จ๋าจ๊ะ วรรณคดu / ญาดา อารัมภีร / หอมพิกุล

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

หอมพิกุล

 

ดอกไม้หอมมีหลากหลายกลิ่น ตั้งแต่หอมกรุ่น หอมขจรขจาย หอมจรุงใจ หอมจางๆ หอมรวยริน หอมหวาน หอมชื่นใจ หอมตลบ หอมอบอวล หอมฟุ้ง หอมยวนใจ หอมอ่อนๆ หอมแรง หอมฉุน ฯลฯ

ทั้งนี้เพราะดอกไม้แต่ละชนิดมีกลิ่นหอมแตกต่างกัน โดยเฉพาะ ‘พิกุล’ แม้ดอกสีขาวอมเหลืองจะเล็กกระจิ๋วหลิว ดอกออกเป็นกระจุก 2-6 ดอกตามซอกใบและตามยอด แต่คุณภาพเกินตัว หอมแรงหอมนาน ขยันบานส่งกลิ่นตั้งแต่เช้า ตกกลางวันดอกก็ร่วงหล่น แม้แห้งแล้วก็ยังหอม

พิกุลเป็นหนึ่งของดอกไม้ในใจกวี วรรณคดีสมัยอยุธยา เรื่อง “เสือโคคำฉันท์” ตอนพหลวิไชยและคาวี สองพี่น้องเดินทางในป่า กวีบรรยายว่า

 

พิกุลคามคุณควร                ลำดวนดาษพิศมัย

หื่นหอมวังเวงใจ                 บรรเจิดจิตรพิศวง” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

คำว่า ‘หื่นหอม’ ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า ทั้งพิกุลและลำดวนเป็นดอกไม้กลิ่นหอมแรง น่าสังเกตตรงคำว่า ‘วังเวงใจ’ สื่อถึงอารมณ์เหงาเศร้าของทั้งคู่ยามเดินทางในป่า ซึ่งสอดคล้องกับบางตอนใน “สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 1

“สมัยก่อนมักปลูกตามวัด ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งไม่นิยมปลูกพิกุลตามบ้าน เพราะถือว่าเป็นต้นไม้วัด และกลิ่นดอกพิกุลเป็นกลิ่นของความเศร้า”

 

ความรู้สึกเรื่องกลิ่นของกวีอาจจะผิดแผกกันได้ ต่อให้เป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน เนื่องจากมีเรื่องของรสนิยมเข้าไปเกี่ยวด้วย ดังจะเห็นได้จากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ทรงใช้คำว่า ‘หอมหวาน’ กับดอกพิกุล และบุนนาค ใน “บทเห่เรือ”-เห่ชมไม้

 

พิกุลบุนนาคบาน                   กลิ่นหอมหวานซ่านขจร

แม้นุชสุดสายสมร                    เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย

 

ส่วนรัชกาลที่ 5 ทรงใช้คำว่า ‘ฉุนกลิ่นชื่น’ ใน “กาพย์เห่เรือ” บทเห่ชมไม้ หมายถึง แม้ดอกพิกุลจะหอมแรงแต่ก็รู้สึกสดชื่นเมื่อได้กลิ่น

 

“พิกุลฉุนกลิ่นชื่น                                รวยระรื่นชื่นกระมล

หล่นกลาดดาษภูวดล                          กลสั่นไว้ให้เรียมชม”

 

ไม่ต่างกับที่อาจารย์ฉันท์ ขำวิไล พรรณนาไว้ใน “กาพย์เห่เรือ ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ”-บทชมดอกไม้

 

พิกุลฉุนกลิ่นกลบ                 หอมตรลบอบพระคุณ

เมตตาและการุณ                  ทรงเกื้อหนุนค้ำจุนใจ”

 

รัชกาลที่ 2 ทรงถ่ายทอดภาพดอกพิกุลที่ร่วงหล่นบนพื้นดินไว้หลายครั้งในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ดังตอนที่อิเหนาชมถ้ำแล้วก็ ‘ออกจากถ้ำทองห้องมณี ไปสวนมาลีที่แต่งไว้’ สำหรับนางบุษบา

 

“พระนึกคะนึงนางพลางประพาส  รุกขชาติที่ในสะตาหมัน

พิกุลกรรณิการ์สารพัน          ดอกหล่นปนกันอยู่กลางทราย”

 

เช่นเดียวกับตอนที่ประสันตา พี่เลี้ยงของอิเหนา เชิญนางบุษบาออกมาชมสวน ภาพเบื้องหน้าคือ

 

“สารภีพิกุลดอกดก                  บานตกเต็มไปทั้งใต้ต้น”

 

เมื่ออิเหนาประพาสเขาปันจะหราก็พบบรรดาราชบุตรีกำลังสนุกสนานกับการเก็บดอกไม้

 

“ต่างองค์ช่วยเก็บมาลา              ไขว่คว้าหยอกเย้าเป็นเหล่ากัน”

 

อิเหนาจึงเสนอตัวช่วยเหลือด้วยการที่

 

  “อิเหนาเข้าเก็บพิกุลร่วง           แล้วน้าวหน่วงกิ่งน้อยค่อยค่อยสั่น

บุษบากันจะหนาแย่งกัน            ต่างสำรวลสรวลสันต์กันไปมา”

