คุยกับทูต มูฮัมหมัด ไตยญาบ ปากีสถานกับการทูตฝ่ายทหาร (ตอน 1)

 

คุยกับทูต มูฮัมหมัด ไตยญาบ

ปากีสถานกับการทูตฝ่ายทหาร (ตอน 1)

 

อีกแง่มุมหนึ่งของความสัมพันธ์ไทย-ปากีสถาน คือความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ไทยและปากีสถานเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือซีโต้ (SEATO)

ซีโต้จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญามะนิลา ลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1954 มีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค สำนักงานใหญ่ของซีโต้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่ได้ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1977

ต่อมาได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศหลังการจัดตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร (Defence Attaché) ซึ่งเป็นผู้แทนทางทหารของกระทรวงกลาโหมประจำสถานทูตของทั้งสองประเทศ

โดยจัดตั้งสำนักงานทูตทหารขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศปากีสถานปี 2007 และสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทยในปี 2008

กองทัพปากีสถานและกองทัพไทยได้จัดเวทีปรึกษา หารือร่วมกันหลายรูปแบบเป็นประจำทุกปีทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงอิสลามาบัด

การทูตทางการทหารเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทูตระหว่างประเทศ ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐชาติต่างๆ

แนวคิดหลักคือการพัฒนาพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการป้องกันและความมั่นคง

การทูตทางทหารครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมด รวมถึงการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมและความร่วมมือในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ช่วยแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดซึ่งกันและกันและอำนวยความสะดวกในการจัดการภัยคุกคามด้านความปลอดภัยข้ามชาติผ่านกลไกร่วมกัน

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

ปัจจุบัน พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) คือผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทยคนล่าสุดเขตอาณาครอบคลุมประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีหน้าที่ดูแลการทำงานด้านการป้องกันประเทศร่วมกับประเทศดังกล่าว

และวันนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเพื่อพบปะสนทนากัน ณ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สถานเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย

“ในฐานะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย บทบาทของผมถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและกองทัพปากีสถาน ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคง ระหว่างปากีสถานกับประเทศไทยและมิตรประเทศอื่นๆ ให้มีความแข็งแกร่งซึ่งมิตรภาพอันแน่นแฟ้น และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อปากีสถานในเวทีระดับนานาชาติในอนาคต”

ประเด็นที่อยู่ในความสนใจอันเกี่ยวพันกับความมั่นคงของปากีสถานขณะนี้ หนึ่งในนั้นคือ อัฟกานิสถาน ด้วยความที่ปากีสถานมีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานยาวถึง 2,400 กิโลเมตร

ปากีสถานจึงมีความกังวลต่อความไม่สงบในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ปากีสถานมีชายแดนติดต่อกับอัฟกานิสถานตามเส้นสีแดง ภาพ- Wikimedia

สาเหตุที่อัฟกานิสถานเกิดความโกลาหลวุ่นวายและสับสนมานานหลายทศวรรษ

“ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าชาวอัฟกันไม่เคยยอมรับการยึดครองของต่างชาติ และนี่คือสิ่งที่ปากีสถานสนับสนุนประชาคมระหว่างประเทศมาโดยตลอด เพราะไม่มีวิธีในการแก้ปัญหาทางทหารสำหรับอัฟกานิสถาน สันติภาพในอัฟกานิสถานสามารถทำได้โดยผู้นำอัฟกานิสถานและกระบวนการปรองดองของอัฟกานิสถานเท่านั้น”

วิกฤตในอัฟกานิสถานที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีส่งผลกระทบกับปากีสถานอย่างไร

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้คนในอัฟกานิสถานได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากความขัดแย้งสี่ทศวรรษ และปากีสถานในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ย่อมได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงในอัฟกานิสถาน พลเมืองของเรามากกว่า 80,000 คนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจกว่า 150 พันล้านดอลลาร์”

“ดังนั้น ปากีสถานจึงมีส่วนสำคัญต่อความสงบสุขในอัฟกานิสถาน”

 

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในอัฟกานิสถานและมุมมองของปากีสถาน

“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนทางการเมืองของอัฟกานิสถาน โดยมีบทบาทในสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศของตน ปากีสถานจึงยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเจรจาในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าทางการเมือง”

ดังที่ทราบกัน รัฐบาลชั่วคราวในอัฟกานิสถานได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้สะท้อนถึงข้อตกลงทางการเมืองที่ครอบคลุม

“ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องอดทนต่อระบอบการปกครองในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน เพื่อให้พวกเขาได้บรรลุถึงรูปแบบการปกครองที่ยั่งยืนโดยครอบคลุมผู้คนทุกฝ่ายการเมืองของชาวอัฟกัน”

 

 

 

ประชาคมระหว่างประเทศควรมีบทบาทอย่างไรเพื่อความมั่นคงในอัฟกานิสถาน

“สันติภาพในอัฟกานิสถานเป็นความรับผิดชอบระหว่างประเทศร่วมกัน ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศมีส่วนร่วมกับอัฟกานิสถาน ซึ่งรวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดรูปแบบใหม่ การช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ลี้ภัย และวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้าย”

แต่เราได้ยินมาว่าปากีสถานปฏิเสธที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน

“ในเบื้องต้น ผมขอชี้แจงในความเป็นจริงว่าไม่มีการปฏิเสธเช่นนั้น เพราะปากีสถานเป็นผู้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันกว่า 3 ล้านคนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ไม่มีประเทศอื่นใดที่จะสามารถกล่าวอ้างว่าได้ให้ความช่วยเหลือมากมายขนาดนี้แก่ชาวอัฟกัน”

