คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 1)

 

คุยกับทูต แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน

ไทย-ดัตช์ สายสัมพันธ์สี่ศตวรรษ (ตอน 1)

 

สถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในบรรดาสถานเอกอัครราชทูตที่งดงามที่สุดในกรุงเทพฯ

ตั้งอยู่บนพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่บนถนนวิทยุและซอยต้นสน ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาด้านหนึ่งและทำเนียบหรือที่พักของเอกอัครราชทูตสหรัฐอีกด้านหนึ่ง

และเมื่อปี ค.ศ.1987 ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อเข้าไปในบริเวณสถานทูตดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 20 ไร่ ผ่านสวนสวยที่ได้รับการจัดให้โปร่งโล่งมองเห็นอาคารที่พักจากถนนวิทยุ ก็อาจจะหลงลืมได้ง่ายว่าอยู่ในกรุงเทพฯ

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

เพราะนอกจากจะได้ยินเสียงร้องของนกน้อยทั้งหลายที่บินไปมาแว่วมาแต่ไกล ไม่ใช่เสียงอึกทึกของการจราจรบนถนนวิทยุที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว

ก็ยังอาจจะได้เห็นกบตัวเล็กๆ หลบนิ่งกลืนไปกับสีของพุ่มไม้ใบหญ้า หรือกระรอกตัวเล็กตัวน้อยปีนป่ายต้นไม้อย่างรวดเร็ว

ไม่นับรูปปั้นฝูงวัวหลากสีที่ยืนต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เป็นระยะตามสนามหญ้าเขียวขจีซึ่งเต็มไปด้วยไม้ใบและไม้ดอกหลากสีสันทั่วบริเวณ

แถมยังได้กลิ่นหอมจากเกสรดอกไม้ลอยอบอวลในอากาศ

หรือหากเดินไปตามลำคลอง ก็จะเห็นปลา เต่า และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่อาศัยอยู่มานาน

ที่นี่จึงเปรียบเหมือนโอเอซิสกลางเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

 

เป็นธรรมเนียมในอดีตผู้มาเยือนผู้แทนชาวดัตช์ที่นี่ มักจะนำต้นไม้มาเป็นของขวัญ จึงทำให้ต้นไม้ใหญ่น้อยและพืชพรรณในสวนของสถานทูตดัตช์มีความหลากหลาย

ส่งผลให้สวนนี้กลายเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

และจากการที่มีพื้นที่ติดต่อกันระหว่างสถานทูตดัตช์และสถานทูตสหรัฐจึงเป็นการง่ายที่บรรดาสัตว์ทั้งหลายจะเคลื่อนที่ไปมาระหว่างกันเพื่อขยายอาณาเขตของพวกตนในเมืองที่พลุกพล่านแห่งนี้

ก่อนสนทนากับท่านทูตดัตช์ นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เรามาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้กัน

 

ทำเนียบเอกอัครราชทูตดัตช์

 

ทำเนียบ หรือ ที่พักอาศัยพร้อมส่วนต่อขยาย (ซ้าย) เครดิตภาพ -BiermanHenket

 

เริ่มต้นเมื่อปี 1911 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ดินผืนนี้ยังเป็นนาข้าวและอยู่ในเขตบางกะปิไม่ใช่เขตปทุมวันอย่างในปัจจุบัน

เมื่อเมืองขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ทำให้ที่ดินผืนนี้ราคาสูงขึ้นอย่างมาก ดึงดูดให้ชาวนาขายที่ดินและโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลชุมชนนอกเมือง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม) เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ซื้อที่ดินจากชาวนาที่ย้ายออกไปแล้ว ที่ดินผืนนี้มีเนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ในขณะนั้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงขนาดใหญ่ที่ได้มาระหว่างปี 1911 และ 1914

ปี 1914 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจได้ขายที่ผืนนี้ (ที่เป็นที่ตั้งของสถานทูตดัตช์ในปัจจุบัน) ให้แก่พระยาราชสาส์นโสภณ

ซึ่งต่อมาปี 1915 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ขายให้แก่กรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) โฉนดที่ดินได้จดทะเบียนให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ และให้อธิบดีกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนพระมหากษัตริย์

 

 

หลังจากนั้น 15 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานที่ดินและอาคารให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชในความจงรักภักดีและอุทิศตนเพื่องาน โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส อุปราชมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

ปี 1932 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงเขียนจดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผ่านกรมพระคลังข้างที่ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตขายที่ดินคืนให้กรมพระคลังข้างที่ 2 ไร่ เนื่องจากทรงต้องการใช้เงินในการปรับปรุงพระตำหนักนี้ และทรงได้รับพระบรมราชานุญาตโดยได้รับเงินจากการขายที่ดังกล่าวจำนวน 15,000 บาท