 

อิเหนาเป็นชายยังทำแค่ยืนสั่นกิ่งไม้ แต่สาวๆ ทำมากกว่านั้น ดังที่สุนทรภู่เล่าถึงพฤติกรรมของพระพี่เลี้ยงนางแก้วเกษราขณะชมสวนกับเจ้านายไว้ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ว่า

 

“นางโฉมยงทรงใส่ฉลองบาท          ยุรยาตรนาดนวลเข้าสวนขวัญ

พระพี่เลี้ยงเคียงคลอจรจรัล           ชวนชมพรรณบุปผาระย้าย้อย

เห็นพิกุลชวนกันขึ้นสั่นต้น           ให้ดอกดวงร่วงหล่นลงผ็อยผ็อย”

 

สาวๆ ลงทุนลงแรงปีนต้นไม้เพื่อเก็บดอกพิกุลไปร้อยมาลัย จะสาวนอกวังหรือในวังก็ไม่ต่างกัน ดังที่นายมี บรรยายไว้ใน “นิราศพระแท่นดงรัง” ว่า

 

“มาถึงวัดพิกุลให้ฉุนชื่น                    หอมระรื่นดอกดวงพวงบุปผา

ดอกพิกุลหล่นกลาดดาษดา                ถ้าน้องมาเห็นจะเก็บไว้ร้อยกรอง”

 

ระหว่างเดินทางผ่านวัดพิกุล นายมีก็นึกถึงกลิ่นหอมฉุนของดอกไม้ชื่อเดียวกับวัด เมื่อเห็นดอกพิกุลหล่นเกลื่อนอยู่บนพื้น ยิ่งทำให้คิดถึงนางที่รักว่าถ้ามาด้วยกันจะได้เก็บไปร้อยเป็นมาลัย

 

ดอกพิกุลทั้งสดและแห้งหอมแรงและหอมทน จึงนิยมนำมาร้อยมาลัยเพราะเก็บไว้ได้นาน ที่ดียิ่งกว่าคือใช้ดอกพิกุลลผสมกับดอกไม้อื่นๆ เช่น ลำดวน ทำเป็น ‘บุหงา’ หรือ ‘บุหงารำไป’ โดยนำเอาดอกไม้หอมต่างชนิดต่างสีต่างกลิ่น เช่น มะลิ กระดังงา กุหลาบ พิกุล ฯลฯ มาปรุงด้วยเครื่องหอม บรรจุในถุงผ้าโปร่งเล็กๆ ทำเป็นรูปต่างๆ ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “อิเหนา”  ตอนนางสะการะหนึ่งหรัดชมสวน “เห็นดอกไม้แบ่งบานละลานใจ อรไทเก็บพลางทางขับครวญ”

 

“วันนี้น้องสำราญใจ             ชมพรรณมิ่งไม้ในสวน

รสคนธ์ตระหลบอบอวล        หอมหวนชวนชื่นชูใจ

พิกุลจะกรองอุบะห้อย           ลำดวนจะร้อยเป็นสร้อยใส่

                จะทำบุหงารำไป                  วางไว้ข้างที่ไสยา ฯ”

 

นอกจากจะทำ ‘บุหงารำไป’ ไว้ใช้เองแล้ว ยังเป็นของแทนความรักความคิดถึงที่ฝ่ายหญิงมอบให้ฝ่ายชายอีกด้วย ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงพรรณนาไว้ใน “นิราศพระประธม” ว่า

 

“วัดพิกุลฉุนคิดคล้าย           พิกุลมา ไลยเอย

นงนุชสุดเสน่หา                 แม่ร้อย

ถุงยาสูบใส่บุหงา                 ผจงส่ง เรียมฤๅ

โฉมชื่นหื่นหายละห้อย          เสื่อมสิ้นเสาวคนธ์ ฯ”

 

ใครเคยคิดว่าผู้หญิงเท่านั้นที่ร้อยมาลัย คงต้องเปลี่ยนความคิด

เมื่อครั้งที่สุนทรภู่เดินทางผ่านวัดพิกุลก็หวนคิดถึงความหลังครั้งยังรุ่นหนุ่มว่าเคยเรียนที่นี่ เรียนร้อยมาลัย เมื่อร้อยจนเสร็จ แทนที่จะได้หยุดพัก กลับต้องนวดปรนนิบัติครูต่อไป

ความที่สุนทรภู่ร้อยมาลัยคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ทำให้มีพวงมาลัยประดับกายอยู่เสมอ ดังที่เล่าไว้ใน “นิราศสุพรรณ” ว่า

 

“วัดพิกุลกรุ่นกลิ่นเกลี้ยง        กลอยใจ

  แรกรุ่นร้อยมาลัย               ใส่เหล้น

เรียนร้อยค่อยสอดไหม          เหมือนแน่ และเอย

ร้อยคล่องต้องนั่งเน้น            นวดฟั้นท่านครู ฯ”

 

สุนทรภู่ร้อยมาลัยดอกพิกุลจนคล่องอย่างนี้ ไม่ต้องง้อสาวใดแล้ว