E-DUANG : ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังสู้กับใคร

เหมือนกับ “กรณี 25 สิงหาคม” จะเป็นการต่อสู้อันเป็น “ส่วนตัว”ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่”

ใช่เพราะไม่ว่า “คำพิพากษา” จะออกมาอย่างไรคนที่จะต้องแบกรับย่อมเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่ใช่เพราะแรงสะเทือนย่อมกระทบถึง “พรรคเพื่อไทย”

เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น ส.ส.หมายเลข 1 ระบบ บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

เพราะว่า พรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

โครงการรับจำนำข้าวก็แปร”นามธรรม”จากนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็น “รูปธรรม” โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงเป็นความรับผิดชอบของ “พรรคเพื่อไทย” ด้วย

 

พลันที่มีการพิจารณาคดีจากโครงการรับจำนำข้าวในศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คล้ายกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังสู้กับ “ศาล”

มิได้เป็นเช่นนั้น ศาลเป็นเพียงผู้แสดงบทบาทของ”ตุลาการ” ตามที่มีโจทก์นำขึ้นฟ้องร้อง

คู่ต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ รัฐบาล คือ คสช.

การแสดงออกในการหักล้างจึงมิได้มี “ศาล” เป็นปรปักษ์ หรือคู่ความขัดแย้ง หากแต่มี รัฐบาล มีคสช.เป็นคู่ความขัดแย้งในฐานะที่เป็นโจทก์

ทุกก้าวย่างจึงสะท้อนการขัดแย้ง การปะทะระหว่างรัฐบาลซึ่งเป็น “โจทก์” กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็น “จำเลย”

โดยมี “ศาล” เป็นที่ “สถิตความยุติธรรม” ให้

 

มีความพยายามจะ “ขยาย” การแสดงออกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน วัตร การแสดงออกของ “มวลชน” ที่มาให้กำลังใจ

เสมือนกับจะไป “ละเมิด” อำนาจ “ศาล”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง การไปของ “มวลชน” มิใช่เพื่อไปคัดง้างหรือเบี่ยงเบนทิศทางแห่ง “คำพิพากษา”

หากที่สำคัญเป็นการให้ “กำลังใจ”

เป็นการแสดงน้ำใจไมตรีที่ “มวลชน” ให้ความรัก ความห่วงใย ต่อชะตากรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องแบกรับในฐานะที่เป็น รัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า

หรือ น้ำใจ ไมตรี จะกลายเป็นปัญหาในทางการเมือง

หรือ “กำลังใจ” จะกลายเป็น “ของต้องห้าม” ในสังคมไทย