จรัญ มะลูลีม : กาตาร์ประเทศเล็กใจใหญ่ (2)

จรัญ มะลูลีม

มองโดยรวมผู้คนและรัฐต่างๆ แม้แต่ในคาบสมุทรอาหรับเองก็อาจมองข้ามกาตาร์ไปได้ กาตาร์อาจถูกมองแค่เป็นรัฐเล็กๆ ของคาบสมุทรที่มี “บ่อน้ำมัน” (อัดเดาลา อัล-บิร – al-dawla al-bir)

นักวิชาการตะวันออกกลางเอง ซึ่งได้แลเห็นความเจริญของกาตาร์อยู่ต่อหน้าก็ยังละเลยความสำคัญของกาตาร์ไปเสีย มีคนจำนวนน้อยที่ต่อมาเล็งเห็นความสำคัญของกาตาร์ทั้งในดินแดนของกาตาร์เองหรือประเทศภายนอก

เวลานี้ผู้คนโดยทั่วไปล้วนจับตาดูความเจริญเติบโตทั้งทางยุทธศาสตร์และการพาณิชย์ของแถบอ่าวเปอร์เซียมากกว่าเดิม

กระนั้นผู้คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่ากาตาร์ซึ่งเผชิญปัญหาอยู่เนืองๆ อย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน

แม้แต่กองทัพของนักก่อสร้างที่มีจำนวนนั้นเป็นแสนๆ คน ที่มาสร้างความเจริญให้กาตาร์ก็ยังดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวตะวันออกกลางมากนัก

 

ความเติบโตของกาตาร์ทำให้กาตาร์เดินหน้าสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจและความทันสมัย ความเจริญเติบโตดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัวกษัตริย์และพันธมิตรที่มีอิทธิพลที่มาจากตระกูลที่มีพลังอำนาจ พ่อค้า และหน่วยงานจากต่างชาติที่มาตั้งอยู่ในกาตาร์

ลักษณะสำคัญต่อมาของกาตาร์ คือการทูตที่มีพลังอำนาจเกินกว่าที่รัฐเล็กๆ อื่นๆ จะทำได้

ทั้งนี้กาตาร์ที่แม้จะเป็นเพียงรัฐเล็กๆ แต่ก็ผ่านประสบการณ์สำคัญในการเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ระหว่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง

กาตาร์จึงมีบทบาทที่เป็นที่รับรู้กันอยู่ในชุมชนระหว่างประเทศ

กระนั้นกาตาร์ก็ถูกบดบังรัศมีโดยมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และมหาอำนาจโลกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

สำนักข่าวของกาตาร์อย่างอัล-ญะซีเราะฮ์เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่า อัล-ญะซีเราะฮ์ (Al-Jazeera) เป็นสำนักข่าวที่ทำให้ CNN และ BBC ต้องทำข่าวอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่า อัล-ญะซีเราะฮ์ สามารถถ่วงดุลความจริงในพื้นที่กับสองสำนักข่าวสำคัญข้างต้นมาโดยตลอด

โดยเฉพาะข่าวจริงในพื้นที่สำคัญๆ ในตะวันออกกลางและในส่วนอื่นๆ ของแอฟริกา ซึ่ง อัล-ญะซีเราะฮ์ ประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งมาแล้ว

 

ในด้านกีฬา กาตาร์ใช้ความพยายามของตนร่วมกับสมาชิกของ FIFA จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 (FIFA World Cup)

ในความสุนทรีย์กาตาร์ก็มีพิพิธภัณฑ์ระดับโลก (world-class museums)

นอกจากนี้ กาตาร์ยังรู้จักการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในระดับโลก และการรักษาสถานภาพความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน สหรัฐอเมริกา ปาเลสไตน์และอิสราเอลเอาไว้ในเวลาเดียวกัน

ก่อนหน้าที่จะเกิดความขัดแย้งทางการทูตกับซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และ UAE นั้นอาจกล่าวได้ว่า กาตาร์เป็นรัฐในสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC) ที่มีความมั่นคงมากที่สุดหากเปรียบเทียบกับสมาชิกความร่วมมือแห่งอ่าวประเทศอื่นๆ

ความมั่นคงทางการเมืองของกาตาร์นั้นมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นของประชาชนกาตาร์เอง กาตาร์เป็นประเทศที่ไม่มีความตึงเครียดในสำนักคิดทางศาสนาหากเปรียบเทียบกับซาอุดีอาระเบียและบาห์เรน เป็นรัฐเดี่ยวที่มีขนาดเล็กแต่มีนโยบายที่มีความเป็นเอกภาพหากเปรียบเทียบกับ UAE และโอมาน อาจกล่าวได้ว่ากาตาร์เป็นรัฐเล็กที่ผู้คนไม่ถูกการเมืองเข้ามาแบ่งแยกเป็นกลุ่มก้อนหากเปรียบเทียบกับคูเวต