นับเป็นการปรับปรุงพระตำหนักครั้งแรกและครั้งสุดท้ายก่อนที่ที่ดินผืนนี้จะเป็นของเนเธอร์แลนด์ในอีก 17 ปีต่อมา

รายละเอียดบันไดที่ได้รับการบูรณะพร้อมทางลงพิเศษไปยังชั้นใต้ดิน เครดิตภาพ – BiermanHenket
ห้องรับแขกที่ตกแต่งใหม่ เครดิตภาพ-BiermanHenket

 

เมื่อเกิด “กบฏบวรเดช” ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 1933 โดยกลุ่มผู้ก่อการนี้เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีนเมื่อคณะกู้บ้านเมืองประสบความพ่ายแพ้

ระหว่างปี 1936-1939 บ้านหลังนี้ถูกปล่อยเช่าให้กับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่อใช้เป็นสำนักงานและคลับเฮาส์

ต่อมากองทัพญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาใช้ที่นี่เป็นสำนักงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและได้ถูกปล่อยเช่าให้กับ Salesian Father บาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อใช้เป็นสำนักงานและโบสถ์ส่วนตัว

ส่วนอาคารไม้ชั้นเดียว 2 หลังที่ทหารญี่ปุ่นสร้างไว้ ถูกใช้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส และพัฒนาเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาดอนบอสโก

หลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทุกคดี พระองค์เจ้าบวรเดชจึงเสด็จกลับประเทศไทยปี 1948 และได้ขายบ้านพร้อมที่ดินผืนนี้ให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในปี 1949 ด้วยราคา 1,850,000 บาท

นับแต่นั้นเป็นต้นมา อาคารสีขาวสไตล์โคโลเนียล 2 ชั้นก็ได้ใช้เป็นที่พำนักของหัวหน้าคณะผู้แทนเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดในประเทศไทย

 

บริเวณโถงในทำเนียบ

 

 

หลังจากการซื้อที่ดินและพระตำหนักหลังเก่าได้ไม่นาน มีการสร้างอาคารชั้นเดียวขนาดเล็กให้เป็นแบบเดียวกับที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของคณะผู้แทนดัตช์โดยมีเจ้าหน้าที่เพียง 10 คน ซึ่งพักอาศัยอยู่ในสถานที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ

ปี 1957 สำนักงานใหญ่ของคณะผู้แทนดัตช์ได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต โดยนาย Johan Zeeman เป็นเอกอัครราชทูตดัตช์คนแรก มีเจ้าหน้าที่ทางการทูตทั้งชาวไทยและชาวดัตช์ 43 คน เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนงานต่างๆ และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาคารสำนักงานหลังเก่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอ ปี 2001 ได้สร้างอาคารอีกหลังตรงส่วนติดฝั่งถนนวิทยุให้เป็นส่วนงานพิธีการ งานกงสุล และวีซ่า

กระทรวงต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เห็นว่าอาคารสำนักงานหลังเก่าเล็ก และไม่ได้มาตรฐานของสำนักงานสมัยใหม่ จึงรื้ออาคารหลังเก่า รวมทั้งหลังที่สร้างติดส่วนถนนวิทยุออกไป และสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่บริเวณฝั่งซอยต้นสนขึ้นมาแทนในปี 2004 แล้วเสร็จในปี 2005 เป็นสำนักงานในปัจจุบัน

ตัวอาคารผ่านการออกแบบที่เปิดโล่ง โปร่งใส ให้เหมาะกับแสงแบบซีกโลกตะวันออกโดยให้มีความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตภายในและภายนอกอาคาร

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย

การเลือกบริเวณฝั่งซอยต้นสนในการสร้างอาคารสถานทูตซึ่งออกแบบโดยชาวดัตช์ นาย Hubert-Jan Henket เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรอันคับคั่งแออัดบนถนนวิทยุ รวมถึงเรื่องของการรักษาความปลอดภัยด้วย

ทั้งยังเปลี่ยนทางเข้า-ออกอย่างเป็นทางการของสถานทูตและทำเนียบจากด้านถนนวิทยุมาเป็นฝั่งซอยต้นสนตั้งแต่นั้นมา

จากนั้นมีการบูรณะทำเนียบเอกอัครราชทูต และเติมอาคารสองชั้นเข้าไปอีกหลังแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2007 โดยมีการปรับปรุงการตกแต่งอาคารทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนบริเวณสวนเป็นระยะ

ปัจจุบัน นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ซึ่งได้เปิดทำเนียบ พูดคุยกับเราเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับชีวิตและความคิดเห็นที่มีต่อประเทศไทย ความสัมพันธ์ไทย-ดัตช์ และอีกหลายเรื่อง

โปรดติดตาม