ศึกผู้ว่าฯ กทม. อีกไม่นาน นานแค่ไหน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศึกผู้ว่าฯ กทม.

อีกไม่นาน

นานแค่ไหน

 

ภายหลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประกาศชัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) จะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2565 ทำให้ปี่กลองเลือกตั้ง “พ่อเมืองกรุงเทพฯ” คึกคักขึ้นทันที

โดยขณะนี้มี “แคนดิเดตตัวเต็ง” ที่ชัดเจนแล้ว 2 ราย ได้แก่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ลงในนามอิสระ แต่ไม่พ้น “เงาพรรคเพื่อไทย” และ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ที่ลงในนาม “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.)

ส่วน “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่ขณะนี้เป็นผู้ว่าฯ ปทุมธานี กลับเกิดปัญหา “ทางเทคนิค” นั่นคือ “ขาดคุณสมบัติ” เพราะทะเบียนบ้านยังอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ไม่ได้ย้ายเข้า กทม. เพราะผู้สมัครชิงผู้ว่าฯกทม. ต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม.ติดต่อกัน 180 วัน หรือราว 6 เดือน

ทำให้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ประกาศถอย พร้อมให้เหตุผลว่างาน กทม.ซับซ้อนมาก ซึ่งไม่ถนัดงานพื้นที่เป็นหัวใจของประเทศ ขอดูแลพี่น้องส่วนภูมิภาคจะดีกว่า จึงเลือกเดิน “สายราชการ” ต่อไป ซึ่งหลังเกษียณ อยากสอนหนังสือ เป็นความฝันที่พูดตั้งแต่อยู่ถ้ำหลวง อยากอยู่กับครอบครัว และดูแลสุขภาพตัวเอง

ทั้งนี้ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” เหลืออายุราชการ 3 ปี โดยเติบโตมาจาก “สายที่ดิน” เป็นลูกหม้อ “กรมที่ดิน” ที่ผ่านงานระดับต่างๆ มา จนขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ เชียงราย ผู้ว่าฯ พะเยา ผู้ว่าฯ ลําปาง และผู้ว่าฯ ปทุมธานี

ดังนั้น เส้นทางในมหาดไทยของ “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ยังมีอนาคต มีโอกาสลุ้นขึ้นเป็น “อธิบดีกรมที่ดิน” แม้ว่า “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” จะเป็น “ผู้ว่าฯ ไร้สิงห์” เพราะไม่ได้จบคณะรัฐศาสตร์มาแต่ต้น แต่จบคณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ซึ่งสเป๊กจบ “สายวิศวกรรมศาสตร์” ก็ตรงกับ “ชัชชาติ” และ “ดร.เอ้” โดยทั้งคู่ต่างขับเคี่ยวกันเข้มข้น เริ่มจาก “ชัชชาติ” ที่เปิดตัวมาแรมปี แม้จะมีช่วงเว้นวรรคนิ่งไปบ้าง หลังมีกระแสข่าวตีคู่ก่อนหน้านี้ว่า “ชัชชาติ” อาจกลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง เพื่อขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

แต่สุดท้ายกระแสข่าวก็ไม่เป็นจริง ทำให้ “ชัชชาติ” มุ่งเต็มสูบสู่สนามผู้ว่าฯ กทม. ผ่านแคมเปญ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ผ่านทีมงาน “เพื่อนชัชชาติ”

 

มากันที่ “ดร.เอ้” เปิดตัวในนาม ปชป. ย่อมมีทั้ง “กองหนุน-กองแช่ง” ตั้งแต่เริ่มเปิดตัว แต่สิ่งที่เด่นชัดคือการสลัดภาพลักษณ์ ปชป. แบบเดิมออกไป สร้างแบรนด์ใหม่ที่ทันสมัยขึ้น ด้วยบุคลิกของ “ดร.เอ้” ที่เป็น “พี่เอ้” ตั้งอยู่ในรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่เป็นนักศึกษา มาเป็นอาจารย์ จนขึ้นเป็นอธิการบดี ได้สร้างตัวตนเป็น “พี่เอ้” มากกว่าเป็น “ท่าน” ผ่านการเซอร์ไพรส์กับนักศึกษาหลายครั้ง

