หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ

กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน (จบ)

 

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจ ในหนังสือ “โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ” ก็คือ การสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพื้นที่โรงเรียน

ในหนังสือมีการเขียนเรื่องนี้แยกออกมาเป็นบทเฉพาะ 2 บท คือ “การบริหารโรงเรียนแบบประชาธิปไตย” และ “ประชาธิปไตยในโรงเรียน” รวมไปถึงเขียนแทรกอยู่ในเนื้อหาบทอื่นๆ อยู่หลายครั้ง

การย้ำเรื่องประชาธิปไตยในพื้นที่โรงเรียนค่อนข้างมาก หากมองภายในบริบทสังคมไทยในช่วงปี พ.ศ.2508-2509 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้น ก็พอเข้าใจได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังอยู่ภายใต้ ยุคสงครามเย็น ระหว่างโลกเสรีที่มีแกนนำคือสหรัฐอเมริกา กับโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยโซเวียตและจีน

ประเทศไทยคือหนึ่งในพันธมิตรหลักของโลกเสรี เป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่สำคัญมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลประโยชน์มหาศาลจากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้การปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยแบบโลกเสรีเป็นสิ่งที่สำคัญในทุกปริมณฑลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทย

แน่นอน ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่โรงเรียน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ในช่วงนั้นประเทศไทยถูกปกครองด้วยผู้นำเผด็จการ เริ่มตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องมาถึง จอมพลถนอม กิตติขจร ดังนั้น การพูดถึงประชาธิปไตยจึงมีลักษณะลักลั่นในตัวเอง

กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง รัฐบาลและชนชั้นนำ ปกครองประเทศไทยด้วยระบอบเผด็จการ แต่อีกด้าน ด้วยการเป็นพันธมิตรสำคัญของโลกเสรี จึงจำเป็นต้องอ้างถึงหลักการประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน

ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้การสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยของโรงเรียนไทยในยุคนั้น (ที่บางอย่างยังส่งทอดต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน) กลายเป็นพื้นที่แบบเผด็จการภายใต้เปลือกของโลกเสรีประชาธิปไตย

ซึ่งลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นจากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้

 

ในบทที่ว่าด้วย ประชาธิปไตยในโรงเรียน ผู้แต่งเริ่มต้นด้วยข้อความว่า

“…เราชาวไทยได้รู้จักคำว่าประชาธิปไตยอย่างแพร่หลายในสมัยที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 และเข้าใจความหมายในวงแคบแต่เพียงว่า ‘อำนาจปกครองประเทศเป็นของประชาชน’ ‘ประชาชนส่วนใหญ่’ ‘เสียงประชาชนเป็นใหญ่’ เรารู้จักประชาธิปไตยด้วยวิธีที่นักปฏิวัติหรือนักการเมืองบอก เรารู้จักประชาธิปไตยจากสภา จากอนุสาวรีย์ จากแผ่นพับโฆษณา จากงานฉลองรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เรารู้จักประชาธิปไตยแต่เฉพาะในเรื่องการปกครอง

เราไม่ได้รู้จักประชาธิปไตยตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ไม่ได้รู้จักประชาธิปไตยด้วยวิธีการอบรมสั่งสอน ไม่ได้รับการปลูกฝังลักษณะของประชาธิปไตยลงไปในจิตใจ ฉะนั้น การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานทั้งส่วนตัวและส่วนรวมทั่วไปจึงไม่มีลักษณะของนักประชาธิปไตย นิสัยและลักษณะจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจำเป็นจะต้องปลูกฝังให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์เหมือนนิสัยและลักษณะจิตใจที่ดีงามทั้งหลายที่ต้องอบรมให้แก่เด็ก ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ประชาธิปไตยที่ถูกต้องควรจะเกิดในห้องเรียน…”

