ปริศนาโบราณคดี : 230 ปี รัตนกวี “สุนทรภู่” (1) โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สุนทรภู่เกิดหลังการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 4 ปี ถือกำเนิดท่ามกลางวิกฤตสงครามเก้าทัพ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

วันเกิดสุนทรภู่ตรงกับวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จ.ศ.1148 เวลาเช้า 2 โมง (08.00 นาฬิกา) นับตามปฏิทินปัจจุบันคือวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329

ดังนั้น พ.ศ.2559 จึงเป็นปีที่ครบรอบวันชาตกาลของสุนทรภู่ 230 ปี

แม้เราจะสามารถค้นหาอัตชีวประวัติของสุนทรภู่อ่านกันได้อย่างกว้างขวางตามสื่อต่างๆ แต่ดูเหมือนบางห้วงบางตอนของชีวิตก็ยังมีความคลุมเครือ ซ้ำระยะหลังๆ มานี้ ผลงานวรรณกรรมอย่างต่ำ 5 เรื่อง ก็เริ่มมีการตีความใหม่ว่าไม่ใช่ผลงานของท่านเสียแล้ว

คอลัมน์นี้จึงอยากขอร่วมรำลึกถึงเรื่องราวบางซอกหลืบของมหากวี ในแง่มุมที่ไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงมากนัก


ปริศนาวงศาคณาญาติ เมืองแกลง VS เมืองเพชร

ประเด็นเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อสาย ปิตุภูมิ มาตุคาม สถานะทางสังคม ไพร่หรือกระฎุมพี ของสุนทรภู่ คงไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์อะไรกันอีกแล้ว เนื่องจากเคยตกเป็นวิวาทะเผ็ดร้อนถกเถียงกันมานักต่อนัก นานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาจนตกผลึกระดับหนึ่ง

ขอสรุปให้เห็นที่มาที่ไปดังนี้

แรกเริ่มเดิมทีนั้น จากพระนิพนธ์ “ประวัติสุนทรภู่” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า “สกุลวงศ์ของสุนทรภู่ บิดามารดาชื่อใดไม่ปรากฏ”

ต่อมาหนังสือ “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เล่มที่ 5 ตอนที่ 14 ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) เริ่มเปิดเผยว่า บิดาของสุนทรภู่มีบรรดาศักดิ์เป็นทหารปืนใหญ่ตำแหน่ง “ขุนศรีสังหาร” ชื่อเดิมว่า “พลับ” ถือศักดินา 300 ไร่

โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ยืนยันว่าได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ “นายพัด” บุตรของสุนทรภู่

อย่างไรก็ดี ขุนศรีสังหาร ต่อมาได้อัปเปหิตนเอง (หรืออาจใช้คำว่า “หย่า”?) จากมารดาของสุนทรภู่ ตั้งแต่กวีเอกเพิ่งแรกเกิดเป็นทารกอายุได้เพียงไม่กี่เดือน ไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เมื่อบวชได้ 20 พรรษา มีสมณศักดิ์ว่า “พระครูอรัญธรรมรังษี” (หรือ “พระธรรมรังษี”)

การเดินทางตามหาพ่อของสุนทรภู่ปรากฏอยู่ใน “นิราศเมืองแกลง” นิราศเรื่องแรกในวัย 21 สมัยเป็นหนุ่มน้อย เมื่อพิจารณาจากวัย ดูเหมือนสุนทรภู่เองก็คงมีความตั้งใจจะไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ป่วยไข้แทบเอาชีวิตไม่รอดจึงยังไม่ทันได้บวชในวัยหนุ่ม

“อยู่บ้านกร่ำทำบุญกับปิตุเรศ       ถึงเดือนเศษโศกซูบจนรูปผอม
ทุกคืนค่ำกำสรดสู้อดออม           ประณตน้อมพุทธคุณกรุณา
ทั้งถือศีลกินเพลเหมือนเช่นบวช   เย็นเย็นสวดศักราชศาสนา
พยายามตามกิจด้วยบิดา           เป็นฐานานุประเทศอธิบดี
จอมกษัตริย์มัสการขนานนาม     เจ้าอารามอารัญธรรมรังษี
เจริญพรยศยิ่งมิ่งโมลี               กำหนดยี่สิบวสาสถาวร”

เมืองแกลงจะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนายพลับ หรือพระธรรมรังษี บิดาสุนทรภู่หรือไม่ ยังเป็นปริศนาอยู่ ต้องวิเคราะห์ประกอบกับเรื่องราวของฝ่ายมารดา

หากไม่ใช่ ทำไมท่านจึงเลือกบวชที่นี่ และมีหลักฐานใดมายืนยันว่าท่านไม่ใช่คนเมืองแกลง?

