คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 2)

 

คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน

ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 2)

 

ท่านทูตแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เล่าถึงการมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย ว่า

“ผมมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และกักตัวอีกสองอาทิตย์ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเคยมาเที่ยวสองสามครั้งแล้ว ได้ไปหัวหิน หาดใหญ่ เกาะสมุย แต่ก็ชอบกรุงเทพฯ มาก และมีแผนจะไปเยือนอีสานเพื่อพบปะชุมชนชาวดัตช์ เช่น โรงเรียนและตัวแทนบริษัทดัตช์ในอีกไม่กี่วันนี้”

“ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากการศึกษา จึงสนใจทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน สถาปัตยกรรม ชีวิตทางสังคม เป็นความสนใจที่หลากหลายมาก และชอบทำงานที่สามารถสร้างให้เกิดความแตกต่าง สามารถช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้รับความช่วยเหลือ”

“การทำงานในกระทรวงต่างประเทศ หมายความว่า เราก็พร้อมที่จะไปประจำที่ใดก็ได้ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ผมตั้งใจสมัครมา ล่าสุดก่อนหน้านี้ผมอยู่ที่ประเทศจีน 3 ปี พูดภาษาจีนได้นิดหน่อย แม้พยายามจะเรียนภาษาจีน แต่เมื่อกลายเป็นคุณพ่อที่มีลูกเล็กๆ เวลาที่เป็นส่วนตัวก็ลดน้อยลง”

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

 

ท่านทูตดัตช์มีบุตร-ธิดา 3 คน คนโตอายุ 4 ขวบ และฝาแฝดอายุสองขวบครี่ง โดยมีคู่สมรสคือ คาร์เตอร์ เอกซ์ ดวง (Carter X. Duong) ซึ่งขอลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลลูกน้อยทั้งสามได้อย่างเต็มที่

“ตอนเด็กๆ ผมโตในมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา เพราะคุณพ่อทำงานที่สถานีวิทยุดัตช์ ดังนั้น เราจึงฟังข่าวต่างประเทศกันทุกวันในช่วงพักกลางวันตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เกิดความสนใจ จึงเริ่มอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง การพัฒนาระหว่างประเทศ จนการอ่านกลายเป็นงานอดิเรก หลายเรื่องที่ได้อ่านยังคงตราตรึงอยู่ในใจ เมื่อโตขึ้นมีโอกาสได้พบกับนักการทูตเพราะผมเป็นเพื่อนกับลูกของนักการทูต นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผมถึงสนใจเรื่องการพัฒนาระหว่างประเทศ และได้รู้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำงานในด้านนี้ ผมจึงมีความมั่นใจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ว่า โตขึ้นจะต้องเป็นนักการทูต”

“นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายที่จะเป็นนักการทูต เพราะก่อนเข้าจะต้องมีการแข่งขัน นับว่าผมโชคดีที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานกระทรวงต่างประเทศ ถือว่าเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่ผมสามารถเป็นนักการทูตของประเทศได้”

1 ในรูปปั้นวัวบริเวณสนามหน้าทำเนียบ

 

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เริ่มต้นการทำงานที่กระทรวงต่างประเทศในปี 1993

“ผมเป็นนักการทูตที่ได้ไปประจำต่างประเทศครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อยคือที่ไนจีเรีย น่าสนใจมากสำหรับผมซึ่งชื่นชอบดนตรีและวัฒนธรรมของที่นั่น ถือเป็นพลังที่โดดเด่นของแอฟริกาตะวันตก”

“ที่คอซอวอ เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากเพราะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ผมคิดว่าที่นี่ได้สอนให้ผมรู้ถึงขั้นตอนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management) รวมทั้งได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้น ซึ่งก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน”

“หลังจากนั้นไปประจำอินโดนีเซีย ซึ่งตรงกับยุคประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี (Megawati Sukarnoputri) และต่อมาเป็นยุคประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ดังนั้น ผมจึงทำงานภายใต้รัฐบาลอินโดนีเซียสองชุดที่แตกต่างกัน”

ชาวดัตช์ที่เรารู้จักกันในนามของประเทศเนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน หรือที่มักเรียกกันว่า ฮอลแลนด์ หรือฮอลันดา หรือวิลันดาในอดีต ได้เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียเป็นเวลานานกว่า 300 ปี แต่ด้วยความที่หมู่เกาะอินโดนีเซียนั้น มีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมาย ชาวดัตช์จึงไม่สามารถใช้อิทธิพลของตนเข้าครอบครองได้ในทุกเกาะ