นอกจากนี้ กาตาร์ยังมีรายได้จำนวนมากที่มาจากก๊าซธรรมชาติจนทำให้ประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ อย่างเช่น การมีสำนักข่าว อัล-ญะซีเราะฮ์หรือการเข้าไปเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งทำให้กาตาร์ได้รับการยอมรับดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

หากมองจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะพบว่าโดยทั่วไปรัฐเล็กๆ จะเป็นผู้รองรับอำนาจมากกว่าจะเป็นต้นกำเนิดของอำนาจเสียเอง

แต่กาตาร์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม และในหลายกรณีได้กลายมาเป็นตัวแสดงหลักในเวทีระหว่างประเทศ และมีอิทธิพล

อัล-ญะซีเราะฮ์ ทำให้ประเทศกาตาร์เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์อาหรับสปริง กระนั้นกาตาร์ก็ถูกมองว่าเป็นประเทศเล็ก และผลิตภาพทางวัฒนธรรมก็ยังมีความจำกัด และยังเป็นประเทศเล็กเกินไปที่จะอยู่ในระดับการใช้อำนาจที่เรียกกันว่า Soft Power และ Smart Power ที่จะรวมเข้าด้วยกันเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นการเฉพาะได้

กระนั้นกาตาร์ก็รวมอำนาจของตนมาจากการเป็นนักไกล่เกลี่ยที่ประสบความสำเร็จ และมีการลงทุนเพื่อความมั่นคง (Sovereign Wealth Fun) ไปทั่วโลก มีอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างอัล-ญะซีเราะฮ์และการทูตเชิงรุก

แม้กาตาร์จะทำทุกอย่างไม่ได้หมด แต่กาตาร์ก็ทำสำเร็จมาแล้วในหลายกรณี

 

อย่างไรก็ตาม ในทางการทหารกาตาร์ยังคงอยู่ภายใต้ร่มความมั่นคงของสหรัฐ ซึ่งมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของทรัมป์ที่หันไปสนับสนุนซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และ UAE ให้หันมาต่อต้านกาตาร์ที่มีเจ้าหน้าที่สหรัฐนับหมื่นอยู่ในฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในกาตาร์เสียเอง ด้วยข้ออ้างว่ากาตาร์หนุนกองกำลังฮามาส ฮิสบุลลอฮ์และกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นกำลังหลักในการต่อต้านอิสราเอล และการนำเอาอิสลามการเมืองมาใช้

หากมองไปที่ภูมิภาคตะวันออกกลางในเวลานี้จะพบว่าดุลอำนาจในตะวันออกกลางเริ่มเปลี่ยนไปจากอดีต ที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียครองความยิ่งใหญ่อยู่ในสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซียมาโดยตลอด

เวลานี้กาตาร์ได้ขึ้นมาเทียบเคียงซาอุดีอาระเบียได้ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งของไฮโดรคาร์บอน ประชาชนในประเทศมีความร่ำรวย สังคมมีความสมานฉันท์ ไม่มีความขัดแย้งทางนิกายและความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการมีผู้นำที่มีสายตายาวไกล

 

สําหรับสถานภาพของอิหร่านที่กลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งปัญหาความขัดแย้งของซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และ UAE นั้นพบว่าปัจจุบันอิหร่านประสบความสำเร็จอย่างมาก ในด้านความมั่นคงอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่อิหร่านมีกับขบวนการฮิสบุลลอฮ์ของเลบานอนและฮามาสของปาเลสไตน์ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่อิหร่านมีกับกลุ่มต่างๆ ในอิรักประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่สังกัดอยู่ในสำนักคิดชีอะฮ์

การที่อิหร่านมีความขัดแย้งกับสหรัฐ ซึ่งดูแลความมั่นคงอยู่ในรัฐกษัตริย์ทำให้บทบาทของอิหร่านมีความจำกัดโดยเฉพาะในโลกอาหรับ อย่างไรก็ตามพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอิหร่านยังคงอยู่ที่บาชัร อัล-อะสัดของซีเรีย

กาตาร์อาจจะแตกต่างไปจากประเทศอาหรับอื่นๆ เพราะกาตาร์เลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับอิหร่านในฐานะประเทศที่เป็นเจ้าของก๊าซที่ใหญ่ในระดับโลก

สิ่งที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร โกรธเคืองอิหร่านนอกเหนือไปจากการกล่าวหาว่าอิหร่านหนุนการก่อการร้ายแล้ว

ความโกรธเคืองอีกประการหนึ่งน่าจะอยู่ที่ว่ากาตาร์ให้ความสำคัญกับอิหร่านมากกว่าประเทศใดๆ ในสภาความร่วมมือแห่งอ่าวยกเว้นโอมานซึ่งกาตาร์มีความใกล้ชิดอย่างมาก