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์วรรณคดีบางท่านกลับเชื่อว่า บิดาของสุนทรภู่อาจมีเชื้อสายชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่แถบระยองด้วยซ้ำไป โดยอ้างนิราศเมืองแกลงบทที่กล่าวว่า

“…ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง    ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น…”

ประวัติข้างฝ่ายมารดาของสุนทรภู่นั้น เดิมก็ยังไม่มีใครทราบชื่อเสียงเรียงนาม กระทั่ง “ฉันท์ ขำวิไล” เป็นผู้เปิดประเด็นว่า มารดาคงสืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพคราวกรุงศรีอยุธยาแตก

ในขณะที่ “ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ” เสนอว่ามารดาสุนทรภู่เป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย

ทว่า ทันทีที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร (แต่พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนปักษ์ใต้) ได้ค้นพบข้อมูลใหม่เมื่อปี 2529 (ช่วงที่สุนทรภู่ครบวาระชาตกาล 200 ปีพอดี) ว่าบรรพบุรุษของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรอย่างไม่มีเงื่อนไข แถมยังอยู่ในตระกูลของพราหมณ์อีกด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อแวดวงนักวิชาการด้านวรรณคดีไทย ทำให้ต้องหันมาทบทวนองค์ความรู้เดิมกันใหม่หมด

อาจารย์ล้อมไปเอาข้อมูลมาจากไหน ทำไมสมเด็จในกรมฯ จึงไม่เคยมีวินิจฉัยเรื่องนี้มาก่อน

เรื่องของเรื่องก็คือเนื้อหาหลายตอนของ “นิราศเมืองเพชร” ซึ่งเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายที่สุนทรภู่แต่งในช่วงบั้นปลายชีวิต ได้พลัดพรายหายสูญไปหลายบทขณะที่กรมศิลปากรนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกๆ ตั้งแต่ยุคอธิบดี นายธนิต อยู่โพธิ์ จนกระทั่งอาจารย์ล้วนได้สอบชำระนิราศเมืองเพชรจากสำนวนต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติอย่างละเอียด จึงพบว่าเป็นนิราศที่มีความยาวมากที่สุดคือยาวถึง 498 คำกลอน

โดยบทที่ระบุว่าสุนทรภู่มีเชื้อสายคนเมืองเพชร ได้แก่

“มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ        ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย
ไปวอนท่านยายคำให้นำไป              บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา
เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช      ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา
เทวสถานศาลสถิตอิศวรา                เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ
ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่               แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ
เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย
ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ        เป็นเชื้อชาติเพชรบุรียังมีหลาย
แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย                 ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ
แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม                จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน
จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน      ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน
จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ            ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ
ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์              สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ

บาทสำคัญคือ “ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา” กับ “ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติเพชรบุรียังมีหลาย” สะท้อนให้เห็นว่าสุนทรภู่มี “โคตรญาติ” ทั้งสาแหรกข้างแม่คือ “ยาย” กับสาแหรกข้างพ่อคือ “ย่า” ล้วนสืบจาก “พราหมณ์รามราช” ที่เป็นชาวเพชรบุรีทั้งสองฝ่าย

การที่ชาวกรุงเก่าหนีสงครามพม่าคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้วมาตั้งรกรากที่เมืองเพชรนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก พบหลักฐานสอบรับกันกับด้านศิลปกรรมหลายแห่ง อาทิ ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเกาะแก้วสุทธาราม และวัดเขาบันไดอิฐ ล้วนเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของกลุ่มช่างจากกรุงเก่าที่หนีมารวมตัวและรังสรรค์ผลงานใหม่ภายใต้นามศิลปินสกุลช่างเมืองเพชร

 

กุฏิสุนทรภู่บ้านสุนทรภู่อยู่ที่ไหนบ้าง

“กุฏิสุนทรภู่” ในวัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร น่าจะเป็น “บ้านมหากวี” เพียงหลังเดียวที่ยังเหลืออยู่ไว้เป็นอนุสรณ์ คำถามที่ตามมาคือ สุนทรภู่เคยมีบ้านทั้งหมดกี่หลัง หรือเคยพำนักอยู่ที่ไหนบ้าง

เท่าที่พอสืบทราบ บ้านหลังแรกในช่วงชีวิตวัยเยาว์ ก็คือบ้านที่ท่านถือกำเนิดอยู่ที่วังหลัง มารดาของสุนทรภู่มีศักดิ์เป็นพระญาติกับเจ้าครอกทองอยู่ (เจ้าครอกเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงเทียบเท่ากับพระองค์เจ้า) จนได้เป็นพระนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล ผู้เป็นพระราชธิดาของกรมพระราชวังหลัง