ฟังดูดีและน่าน้อมนำไปปฏิบัติมากๆ เลยใช่ไหมครับ

แต่เมื่ออ่านต่อไปถึงลักษณะจิตใจประชาธิปไตยที่ต้องปลูกฝังให้แก่เด็กว่าคืออะไร หนังสือสรุปว่าสิ่งนี้ประกอบไปด้วย มีความเคารพและให้เกียรติแก่สมาชิกของสังคม, รู้จักแบ่งปันงาน รู้ว่าตนเองมีหน้าที่ที่จะต้องให้ ไม่ใช่คอยแต่จะรับ, รู้จักหรือสำนึกในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย รู้ว่าหน้าที่สำคัญกว่าสิทธิ และข้อสุดท้ายคือ มีความเชื่อในวิธีการแห่งปัญญา

ก็เป็นนิสัยที่ควรปลูกฝังให้เด็กมีนะครับ คงไม่ใครปฏิเสธแน่ๆ

แต่คำถามคือ มีตรงไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับหลักการประชาธิปไตย

ไม่มีการพูดถึงเรื่อง สิทธิ ใดๆ ทั้งสิ้นที่เด็กพึงมีในโรงเรียน การพูดถึงสิทธิจะปรากฏเฉพาะการพูดที่ย้ำว่า สิทธิ นั้นสำคัญน้อยกว่า หน้าที่ ที่เด็กต้องทำ

 

หรือในอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการพูดถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่น แต่การอธิบายที่ปรากฏ คือ การยกตัวอย่างว่า “การเคารพสิทธิของผู้อื่น เช่น ไม่ทำลาย ระมัดระวังสิ่งของที่ยืมมา” (มีเท่านี้จริงๆ ที่อธิบายไว้ในหนังสือ)

ไม่ต้องพูดถึงคำว่า เสรีภาพ นะครับ ไม่มีปรากฏแม้เพียงเล็กน้อยในหนังสือ

โดยสรุป ประชาธิปไตยในพื้นที่โรงเรียนที่หนังสือเน้นย้ำมีเพียงเรื่องเดียวคือ หน้าที่ ของนักเรียนที่มีต่อครูและโรงเรียนเพียงเท่านั้น

มีการพูดถึงการเลือกตั้งด้วยนะครับ แต่สิ่งที่พูดคือ

“…การสอนให้เด็กรู้จักหีบใส่บัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและกฎหมายเลือกตั้ง หรือแม้แต่หัดให้เด็กลงคะแนนเลือกตั้ง เพียงเท่านี้ โรงเรียนจะถือว่าได้อบรมให้เด็กรู้หน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้วหาได้ไม่…การอบรมให้เด็กมี จิตใจเป็นประชาธิปไตย มีความสำคัญมากกว่าการให้เด็กรู้วิธีการเลือกตั้งหรือรู้ความหมายของประชาธิปไตย…”

สิทธิก็ไม่จำเป็น เสรีภาพไม่พูดถึง การเลือกตั้ง และความหมายของประชาธิปไตยก็ไม่สำคัญอะไร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้คือคุณลักษณะที่สำคัญของประชาธิปไตย

แต่ก็น่าขำนะครับที่การพูดให้ละเลยหลักการประชาธิปไตยข้างต้น กลับถูกอธิบายโดยการห่อหุ้มด้วยคำว่าประชาธิปไตยเต็มไปหมด

 

ผู้แต่งยังย้ำกับบุคลากรในโรงเรียนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ว่า

“…โรงเรียนพึงระลึกไว้ว่าการปลูกฝังประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้น ในระยะแรกจะต้องเป็นประชาธิปไตย โดยการนำของครู (Guided Democracy) เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีระเบียบแบบแผน”

พอเห็นคำว่า Guided Democracy หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” ทำให้นึกถึง การปกครองของประธานาธิบดีซูการ์โนในอินโดนีเซีย ในช่วงราว พ.ศ.2500-2509 (ช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติถูกแต่งขึ้น) ที่พยายามจะสร้างระบบประชาธิปไตยที่เป็นลักษณะเฉพาะแบบอินโดนีเซียขึ้นมา โดยอ้างย้อนกลับไปถึงวิธีการพูดคุยปรึกษาหารือกันของสมาชิกหมู่บ้านในอดีต จนกว่าจะสามารถบรรลุแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ (Gotong Royong) โดยไม่ต้องออกเสียงโหวตตามระบบประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตก

งานศึกษามากมายต่างลงความเห็นว่า ประชาธิปไตยแบบชี้นำ ทั้งของอินโดนีเซียและที่อื่นทั่วโลก แม้จะมีคำว่าประชาธิปไตย แต่เนื้อหาสาระก็ไกลห่างจากหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยมากนัก เพราะนโยบายทุกสิ่งอย่างล้วนทุกกำหนดและตัดสินใจจากชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ โดยอ้างว่าเป็นฉันทามติร่วมของสังคมจากการปรึกษาหารืออย่างดีแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นการหารืออย่างไร้การมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน

ดังนั้น การพูดถึงประชาธิปไตยโดยการนำของครูใน หนังสือโรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ จึงตอกย้ำหลักการโดยตัวของมันเองอย่างชัดเจนว่า ในทัศนะของรัฐไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โรงเรียนมิใช่พื้นที่ที่รัฐจะยอมให้มีการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตยแต่อย่างใด

 

แม้หนังสือจะเขียนว่า จะต้องให้เด็กรู้จักการปรึกษาหารือกัน ฟังความคิดเห็นของกันและกัน พูดกันทีละคน เปิดโอกาสให้นักเรียนคนอื่นพูดบ้าง ฟังมติของที่ประชุม และดำเนินการตามมติของที่ประชุม

แต่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องปลีกย่อย และเกือบทั้งหมดจะเน้นไปที่การหารือเพื่อแบ่งงานกันทำตามที่ได้รับมอบหมายมาจากครู มากกว่าที่จะเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในประเด็นที่นักเรียนอยากแสดงออก

ด้วยเหตุนี้ แม้หนังสือจะพูดถึงการสร้างจิตใจประชาธิปไตยให้แก่นักเรียน แต่นั่นก็เป็นเพียงเปลือกไว้อวดโชว์ว่าสังคมไทยคือประเทศโลกเสรี แต่เนื้อแท้ข้างในคือการกำหนดและควบคุมนักเรียนให้คิดและทำในแบบที่ครูกำหนดมาแล้วทั้งสิ้น

ยิ่งพิจารณาคู่ไปกับการออกแบบระเบียบกฎเกณฑ์มากมายและยิบย่อยที่หลายอย่างปราศจากซึ่งเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นทรงผม เครื่องแบบนักเรียน ความยาวเล็บ ไปจนถึงการลงโทษที่รุนแรงหากนักเรียนละเมิดกฎเกณฑ์ที่แสนจะไร้เหตุผลดังกล่าว (ดังที่ได้อธิบายไปในสองตอนก่อนหน้านี้) เราก็จะยิ่งเห็นชัดว่า เป้าหมายหลักในการออกแบบโรงเรียนไทย คือ การสร้างพื้นที่แห่งระเบียบวินัย เพื่อควบคุมพฤติกรรม เพื่อสอดส่องตรวจสอบ

และเพื่อการบังคับปลูกฝังอุดมการณ์แห่งรัฐลงสู่นักเรียน

 

ทั้งหมดที่กล่าวมา แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนไทยเมื่อราว 50 ปีก่อน แต่หากพิจารณาในรายละเอียด เราคงต้องยอมรับว่า หลายสิ่งอย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้กำหนดแนวทางเอาไว้ให้แก่โรงเรียนเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนนั้น ยังคงอยู่กับโรงเรียนไทยในปัจจุบัน

สังคมไทยพูดถึงมานานแล้วนะครับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา

การเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง

การปลูกฝังให้นักเรียนกล้าคิดและกล้าแสดงออก

ซึ่งทั้งหมดจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย หากโรงเรียนไทยยังคงสืบทอดทัศนคติแบบที่ หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ ได้วางแนวทางเอาไว้