ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 3-10 ธันวาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

ขณะที่กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’

จัดทำหนังสือ ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’

รวบรวมความรู้เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนมี

วิธีการพิทักษ์สิทธิในเบื้องต้น

การใช้กลไกทางกฎหมายในการร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

การรวมกลุ่มสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงสิทธิที่ตนเองมี และสร้างกลุ่มนักปกป้องสิทธิรุ่นใหม่

แจกจ่ายให้กับนักเรียนทั่วประเทศ

ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

เพียงแค่วันแรกมีผู้แสดงความจำนงขอรับหนังสือเล่มนี้แล้วถึง 11,403 เล่ม

 

ขณะเดียวกัน คอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” ของชาตรี ประกิตนนทการ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ได้นำหนังสือ “เก่า” เล่มหนึ่งมากล่าวถึงเป็นสัปดาห์ที่สอง

นั่นคือ หนังสือ “โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ”

อันเสมือนเป็นคำภีร์ปฏิบัติของโรงเรียนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

และสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เช่น ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเลยว่า กิจกรรมที่เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูต้องปฏิบัติ คือ

“…การตรวจร่างกายเด็กตอนเช้า หลังจากการร้องเพลงชาติหรือก่อนตั้งต้นเรียนวิชาต่างๆ ตามตารางสอน ดูเล็บ ผม ผิวหนัง เครื่องแต่งกาย

โรงเรียนที่ดีควรมีที่ตัดเล็บ ตัดผม ยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด และพร้อมที่จะใช้การได้ทันที ในเมื่อพบเด็กเล็บยาว ผมเผ้ารุงรัง หรือมีเหา เป็นหิด…”

นอกจากนี้ ในหนังสือยังกำหนดถึงสิ่งที่โรงเรียนขาดไม่ได้

ดังที่ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ลำพังแต่ของสามอย่าง คือ ธงชาติ พระพุทธรูป และพระบรมฉายาลักษณ์นั้นย่อมมีความสำคัญในตัวเอง จำเป็นจะต้องอบรมสั่งสอนให้เด็กได้รู้จักสำนึกถึงความสำคัญโดยถ่องแท้…

ธงชาติจะต้องเน้นในเรื่องชาติไทย ประเทศไทย และคนไทย

พระพุทธรูปจะต้องเน้นในเรื่องพุทธคุณ พระธรรมคุณ ศีลธรรมและความสงบสุข

พระบรมฉายาลักษณ์จะต้องเน้นในเรื่องจุดรวมอันสูงสุดทางจิตใจของคนไทย และพระมหากรุณาธิคุณ…”

ไม่เพียงแค่นั้น หนังสือยังย้ำต่อว่า

“…ครูพึงระลึกไว้ว่า เสาธงและธงชาติ โต๊ะหมู่บูชา และพระพุทธรูปกับพระบรมฉายาลักษณ์นั้นไม่ใช่ของประดับโรงเรียน แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีประโยชน์ในการอบรมจิตใจของเด็ก ฉะนั้น จำเป็นจะต้องจัดแนวทางปฏิบัติของนักเรียนเพื่อส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ และให้มีคุณค่าในการศึกษาด้วย…”

 

อ่านในทัศนะเดิมและความคุ้นชินแล้ว

ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาใดๆ

ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติ “ตาม” เสียด้วยซ้ำ

แต่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ กลับยั่วให้แย้ง

โดยตั้งข้อสังเกตที่ทะลวงเข้าไปยังองค์ประกอบร่วมที่สำคัญอันขาดไม่ได้ของโรงเรียน อย่างแหลมคม

แหลมคมจนอาจทำให้ไม้เรียวในมือ “ครูไหว” ร่วงจากมือ ด้วยความตกใจก็ได้

ตกใจกับการตั้งข้อสังเกต “มุมกลับ” ของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ว่า องค์ประกอบสำคัญที่ว่าเหล่านั้น ได้ทำให้พื้นที่โรงเรียนได้กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

มากกว่าพื้นที่ของการเรียนรู้ หรือไม่

และยิ่งกว่านั้น ไฉนทำให้ประโยคที่ว่า “โรงเรียนคือเผด็จการแห่งแรกในชีวิต” ถูกประเมินว่าเป็นความจริงที่ถูกสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน

 

ทําไมอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ จึงตั้งคำถาม และมีข้อสังเกตเช่นนั้น

โปรดอ่านและทำความเข้าใจอย่าง “เปิดกว้าง” ที่หน้า 33

ซึ่งทำให้เราอาจเชื่อมโยง และเข้าใจ

ความต่อเนื่องจากหนังสือ “เก่า” — “โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ”

มาถึง ณ พ.ศ.นี้ ว่าทำไมกลุ่มนักเรียนเลว ถึงต้องมีหนังสือ “ใหม่” — ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’

ขึ้นมาอ่านใน “เจน” ของพวกเขา!?!