สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (8) ครูติมอร์ เลสเต มีความสุขที่ได้เป็นครู

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Show and Share ของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ลำดับที่ 3 เป็นคิวของประเทศติมอร์ เลสเต

ครูฮูลิโอ ไซเมนเนส มาเดียร่า (Mr.Julio Ximenes Maidera) ปัจจุบันอายุ 49 ปี ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนประถม Hatolia-Ermera สมรสแล้ว มีบุตร-ธิดา 7 คน ครอบครัวมีอาชีพเป็นเกษตรกร

“รู้ตัวว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ยังเล็ก และมีความสุขที่ได้เป็นครู” ครูเริ่มเรื่องเล่าเส้นทางชีวิตและการทำงานในบทบาทคนแจวเรือส่งผู้โดยสารให้ถึงฝั่ง

ในช่วงเวลาที่เรียนอยู่ประเทศติมอร์ เลสเต ยังไม่ได้แยกตัวออกจากประเทศอินโดนีเซีย และเมื่อเรียนจบได้เริ่มต้นทำงานเป็นครูที่โรงเรียน Leimeakraik Primary School บ้านพักครูอยู่ห่างจากโรงเรียน 12 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเท้าเท่านั้น

เส้นทางจากบ้านไปโรงเรียนทุรกันดารและใช้เวลานานมากจึงต้องพักค้างที่โรงเรียนในช่วงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่มีการเรียนการสอนปกติ และกลับบ้านวันอาทิตย์เพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น

 

โรงเรียนที่ครูฮูลิโอสอนในปัจจุบันคือโรงเรียนประถม Hatolia-Ermera มีนักเรียนจำนวน 365 คน และมีครูจำนวน 14 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โดยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เรียนในช่วงเช้า และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เรียนในช่วงบ่าย

นักเรียนช่วงเช้าเมื่อเรียนเสร็จจะได้กลับบ้านเลย โดยโรงเรียนไม่ได้จัดอาหารกลางวันให้

“ไม่รู้สึกเหนื่อยเลยตลอดการทำงาน เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในความรับผิดชอบ อีกทั้งเป็นช่วงที่ขาดแคลนครู ถ้าไม่มีครูก็คงไม่มีความเจริญในพื้นที่นั้น”

ด้วยความรักอาชีพครูจึงเป็นครูได้ยาวนาน แม้ว่าต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนจะมีข้อจำกัดมากมายที่ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน เช่น อาคารเรียนมีเพียง 3 ห้อง โรงเรียนตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร รวมไปถึงโรงอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย

แต่ครู Julio หาวิธีการแก้ไขปัญหาโดยทำงานร่วมกับผู้ปกครองในชุมชน ผลักดันให้มีสถานที่และห้องเรียนให้เพียงพอสำหรับ 6 ชั้น

เริ่มจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างอาคาร เช่น หญ้า ไม้ เป็นต้น

 

หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พ.ศ.2558 แล้ว นายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมชมโรงเรียนของครู Julio และกระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจว่าทำอะไรถึงได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้ และอะไรเป็นแรงจูงใจ ได้เสนอความช่วยเหลือในสิ่งที่โรงเรียนขาดแคลน รัฐบาลสนับสนุนโต๊ะและเก้าอี้ใหม่

นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครอง หน่วยงานราชการ และเอกชนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดสนในหลายเรื่อง เช่น จัดสร้างอาคาร ปรับปรุงห้องครัวของโรงเรียนให้ถูกหลักอนามัย

ครู Julio ได้นำเงินที่ได้รับจากรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ใช้เป็นต้นทุนในการเปลี่ยนสภาวการณ์ให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก สมทบเพื่อปรับปรุงและสร้างอาคารจนเสร็จ บางส่วนไปซื้อเครื่องแบบให้กับนักเรียน และครูทุกคนในโรงเรียน

พยายามสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยการจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อเน้นให้นักเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ละกลุ่มมีการตั้งชื่อกลุ่มจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนเอง และมีป้ายชื่อของนักเรียนประจำโต๊ะของแต่ละคน จัดกิจกรรมให้เด็กใช้กระดานทราย เพื่อให้เด็กได้ลองคิดลองเขียน

รวมไปถึงฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น กินอาหารเสร็จแล้วต้องล้างจานเอง

 

ครูแสดงให้เห็นว่าความขัดสนไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้และปลูกฝังหล่อหลอมความเป็นพลเมือง ด้วยการจัดกิจกรรมและประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีมาเป็นสื่อในการเรียนรู้

เช่น การร้องเพลงประจำชาติร่วมกัน การนำเสนอแผนที่ประเทศติมอร์ เลสเต โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตัดแปะกระดาษระบายสี พร้อมระบุรายละเอียด เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่าแต่ละจังหวัดอยู่ส่วนไหนของประเทศ ภูมิประเทศของตนเป็นอย่างไร

นำแผนที่ที่นักเรียนทำเสร็จแล้วไปแปะไว้ที่กระดานดำหน้าห้องเรียน เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเอง

การปลูกกล้วย นอกจากเพื่อการเรียนรู้แล้วยังใช้เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน เพื่อบริโภคในโรงเรียน บางครั้งทำเป็นกล้วยตากแห้ง นักเรียนช่วยกันดูแลแปลงเกษตรโดยใช้ช่วงเวลาวันเสาร์ 1-2 ชั่วโมง และทำปุ๋ยหมักจากวัสดุธรรมชาติเป็นการเน้นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำคณะเดินทางไปพบครูผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด รวมถึงครูฮูลิโอ เมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2559 เล่าไว้ในบันทึก “ครูไทยพบครูอาเซียน”

ผมเลยขอนำมาถ่ายทอดต่อเพื่อให้คุณครูและผู้สนใจได้ฟื้นความจำ รู้จักติมอร์ เลสเตและครูดียิ่งขึ้น

 

หลังประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซียหมดอำนาจปี 2541 มีข้อตกลงระหว่างอินโดนีเซียและโปรตุเกสเพื่อกำหนดอนาคตติมอร์ตะวันออก มีการดูแลติมอร์ตะวันออกภายใต้สหประชาชาติ มีทหารไทยเข้าร่วมในกองกำลังสันติภาพสหประชาชาติด้วย จนมีการลงประชามติตั้งประเทศติมอร์ เลสเตในปี 2547 กองกำลังสหประชาชาติยุติบทบาทในปี 2555 ติมอร์ เลสเต สมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 2554 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วม

ส่วนที่ได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนในประเทศติมอร์ เลสเต ดร.กฤษณพงศ์ บรรยายว่า โรงเรียนการศึกษาพื้นฐานของติมอร์ เลสเตบริหารเป็นกลุ่ม/คลัสเตอร์ (Cluster) กลุ่มหนึ่งมี 4-5 โรงเรียน แต่ละคลัสเตอร์มีครูใหญ่เพียงหนึ่งคน มีเจ้าหน้าที่ธุรการหนึ่งคน มีครูประสานงานแต่ละเรื่องหนึ่งคนสำหรับสามระดับ (ช่วงชั้นหรือระดับหนึ่ง ป.1-3 ระดับสอง ป.4-6 ระดับสาม ม.1-3)

นอกจากนั้น มีครูผู้สอนรายวิชา/ประจำชั้นของแต่ละโรงเรียน การใช้ครูใหญ่คนเดียว ครูประสานงานดูแลภาพรวมแต่ละกลุ่มวิชา เจ้าหน้าที่ธุรการคนเดียวภายในคลัสเตอร์ น่าจะเป็นการใช้บุคลากรร่วมกันที่ดี ครูฮูลิโอรับผิดชอบการสอนของระดับหนึ่งในคลัสเตอร์นั้น

“ประเทศติมอร์ เลสเต กำลังต้องการขยายการเข้าถึงทางการศึกษา แต่ด้วยปัจจัยและบุคลากรครูที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนเป็นสองช่วงคือช่วงเช้าและช่วงบ่าย ประเทศไทยเคยเผชิญและแก้ปัญหาเช่นเดียวกันเมื่อสามสิบปีที่แล้ว รวมไปถึงเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาหารกลางวันรับประทาน ต้องปล่อยนักเรียนกลับบ้าน และให้หาอาหารกินเอง แต่ประเทศไทยโชคดีกว่ามากที่มีโครงการอาหารกลางวัน และเป็นเรื่องถูกต้องที่ การเรียนต้องเดินด้วยท้องก่อน ในสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ต้องจัดให้เด็กมีกินก่อน”

ได้ไปโรงเรียนที่ครูฮูลิโอทำงาน ดูชั้นเรียนห้าหกห้อง ห้องแรกครูใช้ก้อนหินสอนการนับเลข เอาหิน 5 ก้อนมากองแล้วสอนให้นับเลขทีละห้า ท่องสูตรคูณแม่ห้า

ห้องต่อไปใช้ถาดทรายในการสอนให้เด็กสะกดคำ เด็กเขียนลงในถาดทรายและลบออกได้

ห้องที่สามครูฮูลิโอใช้โทรทัศน์ทำเองเล่านิทาน เขียนรูปจากนิทานลงกระดาษหลายสิบแผ่นแล้วเอามาต่อกันและพับบนแกน ใช้มือหมุนแกนอีกแกนหนึ่งดึงรูปออกไป เข้าใจทำดี” ครูกฤษณพงศ์เล่า

การนำเสนอของครู Julio แสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนสามารถทำได้ถึงแม้จะมีปัจจัยจำกัด ทั้งในทางภูมิศาสตร์ การเมือง บุคลากรครู รวมไปถึงเงินทุน แต่สามารถพัฒนาการศึกษาได้ด้วยความทุ่มเทของครูที่มีใจรัก และเชื่อมั่นว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จะสร้างชาติให้มั่นคงด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและภาคภูมิใจในชาติของตนเอง