ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 ธันวาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ของดีมีอยู่
ปราปต์ บุนปาน
จุดยืน “ขวาสุดโต่ง”
จุดยืน “อนุรักษนิยม” ชื่อ “ธงทอง” กลางกระแส “ขวาสุดโต่ง”
สุดสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับชมคลิปสัมภาษณ์ “ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” ในรายการ “เอ็กซ์อ๊อก Talk ทุกเรื่อง” ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูบมติชนทีวี
นักวิชาการ ปัญญาชน และอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ฝ่ายอนุรักษนิยม” คนหนึ่งของบ้านเมืองนี้ในยุคปัจจุบัน ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ร่วมสมัยไว้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง
จึงขอคัดลอกเนื้อหาบางส่วน (จากวิดีโอความยาวเกือบ 1 ชั่วโมง) มาเผยแพร่ซ้ำ โดยแบ่งซอยออกเป็น 3 ช่วง ดังต่อไปนี้
หนึ่ง
“เราไม่สามารถจะเหมารวมได้เหมือนกันว่าคนที่อายุ 50 หรือ 60 ขึ้นไปแล้ว คิดเหมือนกันหมด เช่นเดียวกัน ผมก็ไม่อาจจะเหมาได้เหมือนกันว่าคนที่อายุต่ำกว่า 30 จะคิดเหมือนกันหมด อย่าไปเผลอว่ามันจะเป็นแบบนั้นนะ
“ผมอาจจะพูดในส่วนเด็กได้ไม่ถนัดหรอก แต่มาพูดในส่วนผู้ใหญ่ก็แล้วกัน ผมอยู่ใกล้มากกว่า ผมก็จะพบว่าในกลุ่มคนที่อายุมากเท่าๆ ผม ก็ไม่ได้เป็นคนซึ่งจะมีความเห็นในความเป็นไปในบ้านเมืองไปในทิศทางหรือแนวทางเดียวกันทั้งหมด
“ผู้ที่เห็นต่าง (คือ) เห็นด้วยกันกับสาระที่กลุ่มที่มีความเห็นในแนวทางที่อยากจะปรับปรุงอยากจะพัฒนา เขาก็มีอยู่นะ แต่ว่าเขาก็อาจเลือกที่จะอยู่เฉย เพราะรู้สึกว่าพูดไปก็จะต้องทะเลาะกับเพื่อนตัวเอง แล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
“แล้วยิ่งไปกว่านั้น ผมจะบอกว่ากลุ่มที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมหรือให้ความเห็นชัดๆ ในเวลานี้ ผมอาจจะมีข้อสังเกตว่าโดยมากแล้วก็อยู่ในฐานะซึ่งพร้อมที่จะมีเสียง ไม่ห่วงเรื่องการทำมาหากิน อยู่สุขอยู่สบายดีพอสมควรแล้ว พูดไปก็ไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วงกังวล
“ในขณะซึ่งคนที่อาจไม่ได้เห็นเหมือนกัน ถึงแม้อายุ 60 แล้ว (แต่) ยังต้องหาเช้ากินค่ำอยู่ ยังต้องห่วงปากห่วงท้องอยู่ เขาก็ถึงแม้มีความเห็นเหมือนหรือต่างก็แล้วแต่เถอะ ถ้าสมมติว่าเห็นต่าง เขาก็คงเหนื่อยอ่อนเกินกว่าจะพูดอะไรได้
“เราจึงอาจจะได้ยินเสียงที่ดังจากคนที่อายุมาก ประหนึ่งว่าเป็นกลุ่มก้อนที่เป็นเอกภาพ แล้วไม่มีความเห็นต่าง จริงๆ มันมีคนเห็นต่างอยู่ (แต่) อาจจะ หนึ่ง พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง หรือว่าหมดแรงจะพูดแล้ว…”
สอง
“‘ขวาสุดโต่ง’ ในนิยามของผมคือความพยายามที่จะใช้กำลังและเครื่องมือทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำลายล้างความเห็นต่าง ผมอาจจะมีชีวิตช่วงหนึ่งในเวลาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยก่อนเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ปี 2519 การที่จะมีความเคลื่อนไหว ในเวลานั้น ขวาพิฆาตซ้ายหรืออะไรก็แล้วแต่เถิด
“สุดท้ายแล้ว ทำไมหนอผมจึงรู้สึกว่าเรากำลังหวนกลับไปสู่บรรยากาศทำนองเดียวกันนั้น พูดให้เป็นรูปธรรมสักเรื่องสองเรื่อง
“หนึ่งคือสื่อ สื่อที่ประกาศตัวเองหรือมีความชัดเจนในการทำงาน -ผมไม่อยากจะเรียกว่าทำหน้าที่ ทำหน้าที่มันควรจะซื่อตรงต่อหน้าที่นั้น- ในการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง โดยที่นำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งการทำลายล้างซึ่งกันและกัน แล้วอย่างที่ว่า เวลานี้ทำสื่อมันก็ง่ายเหลือเกินนะ…
“นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มพลัง ซึ่งมันจะเป็นกลุ่มจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ว่ามีการใช้ชื่อต่างๆ นานา ก็เหมือนมีการแสดงท่าทีนั้นๆ ต่อสาธารณะ ผมคิดว่าก็ดูจะเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว แล้วก็ประหัตประหารพอสมควร ว่าเขามีท่าทีที่จะไม่ยอมรับความเห็นต่างเลย แล้วผู้ที่เห็นต่างนั้นก็ไม่มีสิทธิจะมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้ต่อไป
“ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเพี้ยนผิด ถ้าเราจะบอกว่าความรู้สึกอย่างนี้น่าจะเรียกว่า ‘ขวาจัด’ ก็ได้ ผมก็ขวานะ ใครอย่ามาบอกว่าผมซ้าย ผมไม่ซ้ายด้วยนะ
“(แต่) ในความเป็นขวาก็มีหลายเฉดเหมือนกัน การมีเหตุมีผล ผมบางทีเคยเห็นขวาบางคนพูดออกมาแล้ว ผมก็อายแทน…”
สาม
“น่าเป็นห่วงไม่ใช่น้อยนะครับ สำหรับกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา ซึ่งก็เป็นความเห็นส่วนตัว ท่านจะเห็นต่างก็ได้ ผมรู้สึกว่ามันบิดเบี้ยว แล้วก็ไม่ได้ยึดหลักวิชาที่ควรจะเป็น การตีความกฎหมาย การใช้กฎหมายนั้น ดูมันบิดเบี้ยวไปเพราะความเห็นทางการเมืองของผู้ที่ใช้กฎหมาย
“ผมเห็นว่ากฎหมายก็ต้องใช้อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชา แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกกระบวนการขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล อัยการ ทนายความ การบังคับคดีหรืออะไรก็แล้วแต่ ช่วยกลับไปถามตัวเองว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่เวลานี้ มันใช่และมันตรงกับตำราที่เคยอ่านเมื่อตอนเรียนหนังสือหรือเปล่า?
“ถ้าท่านตอบว่ามันไม่เหมือน ท่านก็ช่วยถามต่อไปทีว่า แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรดี?”