ตลาดเก่าเยาวราช เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จาก “ชีวประวัติและงาน” ของ เสถียร โพธินันทะ อันเรียบเรียงโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2510

เสถียร โพธินันทะ เกิดวันจันทร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเส็ง

ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2472 เวลาประมาณ 08.00 น. ณ บ้านเลขที่ 224-226 ตรอกอิศรานุภาพ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ตลาดเก่าเยาวราช ตั้งอยู่ใกล้วัดกันมาตุยาราม อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร

บิดาชื่อ นายตั้งเป็งท้ง มารดาชื่อ นางมาลัย

มีพี่สาว 2 คน และเพราะเหตุที่เป็นลูกชายคนสุดท้องจึงได้รับความเมตตาและการตามใจจากมารดาค่อนข้างมาก

ร้านค้าของมารดา บิดา มีชื่อว่า “ท.วัฒนา” ชื่อภาษาจีนว่า “ตั้งท่งอวด”

เป็นร้านค้าปลีกและส่งของชำและเครื่องกระป๋อง นับว่ามีกิจการค้าเจริญดีร้านหนึ่งในตลาดเก่าเยาวราช

ในชั้นแรก ด.ช.เสถียร ใช้นามสกุลว่า “กมลมาลย์” ตามที่มารดาขอจดทะเบียนไว้

เป็นอันว่า “เสถียร” ในวัยเยาว์มิได้เป็น เสถียร โพธินันทะ หากแต่เป็น เสถียร กมลมาลย์

เมื่อมารดาตั้งท้อง นายตั้งเป็งท้ง บิดา มีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศจีนและถึงแก่กรรมในกาลต่อมา

ด.ช.เสถียร จึงเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก

อาศัยที่มารดาเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ พูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน รู้จักวางตนให้เป็นที่ยำเกรงของลูกจ้าง และเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย จึงสามารถปกครองและอำนวยการร้านค้าให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา

ทั้งยังสามารถเลี้ยงดูบุตรธิดาให้มีความสุขความเจริญโดยควรแก่ฐานะ

โดยเฉพาะธิดาทั้ง 2 คน พี่สาวของ เสถียร โพธินันทะ เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้แต่งงานแยกครอบครัวไปเป็นหลักฐาน คงเหลือแต่มารดากับคุณยายและ เสถียร โพธินันทะ ต่อมาคุณยายผู้ชราก็ถึงแก่กรรม จากไปอีกท่านหนึ่ง

เมื่ออายุพอจะรับการศึกษาเล่าเรียนได้ มารดาจึงนำไปฝากให้เรียนในโรงเรียนราษฎรเจริญ ของครูชม เปาโรหิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สำเพ็งและใกล้วัดจักรวรรดิราชาวาส

เมื่อจบชั้นประถมศึกษาก็ได้ส่งต่อไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข

นี่คือพื้นฐานการศึกษาใน “ระบบ” ของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ในเบื้องต้น และ นายเสถียร กมลมาลย์ ในกาลต่อมา

เป็นการเรียน “โรงเรียนไทย” อย่างเป็นด้านหลัก

ความน่าสนใจจากชีวประวัติอัน สุชีพ ปุญญานุภาพ เรียบเรียง โดยน่าจะเป็นข้อมูลจากนางมาลัย ผู้เป็นมารดา

ประการ 1 อยู่ตรงที่เมื่อถึงชั้น ม.5 ก็ได้ลาออก

สุชีพ ปุญญานุภาพ ระบุว่า การลาออกทั้งที่มีโอกาสและมีทุนจะศึกษาในชั้นสูงต่อไปได้เป็นอย่างดีนี้เป็นความปรารถนาของ เสถียร กมลมาลย์ เอง

เพราะ “ไม่ชอบการสอบไล่ แต่ชอบความเป็นอิสระ”

ขณะเดียวกัน ประการ 1 ก็มีความ “ปรารถนาจะมีเวลาเป็นของตนเองในการค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการ โดยเฉพาะคือความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่”

ความโน้มเอียงมาทางพระพุทธศาสนาของ เสถียร กมลมาลย์

“มีมาตั้งแต่อายุน้อย กล่าวคือ เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมเป็นคนจีนก็ชอบเล่นแต่งกายเป็นพระจีน การวาดเขียนที่ชอบมาก คือชอบเขียนรูปพระพุทธเจ้า และเขียนรูปบุคคลประกอบตามเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 17 ปี ได้นำภาพวาดทางพระพุทธศาสนาเหล่านั้นมาให้ สุชีโว ภิกขุ ดูด้วย”

หากถือเอาปี พ.ศ.2472 เป็นบรรทัดฐาน นั่นหมายความว่า เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในระยะไม่น่าจะเกินจากประมาณปี พ.ศ.2489

การเรียนรู้ของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ อาจเริ่มต้นจากการศึกษาในระบบ คือโรงเรียนราษฎรเจริญ ใกล้วัดจักรวรรดิราชาวาส และโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข

แต่อีกด้าน คือ ผลสะเทือนจากบรรยากาศใน “เยาวราช”

เป็นบรรยากาศจากวัดจีน วัดญวน และรวมถึงวัดกันมาตุยาราม และวัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน

การเรียนรู้จากวัดอันเท่ากับเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองจึงสำคัญ