pinera at La Moneda Presidential Palace in Santiago, on December 20, 2021. - The Chilean stock market and peso took a beating Monday after leftist millennial Gabriel Boric became the country's youngest-ever president-elect with an unexpectedly substantial victory over his far-right rival. (Photo by Javier TORRES / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

กาเบรียล โบริก

แกนนำนักศึกษาสู่ประธานาธิบดีชิลี

 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ชิลี หนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้ประธานาธิบดีคนใหม่มีชื่อว่า “กาเบรียล โบริก”

โบริกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวัยเพียง 35 ปี เพิ่งพ้นอายุขั้นต่ำที่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศได้

นั่นทำให้โบริกผู้มีแนวคิดเอียงซ้าย สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศในทันที

กลายเป็นความหวังให้กับชาวชิลีที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในประเทศตามที่โบริกได้ประกาศหาเสียงเอาไว้

ชัยชนะของกาเบรียล โบริก ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของประชาชนที่มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวประท้วง “การขึ้นค่าโดยสาร” รถไฟฟ้าใต้ดินเมื่อปี 2019

การประท้วงขยายวงกว้างไปสู่การเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนลงสู่ถนน พร้อมเสียงตะโกน “ชิลีตื่นแล้ว” ทว่า รัฐบาลกลับตอบสนองด้วยความรุนแรงใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตมากถึง 36 ราย

การชุมนุมเรียกร้องต่อเนื่องหลายปีจนรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี “เซบาสเตียน ปิเนร่า” ก็ไม่อาจทนเสียงเรียกร้องของประชาชน ในที่สุดจัดให้มีการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีมาตั้งแต่ยุคเผด็จการ ภายใต้การนำของนายพล “ออกุสโต ปิโนเชต์” ในที่สุด

ซึ่งผลปรากฏว่าประชาชนจำนวนมากถึง 79 เปอร์เซ็นต์ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

 

ชิลีมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรอบแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถหาผู้ชนะเด็ดขาดได้ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา การเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กันของแนวคิด “ซ้ายจัด และ ขวาจัด” อย่างชัดเจน

โบริกผู้มีประสบการณ์เป็น ส.ส.มา 7 ปี เป็นตัวแทนของกลุ่ม “แอพพรูฟดิกนิตี้” กลุ่มพันธมิตรที่มี “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งชิลี” รวมอยู่ด้วย โดยโบริกสามารถเอาชนะ “โฮเซ่ อันโตนิโอ แคสต์” นักการเมืองแนวคิด “อนุรักษนิยมขวาจัด” ไปได้ด้วยสัดส่วนคะแนน 56-44 เปอร์เซ็นต์ กวาดคะแนนเสียงมากกว่าแคสต์ถึงเกือบล้านคะแนน

โบริกประกาศหาเสียงด้วยเป้าหมาย “ล้มเลิก” โมเดลเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมใหม่” ที่มีมาตั้งแต่ยุคนายพลปิโนเชต์ ที่ถูกมองว่าไม่สนใจ “คนจน” และ “ชนชั้นแรงงาน”

นักการเมืองหนุ่มประกาศที่จะสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ในประเทศซึ่งประชากรเพียง 1 เปอร์เซ็นต์มีความร่ำรวยถือครองทรัพยากรถึง 1 ใน 4 ของทั้งประเทศเอาไว้

โบริกประกาศจะลดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ สร้างงานให้กับผู้หญิง ปฏิรูประบบเบี้ยคนชราและระบบสาธารณสุขให้เข้าถึงคนยากจนมากขึ้น

 

โบริกมีประสบการณ์ทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษาประท้วงเรียกร้อง “นโยบายเรียนฟรี” ในปี 2011 และเป็นผู้ประกาศตัวสนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2019

แน่นอนว่า โบริกถูกมองว่ามีประสบการณ์น้อย ถูกตั้งคำถามจากความสัมพันธ์ที่มีกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งชิลี” สร้างความกังขาให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอันจะกิน และมองว่าการสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการประท้วง ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยตรง

ขณะที่คู่แข่งอย่างแคสต์สู้ด้วยนโยบายที่ตรงกันข้ามกัน สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่แบบเดิม ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ต่อต้านการทำแท้ง มีนโยบายลดภาษี ลดการใช้จ่ายงบประมาณกับนโยบายสวัสดิการสังคม และชื่นชมนายพลปิโนเชต์ ว่าเป็นผู้นำพาชิลีรอดพ้นจากชะตากรรมแบบ “เวเนซุเอลา”

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์กว่า 55 เปอร์เซ็นต์ เลือกลงคะแนนให้โบริกมากกว่าแคสต์ถึงเกือบ 1 ล้านคะแนน โดยโบริกเตรียมที่จะสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนมีนาคมปี 2022 นี้

 

โบริกชายหนุ่มที่ยังไม่แต่งงาน ยังไม่มีลูก และเป็นนักอ่านตัวยง ต้องเผชิญกับความท้าทายในฐานะผู้นำชิลีอีกมาก

สภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงของสองฝ่ายการเมืองที่เกือบจะแบ่งกันแบบครึ่งต่อครึ่ง การผ่านนโยบายทางสังคมที่หาเสียงเอาไว้จะทำได้อย่างยากลำบาก และนั่นอาจสร้างความผิดหวังให้กับผู้สนับสนุนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อีกความท้าทายคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องมีการลงคะแนนเสียงกันในปี 2022 นี้ เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่น่าจะสวยงามนัก ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ตัวตนของประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ถูกเล่าผ่านพ่ออย่าง “หลุยส์ โบริก” ชาวชิลีเชื้อสายโครแอต วัย 75 ปี ที่ระบุถึงลูกชายว่า โบริกสนใจการเมืองตั้งแต่เด็กด้วยการเขียนประโยคอย่าง “จงมองความเป็นจริง, จงทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” บนผนังห้องนอนตั้งแต่เด็ก และว่า โบริกเป็นคนคงเส้นคงวา และเป็นคนที่รู้จักวิธีที่จะ “ฟัง” ผู้อื่น

“เขาต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้กับสังคม เขาต้องการขจัดความไม่ยุติธรรมที่เราต้องเผชิญในวันนี้ และเชื่ออย่างนั้นอย่างลึกจริงใจ นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาแข็งแกร่งพอที่จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีได้อย่างต้องไม่สงสัย” หลุยส์ โบริก ระบุ