“มรดกทางวัฒนธรรมของดัตช์ในอินโดนีเซียยังคงมีร่องรอยปรากฏให้เห็นทางด้านสถาปัตยกรรม เช่น อาคารเก่าแก่แบบดัตช์ ส่วนภาษาดัตช์ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นภาษาทางราชการในอินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีคนพูดภาษาดัตช์ค่อนข้างมาก ในเนเธอร์แลนด์มีคนประมาณ 5% ที่มีเชื้อสายชาวอินโดนีเซีย ดังนั้น ระหว่างสองประเทศนี้จึงยังคงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นตราบทุกวันนี้”

“ผมทำงานกับองค์การสหประชาชาติที่เมืองเจนีวา และองค์การสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เป็นสองเมืองที่แตกต่างกัน ในฐานะประเทศเล็กๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราพึ่งพาการเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนาระหว่างประเทศ ดังนั้น เรื่องที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ เนเธอร์แลนด์จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก”

“ทำงานที่เจนีวา 1 ปี และนิวยอร์กอีก 3 ปีครึ่ง โดยรวม ผมทำงานในองค์การสหประชาชาติเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง และเนื่องจากองค์การสหประชาชาติมีสภาพแวดล้อมแบบสังคมพหุวัฒนธรรม (multicultural society) และสภาพแวดล้อมแบบข้ามชาติ (multinational environment) ที่มีความท้าทายตรงกับความชอบของผม ทำให้ผมมีความสุขมากเมื่อได้ไปทำงานที่องค์การสหประชาชาติ”

 

ปล่องบันไดที่ซ่อมแซมใหม่ เครดิตภาพ -BiermanHenket

 

ห้องอาหารที่ได้รับการตกแต่ง เครดิต ภาพ – BiermanHenket

 

 

เวลานี้ คงไม่มีประเด็นใดที่คนสนใจได้มากเท่ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่เป็นภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)

“เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก เนเธอร์แลนด์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม เรามีความยากลำบากทางเศรษฐกิจในปีที่แล้ว แต่ปีนี้ก็เริ่มที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง โดยสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเราอยู่ที่ 84%”

ในขณะที่เขียนบทความนี้ เมืองสำคัญทั่วยุโรปรวมทั้งเนเธอร์แลนด์เกิดการประท้วงเดือดเพื่อต่อต้านการประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ รวมถึงข้อบังคับฉีดวัคซีนของรัฐบาล ซึ่งผู้ประท้วงได้อ้างถึงสิทธิในการเลือกฉีดวัคซีน เพราะในช่วงเวลานี้ รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปกำลังดิ้นรนรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็นสถิติ ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดอีกครั้ง และยังต้องเฝ้าระวังไวรัสสายพันธุ์ใหม่คือ โอไมครอน (Omicron)

การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อโควิด-19 สะท้อนความเปราะบางของสังคมมนุษย์ วิกฤตด้านสาธารณสุขเผยให้เห็นรอยร้าวที่แบ่งแยกสังคมของเรา ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมในสังคม ความรุนแรงทางเพศสภาพ ปัญหาที่อยู่อาศัย ระบบสุขภาพที่ล้มเหลวซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในวิกฤตครั้งนี้เราได้เห็นสิ่งที่โตมาส์ ปิเกตตี (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “ความรุนแรงแห่งความไม่เท่าเทียม” โดยคนชั้นล่างสุดซึ่งไร้มาตรการช่วยเหลือทางสังคม ก็ยังเป็นพวกที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดตามเคยในยามที่โรคร้ายระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย-

 

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตดัตช์ มีความเห็นว่า

“วิกฤตโคโรนาได้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้นทั่วโลก ทำให้คนที่เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งเปราะบางมากขึ้น ทั้งยังสร้างให้เกิดมีคนอ่อนแอใหม่เพิ่มขึ้นอีก จึงมีการเรียกร้องอย่างแข็งขันให้มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่เราก็ต้องระวังไม่ให้การมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นทำให้เราไม่ใส่ใจการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวไปพร้อมกัน”

“อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้ได้นำมาซึ่งความสำนึกถึงการมีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการดำรงชีวิต เป็นการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญด้านธรรมาภิบาลและการตัดสินใจอย่างครอบคลุมในยามวิกฤต”