ขณะนั้น กรมพระราชวังหลังคือ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ (ต้นตระกูล ปาลกะวงศ์) พระนามเดิมว่า “ทองอิน” เป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ตั้งวังหลังอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ปัจจุบันกลายเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยและโรงพยาบาลศิริราช

บ้านหลังถัดมา ช่วงที่สุนทรภู่รับราชการเป็นที่โปรดปรานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นั้น ล้นเกล้าฯ ทรงพระราชทานบ้านหลังหนึ่งให้กวีคู่พระราชหฤทัย แถวท่าช้างวังหลัง ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่จุดไหน แต่รื้อไปแล้วแน่นอนในช่วงที่มีการสร้างตึกแถวแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5-6

ช่วงที่เปลี่ยนแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่ได้ออกบวชจำพรรษาอยู่ที่ “วิหารวัดเลียบ” หรือวัดราชบูรณะอยู่ช่วงระยะหนึ่งค่อนข้างยาวนาน ภายใต้การอุปถัมภ์ของเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มเหสีในรัชกาลที่ 2

จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเทพธิดาราม โดยผู้สร้างวัดนี้คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 พระราชธิดาพระองค์นี้ทรงโปรดปรานเรื่องพระอภัยมณีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นิมนต์พระภิกษุสุนทรภู่ให้มาจำพรรษา ณ วัดเทพธิดาราม พร้อมให้การอุปถัมภ์บำรุง แต่ท่านจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เพียงชั่วระยะสั้นๆ แค่ 3 ปีเท่านั้นคือระหว่าง พ.ศ.2382-2385

ส่วนบ้านหลังสุดท้ายของสุนทรภู่ สมัยที่กลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 อีกครั้งนั้น ท่านอาศัยอยู่กับพระยามณเฑียรบาล แถบฝั่งธนบุรี

ทั้งหมดที่กล่าวมา มีเพียง “กุฏิ” ที่วัดเทพธิดารามเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในสภาพเดิม ทั้งต้นไม้ใบหญ้าที่สุนทรภู่เคยปลูกไว้

“เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย       เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส…”

อันเป็นภาพสะท้อนว่า บางครั้งที่พระสุนทรภู่ในวัย 56-57 ปี เกิดขัดสนยากจนไม่มีเงินซื้อชาจีน ต้องอาศัยเด็ดใบชาที่ปลูกไว้ข้างบันไดกุฏิมาชงพอประทังความกระหายได้บ้าง

การค้นพบกุฏิของสุนทรภู่ในวัดเทพธิดาราม “ภิญโญ ศรีจำลอง” ปฏิภาณกวีชาวนครศรีธรรมราชผู้ล่วงลับ ได้เล่าว่าราว 50-60 ปีก่อนหน้านั้น ได้มีชายชาวฝรั่งเศส 2 คน มาถามหากุฏิของสุนทรภู่กับอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2500 นั้น ยังไม่เคยมีแนวความคิดที่จะอนุรักษ์บ้านกวีหรือการนำป้ายมาติดเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แต่อย่างใด

เมื่อเจ้าอาวาสตอบไปว่า “ไม่ทราบเหมือนกันว่าหลังไหน” นักวรรณคดีชาวฝรั่งเศสที่พูดภาษาไทยได้ จึงพรรณนาสภาพของกุฏิหลังนั้นให้ฟัง โดยอิงจากบทกลอนที่สุนทรภู่แต่งไว้ในเรื่อง “รำพันพิลาป” ว่า

“เคยอยู่กินถิ่นที่กะฎีก่อ             เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา      ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน
เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฏิ์   มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน”

หรือ

“ชมพู่แลแต่ละต้นทรงผลลูก       ดูดังผูกพวงระย้านึกน่าฉัน”

เหตุการณ์ครั้งนั้น คือการจุดประกายนำไปสู่การค้นหาว่ากุฏิสุนทรภู่คือหลังใด เมื่อมั่นใจว่าคือหลังที่ปัจจุบันมีการติดป้าย กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดำเนินการบูรณะปรับปรุง

และทุกๆ ปีในวันสุนทรภู่ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย จะต้องใช้วัดเทพธิดารามเป็นสถานที่ทำบุญอุทิศให้แด่สุนทรภู่พร้อมจัดประกวดกลอนสด

สัปดาห์หน้าจะชวนวิเคราะห์ต่อถึงประเด็นตำแหน่งราชการของสุนทรภู่ว่าตกลงแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านเป็น “ขุน” หรือ “หลวง” กันแน่

รวมทั้งบทบาทของสองตัวละครหลัก “พลายงาม” กับ “สุดสาคร” ใช่ภาพสะท้อนของเด็กน้อยขาดพ่อที่เฝ้าเพียรตามหาความรักจากบิดาเหมือนดั่งชีวิตจริงของสุนทรภู่หรือไม่