โลโก้ APEC 2022 Thailand เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ศุภธัช วงค์เมฆ

 

ชะลอม

โลโก้ APEC 2022 Thailand

เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

 

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดเพื่อกำหนดมาตรฐานและนโยบายในประเด็นใหม่ๆ ของโลก ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้มีความทันสมัย เป็นสากล และเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน

ดังนั้น การที่ไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 จึงนับเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งของไทยที่จะเป็นผู้นำในการร่วมขับเคลื่อนและกำหนดนโยบายและทิศทางของภูมิภาคให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาประชาคมโลกต่อไป

หนึ่งในไฮไลต์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 คือ งานเปิดตัวโลโกเอเปค ที่ห้างไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วม

งานนี้จัดขึ้น โดยดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานเปิดงาน

โลโก้เอเปคนี้จะช่วยสะท้อนหัวข้อหลักและความร่วมมือที่ไทยผลักดัน สร้างความตระหนักรู้และความรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม และเป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนเอง

 

“ชะลอม” คือแบบที่ชนะการประกวด เป็นภาชนะใส่สิ่งของและสื่อถึงการค้าขายของไทยในสมัยก่อน

ผู้ออกแบบคือ นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาใช้ชะลอม มาจากความคิดว่าสัญลักษณ์นี้จะต้องสะท้อนถึงความเป็นไทยและตัวตนของเอเปค

อีกทั้งชะลอมสื่อถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปี 2565 คือ

OPEN : ชะลอมมีลักษณะปลายเปิดไว้ใช้ใส่สิ่งของต่างๆ จึงเสมือนว่าเป็นการสื่อถึงการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง

CONNECT : เพราะชะลอมมีไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงเปรียบได้กับความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค

BALANCE : ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระสำคัญของไทยและกำลังผลักดันในเวทีเอเปค 2565 นี้

นอกจากงานเปิดตัวโลโกเอเปคแล้ว ในวันเดียวกันนั้น ยังได้มีการจัดงานเสวนา APEC Media Focus Group ซึ่งเป็นงานที่เชิญสื่อมวลชนมาร่วมเสวนาเพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจ โดยหวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยเป็นสะพานส่งต่อความตระหนักรู้ไปยังประชาชน

อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมระดมสมองกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชนในลักษณะเช่นนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 เพื่อพัฒนาและเตรียมประเด็นที่ใช้ในการประชุมเอเปค 2565 ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยและบริบทของโลก

สำหรับหัวข้อพูดคุยและบรรยากาศภายในงานเสวนา นั้น ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 โดยเริ่มต้นจากประเด็นบทบาทของสื่อมวลชน ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพื่อทำให้เกิดความตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วม (Inform – Inspire – Integrate – Involve) ในสังคม

และยังอธิบายถึงยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้รับสาร ทั้งผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษา และภาคประชาสังคม ให้ได้รับรู้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม

 

นอกจากนี้ เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยังได้อธิบายให้ผู้ร่วมเสวนา APEC Media Focus Group ต่อถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19 การปรับตัวไปสู่สังคมดิจิตอล ความยั่งยืน ความสามารถในการปรับตัว ประเด็นสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น และอธิบายถึงหนึ่งในเป้าหมายนโยบายการทูตด้านเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเด็นหลักๆ ที่ประเทศไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปคได้แก่

OPEN : เปิดกว้างทางการค้าและการลงทุน โดยอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และขับเคลื่อน FTAAP หรือเขตเศรษฐกิจเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปคที่จะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

CONNECT : ฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อให้ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวและเกิดความปลอดภัยด้วย

BALANCE : ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นวาระสำคัญของไทยในเวลานี้

หรือภาษาไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”

ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565

 

ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยซึ่งเป็นผลงานของ “ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอม” ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของ ในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทย จากรุ่นสู่รุ่น

ชะลอมเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ที่ทำจากตอกไม้ไผ่ สำหรับใส่ของใช้ต่างๆ ของกิน มีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บางๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง เหลือตอกยืนที่ปากไว้โดยไม่สาน เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้วหรือกันสิ่งของที่ใส่ไว้ภายในตกหล่น ใช้นำมาใส่ของกินของใช้ โดยจะใช้ใบไม้ เช่น ใบตองกรุภายในก่อนใส่ผลไม้เพื่อไม่ให้ผลไม้ มีรอยช้ำ หรือตกหล่นจากตาของชะลอม เป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันทั่วไปทุกภาค

บางพื้นที่เรียก กะลอม ส่วนภาคเหนืออาจเรียกว่าซ้าลอม

การสานชะลอมเริ่มจากสานส่วนก้นให้ได้ขนาดตามต้องการ หากมีขนาดใหญ่ก็จะเสริมไม้กะแหล้งขัด 2-3 อันที่บริเวณก้นชะลอมแล้วสานขึ้นมาเรื่อยๆ ให้ได้สัดส่วนพองาม แล้วปล่อยส่วนปลายตอกไว้เพื่อรวบมัดหลังการบรรจุสิ่งของที่ต้องการ หรืออาจแยกตอกออกเป็น 2 ส่วน ผูกโค้งเป็นหูหิ้วเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากชะลอมเป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของเป็นการชั่วคราวสำหรับเดินทางไกล หรือใส่สิ่งของที่เป็นของฝาก การสานชะลอมจึงเป็นการสานแบบง่ายๆ ใช้เวลาไม่นาน แค่เพียงพอต่อการบรรจุสิ่งของที่ต้องการเท่านั้น

ชะลอมมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งของที่ใช้บรรจุ

“ชะลอม” สื่อหัวข้อหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทย ได้แก่ OPEN – ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง CONNECT – ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง BALANCE – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)

เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุลระหว่างกัน