หลังเลนส์ในดงลึก/”สายน้ำที่เงียบงัน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“สายน้ำที่เงียบงัน”

กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560

เบื้องหน้าที่ผมกำลังยืนมอง คือ ลำน้ำสายหนึ่ง

มีลักษณะโค้งไปมา มีที่ราบๆ ริมฝั่งไม่มาก ขนาบด้วยป่าทึบ ด้านหลังไกลออกไปเป็นแนวเขาซับซ้อน

ปริมาณน้ำไม่มากนัก แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ก็มีสีขุ่นแดง

ผมลดสายตาลงต่ำ มองเยื้องไปทางขวามือ

มีบริเวณที่น้ำไหลวนเป็นวงกว้าง เพราะเป็นจุดที่ลำห้วยอีกสายมาบรรจบกับลำห้วยที่ไหลมาจากทางทิศเหนือ

จากตรงนี้ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และไหลลับตาไปทางทิศใต้

จุดดำๆ เคลื่อนไหวอยู่บนสันทรายกลางลำห้วย

นั่นคือ นกยูงตัวผู้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ขนหางจะยาวสลวย

แต่ดูเหมือนพวกมันก็เตรียมจับจองอาณาเขตไว้เป็นที่รำแพนหาง อวดความสวยงามและความเข้มแข็งเพื่อให้เหล่าตัวเมียเลือก ในเวลาอีกไม่นาน

ราวปี พ.ศ 2528 ผมมาถึงที่นี่

ยืนมองลำน้ำสายนี้ ตรงบริเวณนี้

ถัดจากโค้งลำห้วย ที่เลี้ยวไปทางขวา เดินทวนน้ำขึ้นไปอีกสองชั่วโมง

ใต้ต้นมะเดื่อ ซึ่งขึ้นอยู่ริมห้วย ใกล้ๆ ปากทางด่านที่สัตว์ป่าใช้

เป็นที่ซึ่งผมพบกับนกยูงไทยในธรรมชาติเป็นครั้งแรก

ใน พ.ศ. นั้น นกยูงไทย หรือที่หลายคนเรียกว่า นกยูงเขียว คือสัตว์ปีกอีกชนิดหนึ่ง ที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ (IUCN) รายงานไว้ในปี พ.ศ.2522 ว่า กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต ใกล้สูญพันธุ์ ทั้งที่นกชนิดนี้เคยมีอยู่ทั่วประเทศ

ริมสายน้ำแห่งนี้ สายน้ำที่ชื่อว่า ห้วยขาแข้ง มีรายงานการพบเห็น และมีนักวิจัยเข้ามาสำรวจพบว่า ทางตอนใต้ของลำน้ำ ยังคงมีประชากรนกยูงไทยอาศัยอยู่

ที่นี่คือป่าซึ่งผมใช้เวลาในการทำงานมาก

คนทำงานในป่าแห่งนี้ พูดเล่นๆ กันเสมอๆ ว่า

ใครที่อาบน้ำในลำห้วยนี้แล้วมักไปไหนไม่พ้น

กลางฤดูฝน ผมกลับมาที่นี่อีกครั้ง ยืนมองสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ

ความชื้นจากเรือนยอดไม้ค่อยๆ ส่งผ่านออกมาเป็นสายหมอกหนา

ผมพบกับเรื่องหนึ่ง ที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน หลังจากใช้เวลาหลายวันกับการนั่งอยู่ในซุ้มบังไพร แนบชิดลำห้วย

ผมไม่ได้ยินเสียงน้ำไหล

ลำขาแข้งสำหรับผม คล้ายจะเป็นสายน้ำที่เงียบงัน

ใต้ต้นมะเดื่อแห่งนั้น ไม่เพียงนกยูง

แต่ผมยังมีโอกาสพบกับฝูงช้างที่พาลูกเล็กๆ มาเล่นน้ำ รวมทั้งที่เสือดาวตัวหนึ่งทำงาน ให้ผมเห็นกับการล่าลิงแสม

ไม่แปลกนัก ที่ริมลำน้ำแห่งนี้จะเป็นที่ชุมนุม

สภาพป่าที่มีเนื้อที่กว่าหนึ่งล้านหกแสนไร่ คล้ายจะกว้างใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกหนแห่งในป่า จะเป็นที่เหมาะสมสำหรับการอาศัยหรือหาอาหาร

ในฤดูแล้ง รอยตีนสัตว์กินพืช พบเห็นทั่วบริเวณหาดทราย

และที่ปะปนอยู่กับรอยตีนสัตว์กินพืช ย่อมเป็นรอยสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ

ในช่วงเวลาที่สายฝนตกชุก ร่องรอยเหล่านี้เบาบางลงบ้าง เพราะความชื้นในอากาศเหลือมาก ต้นไม้ไม่ลดการใช้น้ำ แอ่งน้ำในปลัก ลำห้วยเล็กๆ มีน้ำ สัตว์ป่ากระจายไปทั่ว