ทว่า ก็เกิดคำถามขึ้นว่าสุดท้ายแล้ว ปชป.จะกลืนกิน “ดร.เอ้” หรือไม่

ทั้งนี้ “ดร.เอ้” เปิดแคมเปญ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” โดยชูผลงานที่ตัวเองมีส่วนร่วมในอดีตเกี่ยวกับโครงการวิศกรรมในกรุงเทพฯ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย, โครงการอุโมงค์ป้องกันน้ำท่วมของ กทม. เป็นต้น พร้อมประกาศเดิน 1.6 ล้านก้าว ไปทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 1.6 ล้านตารางเมตร

ส่วน “พรรคก้าวไกล” ยังคงปิดเงียบแคนดิเดตชิงผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีการโยนหินถามทางมา 2 ชื่อ เพื่อเป็น “ผู้ว่าฯ สตรี” ทั้ง “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” พี่สาว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งทั้งสองชื่อทางพรรคได้ออกมาปฏิเสธทั้งหมด

ทั้งนี้ “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลเตรียมเปิดตัวผู้สมัครชิงนั่งผู้ว่าฯ กทม. กลางเดือนมกราคม 2565 ในคอนเซ็ปต์ “ใหม่ ชัด โดน” ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนกรุงเทพฯ พร้อมกับเปิดตัวผู้สมัคร ส.ก.ในนามพรรค 50 เขต

ล่าสุดมีการพูดกันในพรรคก้าวไกลว่าให้ไปจับตาดูคนที่ชอบ “เดินตลาด” ให้ดี และพรรคคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565

 

ด้วยไทม์ไลน์ที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าเป็น “เกมยื้อ” เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ แม้ว่า “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันว่าไม่มี “ยื้อ” ก็ตาม

ทั้งนี้ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ได้ตั้งคำถามว่า ไม่ยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือ ผ่านมา 8 ปีแล้ว ที่ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่มีนาคม 2556 เพราะอำนาจกำหนดว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่ โดย สนช. ที่ออกมาเมื่อเมษายน 2562 ให้เป็นอำนาจ คสช. แต่หากไม่มี คสช. แล้วให้เป็นอำนาจของ ครม.

ดังนั้น “ครม.ประยุทธ์” จึงเป็นจุดตัดสินใจว่าจะให้มีเลือกตั้ง กทม.หรือไม่ ไม่ใช่ กกต. เพราะ กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังจาก ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

พร้อมมองถึงเหตุผลการยื้อเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คะแนนนิยมของ พปชร.ใน กทม.ไม่มี และจะหาตัวผู้สมัครเด่นๆ มาสู้กับคนอื่นไม่ได้ อีกทั้งที่โปรยชื่อมา ก็ขาดคุณสมบัติ จะเอาคนเก่า ก็ทำนายอนาคตได้ไม่ยาก ยื้ออย่างไรก็ลำบาก

 

ฟากพรรคเพื่อไทย แม้จะประกาศชัดไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่ได้ตั้งคำถามถึง “สภาวะยื้อ” ที่เกิดขึ้น โดย “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” โฆษกพรรค ระบุถึงกรณีที่ “บิ๊กตู่” ประกาศว่าเมื่อบ้านเมืองสงบจะจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะยื้อเวลาไว้เพื่ออะไร เพราะหลายจังหวัดได้เลือกตั้งนายก อบจ. และ อบต.แล้ว ได้ผู้นำท้องถิ่นของตัวเอง จะยื้อเวลารอให้ พปชร.สรรหาบุคคลที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ หากเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “แผนสืบทอดอำนาจ” ทุกระดับชั้น ทั้งจากเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงเทพฯ และในระดับทั่วประเทศ

“พล.อ.ประยุทธ์ขโมยโอกาสของคนกรุงเทพฯ ในการกำหนดชีวิตตัวเอง ใช้อำนาจในมือเพื่อแก้ปัญหาให้ตนเองและพวกพ้อง ไม่ได้เป็นไปเพื่อประเทศชาติ ดังนั้น หากได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจาก พปชร. อาจเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาภายใน ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างจริงใจ”

น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังคงเป็นปัญหาที่ยัง “แก้ไม่ตก” ในขั้วฝั่ง พปชร. จนมีการมองว่านี่คือสาเหตุที่ต้องยื้อการเลือกตั้งออกไป เพราะแม้แต่ “บิ๊กป้อม” ยังพัลวันไม่สามารถเคลียร์ชัดได้ ยังมีอาการ “แทงกั๊ก” เมื่อสื่อถามถึงความคืบหน้าในการลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ว่า “ไม่ใช่ส่ง แต่จะสนับสนุนใครที่เป็นคนดีมาทำงานร่วมกับรัฐบาล ใครก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะส่ง”

ทั้งนี้ ภายใน พปชร.ก็ยังฝุ่นตลบ เพราะฝั่ง “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่จะลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ยอมเช่นกัน ยังมีศึกวัดพลังภายใน พปชร. ในฟากขั้ว กปปส. ภายใน พปชร.เดิม อย่าง “ตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่เคยมีข่าวไปตั้ง “พรรคไทยสร้างสรรค์” เป็นที่ตั้งสำรองไว้ แม้จะถูกตัดสิทธิการเมืองก็ตาม หลังเคยคิดดัน “มาดามอีฟ” ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ก่อนหน้านี้ แต่ก็ติดเงื่อนไขถูดตัดสิทธิการเมือง แต่ก็มี “ตัวสำรอง” อย่าง “สกลธี ภัททิยกุล” ที่ก็มีชื่อถูกปูดชื่อขึ้นมาด้วย

ทว่า กลับยังมี “ศึกสามก๊ก” ในการส่งผู้สมัคร ส.ก. ที่ พล.ต.อ.อัศวินก็จะส่งในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ฝั่งทีม “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็จะส่งในนามกลุ่มของตัวเองเช่นกัน และการส่งในนาม พปชร.ด้วย

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพสะท้อน “ความยุ่งเหยิง” ภายใน พปชร.ที่ไม่จบสิ้น ทำให้หาตัวคนชิง “พ่อเมืองกรุงเทพฯ” ไม่ได้ แม้แต่จะไป “สนับสนุน” ใครด้วย

เพราะสนาม กทม.แตกต่างจากสนามการเมืองอื่นๆ ที่ไม่มี “บ้านใหญ่-เจ้าพ่อหัวเมือง” อีกทั้งไม่มีใครเป็น “เจ้าของพื้นที่” รวมทั้ง “สมการการเมือง” ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงการแข่งขันระหว่าง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” อีกต่อไป มีผู้เล่นเกมในสนามนี้เข้ามาใหม่ คือ “พลังประชารัฐ-ก้าวไกล” ที่มาแย่งฐานเสียง

ทำให้เกมสนามเมืองกรุงครั้งนี้ดุเดือด และยากจะนำการเลือกตั้ง กทม.ในอดีตมาเทียบเคียง

ดังนั้น “เกมยื้อ” ของซีกขั้ว “3 ป.” จึงเป็นจุดสะท้อนถึง “ความไม่พร้อม” นั่นเอง

ประกอบกับช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “เรตติ้ง” ของพรรคฝั่งรัฐบาลลดลงอย่างมาก สิ่งที่ตอกย้ำคือการลงพื้นที่ของ ส.ส. หรือการลงเลือกตั้งท้องถิ่น จึงพยายามขับเน้น “พลังบ้านใหญ่” นำตัวพรรคการเมือง

ผิดกับซีกพรรคฝ่ายค้านที่ขับเน้น “แบรนด์พรรค” มากกว่า แต่ด้วยความผันผวนในพื้นที่ กทม. ที่พรรคเพื่อไทยมีบาดแผลในอดีต ที่เคยส่งลงสนามสมัครในนามพรรค ครั้งนี้จึงเลือกส่ง “ชัชชาติ” ในนามอิสระแทน ซึ่งก็พร้อมกว่า

ดังนั้น หากฝั่ง “ผู้กำหนดเกม” ยังไม่พร้อม และรู้สึกว่า ศึกการชิงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะมี ‘ผล’ โดยตรงและโดยอ้อมต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ก็อย่าหวังจะได้เปิดคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว

เกมยื้อการเลือกตั้งคงดำเนินต่อไปแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกว่า จะมีขึ้นกลางปี 2565 แต่ก็ยังไม่กำหนดให้ชัดๆ สามารถ ‘ยืด’ ยาวออกไปได้ นี่จึงมีความไม่แน่นอนสูง พร้อมๆ กับคำถามอื้ออึง

อีกไม่นาน นานแค่ไหน!!