หลังเลนส์ในดงลึก : ‘เลือนหาย’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกมูม - งานของนกมูมคือ การกระจายพันธุ์ต้นไม้ พวกมันอยู่ร่วมกันเป็นฝูง และบินขึ้น-ลงกินน้ำในโป่งพร้อมๆ กัน

 

‘เลือนหาย’

 

ผมไม่แน่ใจนักว่า เริ่มต้นการถ่ายรูป แบบ “ไม่ชัด” และ “มืด” ตั้งแต่ตอนไหน

อาจตั้งแต่วันที่ผมพบว่า “เห็น” สัตว์ป่าจริงๆ เมื่อละสายตาจากช่องมองภาพ เริ่มการมองพวกมันด้วยสายตาที่ผ่านหัวใจ “รูปไม่ชัด”, “สัตว์ตัวนิดเดียว” “มืด” คล้ายเป็นคำจำกัดความในงาน

ผมไม่ค่อยได้อธิบายงานที่พยายามนำเสนอ แต่หากมีคนถามตรงๆ ผมจะอธิบายว่า ผมเสนอภาพสัตว์ป่าแบบนี้ เพื่อต้องการแสดงความเป็นชีวิตของเหล่าสัตว์ป่าให้เด่นชัดขึ้น

ความเป็นชีวิตที่มองเห็นคล้ายเป็นภาพอันพร่าเลือน

 

ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า ทุกครั้งที่ทำงานอยู่ในป่าราวๆ 15-20 วันนั้น เอาเข้าจริงใช้เวลากดชัตเตอร์สักกี่นาที อาจไม่ถึงชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ เพราะเวลาเกือบทั้งหมดอยู่กับการเฝ้ารอในซุ้มบังไพรนิ่งๆ

ผ่านมาถึงวันนี้ ผมพบว่า นั่นคือข้อดี

นั่งนิ่งเงียบทำให้เห็น ทำให้ได้ยินสิ่งรอบๆ ตัวชัด เห็นความเป็นไปทั้งข้างนอก

รวมทั้ง “ข้างใน”

 

จะว่าไป หากพูดว่า เวลาส่วนใหญ่เฝ้ารออยู่กับความว่างเปล่าคงไม่ถูกเท่าไหร่

ในการทำงาน ผมมีเป้าหมายว่า ครั้งนี้อยากพบกับสัตว์ตัวไหน วันเวลาในการทำงานที่ผ่านมา ช่วยให้คาดได้บ้างว่า จะต้องไปที่ไหน เวลาใด

ที่จริงผมก็ทำและคิดแบบเดียวกับสัตว์นั่นแหละ พวกมันเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นไปตามฤดูกาล มีอาหารและแหล่งน้ำเป็นตัวกำหนด

ไปอยู่ในที่ซึ่งสัตว์ป่าจะมา

ที่เหลือคือ รอ และหวังว่าพวกมันจะอนุญาตให้พบ

 

ระหว่างรอ ใกล้โป่งอันเป็นแหล่งอาหาร มีสมาชิกประจำที่วนเวียนอยู่แถวๆ นั้นตลอดวัน นอกจากเก้ง ก็เป็นเหล่านกที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง อย่างพวกนกเขาเปล้า และนกมูม

นกพวกนี้ ไปไหนมาไหนพร้อมกันจำนวนมาก เช่นเมื่อต้นไทรออกลูกสุก

ในวันที่ฝูงกระทิงยังไม่ลงจากการเสาะหาใบไม้อ่อนๆ หรือหน่อไผ่ที่เพิ่งแทงยอดโผล่พ้นดินตามป่าไผ่เชิงเขา ฝูงวัวแดงเช่นกัน อีกทั้งช้างนั่นยังเพลิดเพลินอยู่แถวๆ ลำห้วยในโป่ง จึงไร้วี่แววสัตว์กินพืช เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดานักล่าทั้งหลายก็ไม่มาซุ่มรอบริเวณนี้

ช่วงเวลานี้เป็นเวลาของนกเขาเปล้า และนกมูม ส่วนฝูงนกหกเล็กปากแดงนั้นมักมาในช่วงเช้าๆ ถึงตอนสายๆ

หลายครั้งที่ฝูงนกเหล่านี้ คล้ายช่วยให้รู้สึกได้ว่า เวลาวันนั้นไม่ผ่านไปอย่างเชื่องช้านัก

แม้จะฝึกฝนมานาน แต่กับใจ จะให้สงบนิ่งดูจะไม่ง่ายเลย

 

นกมูมขณะลงกินน้ำเป็นภาพที่ผมกดชัตเตอร์ไว้ไม่น้อย

ทั้งฝูงพร้อมใจกันบินวนๆ ไปรอบๆ สักพัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเหยี่ยวรุ้งหรือเหยี่ยวต่างสี แอบๆ อยู่ ทั้งฝูงจะร่อนลงพื้น และก้มกินน้ำอย่างรวดเร็ว

ผมทำเพียงปรับระยะชัดไว้ตรงจุดที่นกทั้งฝูงอยู่ แล้วคอยฟังเสียงสัญญาณจากนกหกเล็กปากแดง ซึ่งทำหน้าที่ยาม มันจะส่งเสียงดังทันทีที่มีเงาเหยี่ยวเข้ามา

สัญญาณดังขึ้น นกมูมทุกตัวจะบินขึ้นพร้อมกัน ดัง “พรึบ”

โดยไม่ต้องมองช่องมองภาพ ผมกดชัตเตอร์กล้องที่ตั้งสปีดช้า

นกโผขึ้น บินวนๆ และไปเกาะตามกิ่งต้นไม้ใกล้ๆ

ผมกดดูรูปว่าเป็นอย่างที่ตั้งใจหรือไม่ มีหลายรูปเป็นรูปอย่างที่ตั้งใจ

สำหรับความเป็นชีวิต ผมเห็นพวกมันตั้งแต่ไม่ได้มองผ่านช่องมองภาพแล้ว

 

ถึงวันนี้ กล้องอันเป็นเครื่องมือ พัฒนามาไกล การปล่อยให้กล้องทำงานจะได้ภาพอันคมชัด รวมทั้งจับท่าทางของสัตว์ป่าในแบบที่หากมองด้วยตาเปล่าจะไม่เห็น

แต่ไม่ใช่งานในแบบที่ผมอยากได้ ผมเลือกที่จะควบคุมกล้อง เลือกที่จะให้กล้องทำงานอย่างที่ต้องการ

แน่นอนผมไม่ได้เมินเฉย หันหลังกลับเข้าถ้ำ ปฏิเสธความเจริญ แต่มีความเชื่อว่า บนโลกสีน้ำเงิน อันเป็นดาวดวงเล็กในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ไม่ได้มีเส้นทางเดินเพียงเส้นเดียว

มีถนนแปดเลน เทคอนกรีตชั้นดี พาหนะแล่นได้รวดเร็ว ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น ต้องละทิ้งถนนเส้นเล็กๆ ที่เป็นเส้นทางเข้าหมู่บ้าน

ในวันที่โลกหมุนเร็วจี๋ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยพยายามเลือกเดินตามไปอย่างช้าๆ เดินไปพร้อมๆ กับชีวิตต่างๆ

เดินช้าๆ ไม่ได้หมายความถึงไม่รู้ว่าโลกหมุนเร็ว

 

ผมอธิบายถึง “ความไม่ชัด” ของรูปบ้าง แต่คงไม่ชัดเจนนักว่าทำไม

หากใช้คำพูดหรูๆ คงพูดได้ว่า เพราะความแจ่มชัดมันอยู่ข้างใน

ภาพสัตว์ป่าในวันที่แหล่งอาศัยยังคงถูกคุกคาม ปัญหาที่พวกมันกำลังเผชิญ ดูคล้ายกับว่าถูกบังคับให้เหลือเพียงถนนเส้นเล็กๆ เส้นเดียวให้เดิน

ความเป็นชีวิตของพวกมันถูกมองเห็นเป็นแค่ภาพอันพร่าเลือน

พร่าเลือน และจะ “เลือนหาย” ไปในเวลาไม่นาน