ต่างจากในช่วงเวลาที่สภาพอากาศแล้งจัด

ริมลำห้วยสายหลักอย่างลำขาแข้ง จึงไม่ต่างจากที่ชุมนุม

นอกจากนกยูง สัตว์อีกชนิดที่ใน พ.ศ. นั้นอยู่ในสถานภาพวิกฤต คือ ควายป่า

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล บันทึกไว้ในสารนิยมไพร เมื่อปี พ.ศ.2501 ว่า ควายป่าตัวสุดท้ายถูกยิงตายในป่าแถบอำเภอวิเชียรบุรี อาจเป็นควายป่าตัวสุดท้าย

จากการสำรวจพบว่า ป่าบริเวณตอนใต้ของลำน้ำสายนี้ ยังมีควายป่าอาศัยอยู่

การมีอยู่ของพวกมัน ทำให้ผืนป่าแห่งนี้ได้รับการคุ้มครอง

ต้นฤดูฝนปีหนึ่ง

ท่ามกลางสภาพอากาศอันมัวซัว เพราะสายฝนและความโพล้เพล้ยามเย็น

ผมมีโอกาสพบควายป่า 18 ตัว

ลูกเล็กๆ ในฝูงที่เห็น คือความหวัง

พวกมันคล้ายติดอยู่ในเกาะ การผสมแบบเลือกชิด ยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น

เป็นความหวังที่มีความหม่นหมอง ครอบคลุม

โดยไม่ได้มีสถิติ หรือข้อมูลยืนยัน ในป่าห้วยขาแข้ง การพบเห็นสัตว์ป่า ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

นกยูง วัวแดง กระทิง รวมทั้งควายป่า การพบเห็นพวกมันง่ายกว่าครั้งที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ

สัตว์ป่าเหล่านี้ คือหลักฐานยืนยัน แสดงผลการทำงานปกป้องดูแลแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างได้ผล

ในป่าแห่งนี้ ผมพบซากสัตว์ป่าเสมอ

โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีโอกาสร่วมงานกับทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

การตายของสตว์กินพืช จากฝีมือนักล่า ย่อมไม่ใช่โศกนาฏกรรม

นี่คือการถ่ายทอดพลังงาน

คือเวลาที่งานเลี้ยงเริ่มต้น

เมื่อสัตว์ป่าโดนล่า และกินโดยสัตว์ป่า การกินมีต่อไปเป็นทอดๆ

ซากสัตว์ป่าตัวหนึ่ง เป็นที่รวมสัตว์ป่ามากมาย ผลัดกันเข้ามาใช้ประโยชน์ กัดกินทุกชิ้นส่วน จนกระทั่งซากย่อยสลาย

งานเลี้ยงดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมง

ในระหว่างสัตว์กินเนื้อเข้ามาแทะ แมลงวันก็บินเข้ามาตอม วางไข่ นกกินแมลงเข้าโฉบจับ เหยี่ยวหาโอกาสเข้ามาจัดการนกเล็กๆ

เม่น เข้ามาแทะกระดูก

งานเลี้ยงจบลง

อีกไม่นาน งานใหม่ก็จะเริ่มต้น

ริมสายน้ำที่ไหลคดเคี้ยว

ซุ้มบังไพรตั้งอยู่แนบชิดลำห้วย สายน้ำขุ่นแดง บางช่วงระดับน้ำสูงเกินระดับเข่า

นอกจากเสียงนกแก๊ก ดังแว่วๆ แล้ว รอบๆ ตัวคือความเงียบสงัด

สายน้ำไหลไปอย่างเงียบเชียบ

ด้านขวามือ บนหาดทราย นกยูง 4 ตัว เดินก้มจิกไปตามดงหญ้าริมฝั่ง

ผมนึกถึงลำห้วยสายนี้ในช่วงต้นๆ อันมีสภาพคล้ายลำห้วยสายเล็กๆ แคบๆ มีก้อนหินระเกะะกะ รายล้อมด้วยป่าดิบเขา หลายช่วงเป็นน้ำตก

เมื่ออยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ หรือซุ้มบังไพร บางครั้ง ความอื้ออึงของสายน้ำ กลบเสียงอื่นหมดสิ้น

จากทิศเหนือ มุ่งสู่ทิศใต้

สายน้ำทอดยาว กว้างขึ้น มีลำห้วยหลายสายมาสมทบ หาดทรายขยายกว้าง

เสียงดูคล้ายจะยิ่งเงียบ

ทุกๆ เช้า

ผมยืนมองสายน้ำคดเคี้ยว หมอกหนา ครอบคลุมทิวเขาซับซ้อน

ผ่านมาเนิ่นนาน

สายน้ำที่คุ้นเคย เปิดโอกาสให้ผมรู้จักในอีกมุมหนึ่ง

สายน้ำที่เงียบงัน

“แท้จริงแล้ว ความเงียบ คือเสียงที่ดังกึกก้องอย่างหนึ่ง”

ดูเหมือนผมจะเข้าใจความหมายของมันมากขึ้น…