“จนถึงปัจจุบัน เรายังคงอำนวยความสะดวกในการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวอัฟกันที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ โดยการเปลี่ยนเครื่องผ่านปากีสถาน นอกจากนี้ สถานทูตของเราในกรุงคาบูลก็ได้ออกวีซ่าให้มากกว่า 1,500 ใบต่อวัน”

“จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ที่ต้องแสดงความเอื้ออาทร เพื่อรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันที่พากันหลั่งไหลออกจากประเทศไปหาที่พักพิงใหม่”

 

 

 

บทบาทของปากีสถานในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวอัฟกัน

“ผมยินดีกับคำถามนี้ เนื่องจากปากีสถานมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับทวิภาคีอย่างเต็มที่ และได้ขยายความช่วยเหลือด้านการพัฒนาไปแล้วกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการต่างๆ ในอัฟกานิสถาน ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน”

“เรายังได้ร่วมมือกับโครงการอาหารโลก (World Food Program : WFP) เพื่อสร้างสะพานเชื่อมทางอากาศระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมได้ไปถึงอัฟกานิสถานตั้งแต่ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า อัฟกานิสถานต้องการ “สะพานอากาศเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรม” (Humanitarian Air Bridge) ที่ไว้ใจได้อย่างเร่งด่วน เพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาประเทศ และเป็นเที่ยวบินที่วางแผนไว้กับสายการบินปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ (Pakistan International Airlines) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์อย่างเร่งด่วนในอัฟกานิสถาน

เราต่างเห็นจากสื่อต่างประเทศถึงการอพยพที่วุ่นวายและสิ้นหวังของชาวต่างชาติและชาวอัฟกันเพื่อออกจากกรุงคาบูล และเข้าใจว่าปากีสถานมีบทบาทสำคัญในการอพยพ

“ผมภูมิใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า ปากีสถานเป็นผู้ดำเนินการอพยพครั้งใหญ่ของคณะผู้แทนทางการทูต องค์กรระหว่างประเทศ ตัวแทนสื่อต่างประเทศ และบุคลากรทางทหาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 11,000 คน จากสนามบินคาบูล สิ่งนี้ทำให้เรา… ปากีสถาน ได้รับความชื่นชมจากบรรดาผู้นำกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วย”

 

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอัฟกานิสถาน มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะหยุดชะงัก

“แน่นอนว่าเป็นไปได้ และน่าเสียดายที่มี ‘ผู้ขัดขวางหรือผู้ทำลาย’ สองประเภท ที่ไม่ต้องการเห็นข้อตกลงที่เปิดประตูสู่การเจรจากันในอัฟกานิสถานและภูมิภาค”

“ประเภทแรก อยู่ในอัฟกานิสถาน โดยเป็นผู้ก่อการร้ายข้ามพรมแดนเข้ามาโจมตีทหารและพลเรือนของปากีสถาน อาจเป็นที่น่าแปลกใจว่า ปีที่แล้วเพียงปีเดียวมีการโจมตีข้ามพรมแดนมากกว่า 870 ครั้ง ดังนั้น ปากีสถานคาดว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่กำหนดกลุ่มผู้ก่อการร้าย จะไม่อนุญาตให้มีปฏิบัติการต่อต้านปากีสถานจากดินแดนอัฟกานิสถาน”

“ส่วนประเภทที่สอง อยู่นอกอัฟกานิสถาน ซึ่งไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนประเภทแรกในอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนอุปถัมภ์การก่อการร้ายต่อปากีสถานต่อไป”

UNSC ถือเป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของสหประชาชาติ และเป็นองค์กรในสหประชาชาติที่มีอิทธิพลรองลงมาจากสมัชชาใหญ่ที่สามารถตัดสินใจสิ่งที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในประชาคมโลก รวมถึงมีอำนาจในการเรียกระดมพลจากบรรดารัฐสมาชิกในสหประชาชาติ เพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพในสงครามหรือประเทศต่างๆ อีกทั้งยังมีอำนาจในการคว่ำบาตรและบอยคอตทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่ขององค์กรในสหประชาชาติไม่น้อย โดยเฉพาะในวิกฤตต่างๆ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

พันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ (Colonel Muhammad Tayyab) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารปากีสถานประจำประเทศไทย

อัฟกานิสถานที่สงบสุขมีความหมายอย่างไรต่อการพัฒนาภูมิภาค

“อัฟกานิสถานที่มั่งคั่งและมั่นคงจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศในภูมิภาค โดยมุ่งเป้าไปที่การบูรณาการและการเชื่อมโยงไปยังเอเชียกลางและทะเลอาหรับ (Arabian Sea) และแน่นอนว่า อัฟกานิสถานก็จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสภาพแวดล้อมที่สงบสุขนี้ด้วยเช่นกัน”

 

ปากีสถานกับการรักษาสันติภาพในนามยูเอ็น

“ปากีสถานเป็นหนึ่งในกองทหารที่ใหญ่ที่สุดที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 1947 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปากีสถานได้ส่งผู้รักษาสันติภาพมากกว่า 200,000 คนไปยัง 28 ประเทศในสี่ทวีปทั่วโลก ตลอดภารกิจที่ยากลำบากเหล่านี้ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพชาวปากีสถาน 158 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ 24 คน และพนักงานหญิงอีกหนึ่งคนต้องสละชีพ”

“งานรักษาสันติภาพของสหประชาชาติมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและธรรมชาติของภารกิจงานรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เป็นการสร้างลักษณะเฉพาะของสันติภาพในประเทศ ภายใต้หมวกสีน้ำเงิน และปากีสถานมีส่วนสนับสนุนสันติภาพ ในพื้นที่ความขัดแย้งเสมอมา”

โดยพันเอกมูฮัมหมัด ไตยญาบ ย้ำว่า

“ภารกิจที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่รักสันติภาพ และพยายามดิ้นรนเพื่อสันติภาพภายในและภายนอกพรมแดนของเราเสมอ”