ปริศนาโบราณคดี : “พระเจ้าค่าคิง” พระพุทธรูปสูงเท่าคนสร้าง?

พระเจ้าค่าคิง องค์กลางสร้างโดยพระญากือนา องค์ข้างยืน 2 องค์ สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย

ในกลุ่มพระพุทธรูปล้านนา ล้วนมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีชื่อเรียกที่บ่งชี้ถึงจุดหมุ่งหมายในการจัดสร้างแบบจำเพาะเจาะจง

มีทั้งตั้งชื่อตาม “น้ำหนัก” เช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าล้านทอง บ้างเรียกตาม “กรรมวิธีการหล่อ” เช่น พระเจ้าแสนแส้ พระเจ้าทองทิพย์ บ้างเรียกตาม “ระยะเวลา” (อันรวดเร็ว) ได้แก่ พระเจ้าทันใจ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเรียกตาม “ขนาด” อีกด้วย ได้แก่ พระอัฏฐารส และพระเจ้าค่าคิง

พระอัฏฐารส คือพระพุทธรูปที่มีความสูง 18 ศอก โดยอธิบายได้ 2 นัย

นัยแรก เชื่อว่าพระโคตมพุทธเจ้ามีความสูง 18 ศอก ตามที่ปรากฏในอรรถกถาธิบาย คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีอรรถกถาพระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์

นัยที่สอง เชื่อว่าเป็นการตีความว่า พระโคตมพุทธเจ้าคือผู้เปี่ยมด้วย “พุทธคุณ 18” ตามบทสวดพระปริตรตอนอาฏานาฏิยปริตร

ทั้งสองนัยนี้ ถูกนำมาเป็นโจทย์ให้กับช่างผู้สร้างสรรค์งานพระพุทธปฏิมาในอดีต ที่จะต้องสร้างตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ สื่อออกมาเป็นลักษณะเฉพาะของ “พระอัฏฐารส”

สำหรับ “พระเจ้าค่าคิง” เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพุทธศิลป์ล้านนา ที่มีการตีความตามขนาดความสูง…ความสูงของใคร ของพระโคตมพุทธเจ้า หรือของผู้สร้างพระพุทธปฏิมานั้น?


พระเจ้าค่าคิง
“ค่า” และ “คิง” ที่ต้องตีความ

คําว่า “พระเจ้าค่าคิง” นั้น “พระเจ้า” หมายถึงพระพุทธรูป กล่าวคือชาวล้านนาจะไม่เคยเรียกพระพุทธปฏิมาว่า พระพุทธรูป เรียกแต่ “พระเจ้า”

ส่งผลให้คำนำหน้าสำหรับกษัตริย์ล้านนาก็ไม่สามารถเรียกว่า “พระเจ้า” ได้ เพราะจะไปซ้ำซ้อนกับ พระเจ้า ในความหมายของพระพุทธรูป จึงเรียกกษัตริย์ว่า “พระญา” คำว่า “ค่า” แปลว่า “เท่า, เทียม, เสมือน, เท่ากับ, ประหนึ่ง”

“คิง” มีความหมายสองอย่าง อย่างแรกคือสรรพนามบุรุษที่ 2 ได้แก่ เธอ, คุณ ไปจนถึง เอ็ง, มึง ส่วนสรรพนามบุรุษที่ 1 คือ “ฮา” หมายถึง ข้า, ฉัน, กู ในอดีต คิงกับฮา ไม่ใช่คำหยาบ ใช้เรียกโดยทั่วไป แต่ปัจจุบัน ถูกผลักไปเป็นคำหยาบ ใช้พูดกับคนสนิทเท่านั้น ในทำนอง มึง กู, ฉัน แก, ข้า เอ็ง, เรา นาย

ความหมายของอย่างที่สอง หมายถึง “ตัวตน” เช่นภาษิตที่ว่า “กว่าจะฮู้คิง น้ำปิงก็เหือดแห้ง” หมายความว่า กว่าจะรู้ตัว ก็สายเสียแล้ว หรือคำว่า “ขนคิงลุก” ไม่ได้แปลว่า “เส้นขนของเธอลุก” แต่หมายถึง “เส้นขนของบุคคลลุก”

หากแปลความโดยรวม “พระเจ้าค่าคิง” หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นประหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้สร้าง หรือมีความสูงเท่ากับตัวของผู้สร้าง

 

คติ “พระเจ้าค่าคิง” มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

การสร้าง “พระเจ้าค่าคิง” สามารถสืบค้นได้ว่า มีธรรมเนียมการสร้างมานานแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย โดยพระนางจามเทวีสร้างไว้ที่วัดกู่ละมัก ดังปรากฏหลักฐานใน “ตำนานมูลศาสนา” รจนาโดย พระพุทธพุกาม ในสมัยล้านนาราว 500 ปีเศษที่ผ่านมา

ข้อความกล่าวถึงกระบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวีจากละโว้ (ลพบุรี) สู่หริภุญไชย (ลำพูน) ในปี พ.ศ.1204 ว่าขณะที่พระนางกำลังก่อ “มหามงคลเจดีย์” ณ บริเวณที่ปัจจุบันคือ วัดกู่ละมัก หรือวัดรมณียารามอยู่นั้น พระมหาเถรเจ้า 500 รูป มีความปรารถนาอยากให้พระนางจามเทวีได้เพิ่มพูนพระราชกุศลให้มากขึ้น จึงทูลแนะนำว่า

“อาตมาทั้งหลายมีความปรารถนา จะใคร่ให้พระนางทรงสร้างพระพุทธรูป มีส่วนและขนาดเท่าองค์มหาราชเทวีทายิกาเจ้า สำหรับไว้เป็นที่สักการบูชาแก่หมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตราบถ้วน 5,000 พระวัสสา…

พระนางจามเทวี จึงตรัสเรียกหามายังช่างผู้ฉลาดเข้ามาแล้วจึงตรัสว่า ดูรานายช่าง ท่านจงจัดการสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีขนาดและส่วนสูงเท่าตัวเรานี้…

แล้วพระนางก็ทรงบรรจุพระบรมธาตุพร้อมด้วยพระโกศทองคำไว้ในองค์พระพุทธรูปนั้น ให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์”

 

พระเจ้าค่าคิงพระญามังราย และพระญากือนา

สืบต่อมาจนถึงสมัยของพระญามังราย (พ.ศ.1804-1854) ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ โปรดให้ “ช่างกานโถม” สร้าง “พระเจ้าค่าคิงพระญามังราย” พร้อมกัน 5 องค์ ที่เวียงกุมกาม เพื่อเสริมบารมีก่อนเสด็จยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี

ต่อมาเมื่อทรงสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว โปรดอาราธนาเพื่อมาประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น วัดแห่งแรกของนครเชียงใหม่ แต่ไม้คานที่หามพระพุทธรูปได้หักลงที่บริเวณหนึ่งยังไม่ทันถึงเป้าหมาย

จึงโปรดให้สร้างวัดและประดิษฐานพระเจ้าค่าคิงองค์นั้นไว้ ณ วัดคานคอด (ไม้คานหัก) หรือ ออกเสียงภาษาพื้นเมืองว่า “กาละคอต” ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ในชื่อวัดพระเจ้าเม็งราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

“พระเจ้าค่าคิงพระญามังราย” องค์นี้ สร้างความฉงนฉงายเป็นอย่างยิ่ง เหตุที่ขนาดของพระพุทธรูปกลับสูงเกินกว่าความสูงจริงของพระญามังราย

เช่นเดียวกับ “พระเจ้าค่าคิงพระญากือนา” องค์ที่เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสวนดอก (คือภาพประกอบในที่นี้) พระญากือนา (พ.ศ.1898-1928) กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 โปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ขณะประทับยืน ตามบัญชาของพระราชมารดา (พระนางจิตราเทวี) เพื่อถวายไว้แทนพระญากือนา เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก

แต่เมื่อวัดขนาดแล้ว กลับพบว่าหน้าตักกว้าง 2 เมตร และสูง 2.5 เมตร


นานาทัศนะกับการตีความ “พระเจ้าค่าคิง”

ประเด็นเรื่องความสูงของพระเจ้าค่าคิงที่เกินความสูงจริงของกษัตริย์ล้านนาสององค์นี้ ได้ก่อให้เกิดกระแสการคิดวิเคราะห์ตีความไปต่างๆ นานา ท่ามกลางนักวิชาการด้านล้านนาคดี

อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม นักภาษาโบราณ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า น่าจะเรียกว่า “พระเจ้าเหลือคิง” มากกว่า กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปที่สูงเกินกว่าความสูงจริงของผู้สร้าง

รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การสร้างพระพุทธรูปสูงใหญ่เท่าตัวตนผู้สร้างนั้น มิได้หมายความว่าเท่ากับความสูงจริง แต่จะให้ผู้สร้างยืนกลางแสงแดดยามเช้าหรือเวลาเย็นที่แสงทอดไปไกลที่สุด แล้วให้วัดความยาวจากลำแสงที่ทอดผ่านนั้น มาใช้เป็นความสูงของพระพุทธรูป

เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ โบราณาจารย์บางท่านกล่าวว่า เนื่องมาจากไม่เป็นการบังควรที่จะสร้างเท่าขนาดความสูงปกติเท่าคนจริง เพราะพระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งความคิดดังกล่าว ก็อาจจะขัดแย้งกับการสร้าง “พระเจ้าค่าคิง” ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งมีความสูงเท่าตัวตนของท่านอีก

 

ฤๅพระเจ้าค่าคิง มีทั้งคิงแท้และคิงเงา

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ได้สร้าง “พระเจ้าค่าคิง” ขึ้นหลายองค์ เป็นพระพุทธรูปยืนทั้งหมด เท่าที่พบขณะนี้มี 6องค์ หรือ 3 คู่ คู่แรกอยู่ที่วัดสวนดอก (คือสององค์ในภาพ เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์แนบพระวรกาย อยู่กระหนาบสองข้างพระค่าคิงพระญากือนา องค์ใหญ่องค์กลาง) คู่ที่ 2 อยู่ที่วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม และคู่ที่ 3 อยู่ที่วัดพระนอนแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง

ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างพระเจ้าค่าคิงคู่แรก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้าค่าคิงพระญากือนา ขณะที่ท่านบูรณะวิหารวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ.2474 วัดความสูงพระเจ้าค่าคิงครูบาเจ้าศรีวิชัยคู่นี้ได้ 168 เซนติเมตร มีความสูงใกล้เคียงกับที่วัดพระนอนขอนม่วง ประมาณ 169-170 เซนติเมตร

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักประวัติศาสตร์ล้านนา อธิบายว่า พระเจ้าค่าคิง หมายถึง การสร้างพระพุทธรูปไว้แทนตัวเอง เมื่อมีผู้คนจากต่างเมืองหลั่งไหลมาคารวะ แสดงความจงรักอย่างล้นหลาม (ภาษาล้านนาเรียก “ไหว้สา”) ทำให้ไม่สะดวก ไม่มีเวลาปฏิบัติภารกิจอื่น จึงสร้างพระเจ้าค่าคิงไว้แทนตนจริงให้คนได้ไหว้สา ส่วนขนาดสัดส่วนจะกำหนดอย่างไรนั้น อาจขึ้นอยู่กับฐานะ อำนาจ บารมี ของผู้สร้าง

คำอธิบายของอาจารย์เกริก น่าจะใช้ได้ดีกับกรณีของครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ในแต่ละวันมีคณะศรัทธาญาติโยมรอต่อคิวขอเข้าพบเป็นจำนวนเรือนพัน อาจมีความจำเป็นต้องสร้างพระเจ้าค่าคิงไว้เป็นเครื่องหมายแทนตัวท่านเอง

เหตุเพราะ คนสมัยโบราณไม่มีธรรมเนียมการสร้างประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจริงในลักษณะที่เรียกว่า Portrait ในขณะที่ยังมีชีวิต จึงเลี่ยงไปใช้วิธี “กำหนดความสูงของตน” แต่สร้างองค์พระปฏิมาแทน

ส่วนเรื่องความสูงนั้น เป็นไปได้ว่า การที่พระเจ้าค่าคิงของครูบาเจ้าศรีวิชัยสูงเท่าตัวท่านเอง ก็เพราะท่านไม่ประสงค์จะให้เกินความสูงของพระเจ้าค่าคิงพระญากือนา เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ อีกทั้งต้องประดิษฐานไว้ ณ แท่นแก้ว (ฐานชุกชี) เดียวกัน จึงยิ่งอาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบ

สรุปได้ว่า ความสูงของวรกายผู้สร้างพระเจ้าค่าคิงนั้นมี 2 แบบ คือ

1. สูงเท่าตัวตนจริงของผู้สร้าง บางท่านจึงเรียก “พระเจ้าค่าคิงแท้” ดังเช่น กรณีของพระนางจามเทวี และครูบาเจ้าศรีวิชัย

2. สูงเกินกว่าพระวรกายจริง เพราะวัดความสูงจากเงา ได้แก่ กรณีของพระญามังราย และพระญากือนา บางท่านจึงเรียก “พระเจ้าค่าคิงเงา”

อนึ่ง ชาวล้านนายังนิยมสร้างสิ่งบูชาเท่าขนาดตัวตนของผู้สร้างอีกด้วย เช่น ตุงค่าคิง เทียนค่าคิง เพื่อสืบชะตาอายุ อย่างไรก็ดี เรื่องพระเจ้าค่าคิง ยังต้องมีการศึกษาสืบค้นวิเคราะห์กันอย่างเข้มข้นกันอีกต่อไป