เงินเฟ้อ-เงินฝืด-สแตกเฟลชั่น กับการเมืองโลกเรื่องน้ำมัน/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

เงินเฟ้อ-เงินฝืด-สแตกเฟลชั่น

กับการเมืองโลกเรื่องน้ำมัน

 

การเปิดศึกเพื่อ “กำหนด” ราคาน้ำมันดิบ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรชั่วคราว 4-5 ประเทศ กลายเป็นศูนย์รวมความสนใจจากทั่วโลกตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา

เพราะเดิมพันในเรื่องนี้ใหญ่โตไม่ใช่น้อย และไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบถึงทุกประเทศ จะมากจะน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศไทย ที่บรรดา “สิงห์รถบรรทุก” เพิ่งออกมาแสดงพลังกดดันรัฐบาลมหาศาลไปเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ การประกาศปล่อยน้ำมันดิบสำรองจากคลังปิโตรเลียมสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) ของสหรัฐอเมริกา สอดประสานกับประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ๆ อย่างจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอังกฤษ เมื่อ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ขึ้นบนโลก

ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่ามีการรวมตัวกันของบรรดาชาติที่ “นำเข้า” น้ำมัน เพื่อแสดงอำนาจต่อรองกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในรูปแบบเช่นนี้มาก่อน

การปล่อยน้ำมันสำรองในคลังยุทธศาสตร์ทุกครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ซัพพลาย ซึ่งก็คือปริมาณน้ำมันในตลาดขาดแคลน อย่างเช่นที่เคยเกิดเมื่อสหรัฐอเมริกาส่งกองทัพบุกอิรักหนแรก หรือเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในลิเบีย ชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) รายใหญ่ เป็นต้น

มีแต่ครั้งนี้ ที่ 6 ชาติจับมือกันปล่อยน้ำมันสำรองออกมา เพื่อกดให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง

เป็นการแสดงอาการ “ท้าทาย” โดยตรงต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่รวมตัวกันในนาม “โอเปคพลัส” 32 ชาติ

โดยมีประเทศ “ผู้บริโภคน้ำมัน” อีกหลายต่อหลายชาติ รวมทั้งประเทศไทย คอยลุ้นแบบ “เสมอนอก” อยู่แบบใจหายใจคว่ำ

 

เหตุผลที่หลายๆ ชาติคอยลุ้นอยู่ก็เพราะราคาน้ำมันแพง ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (อินเฟลชั่น) ขึ้นในประเทศผู้บริโภคน้ำมันเหล่านั้น

ที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะราคาน้ำมันแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าแพงขึ้น การขนส่งสินค้าก็แพงขึ้น ทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคมีค่าลดลง เพราะซื้อหาข้าวของได้น้อยลง

ประเทศอย่างจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เจอปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นทุกที ตัวอย่างเช่นจีน พุ่งเกิน 6 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีไปแล้ว

บางประเทศสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะเงินฝืด (ดีเฟลชั่น) คือภาวะที่กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างชะลอลดต่ำลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่ยอมใช้จ่ายด้วยความกังวลต่ออนาคต ผู้ผลิตก็ชะลอการผลิต ชะลอการขึ้นเงินเดือนให้กับแรงงานทั้งหลาย สุดท้ายก็วนกลับมากระทบต่อเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคอีกครั้ง

ในยามปกติ ระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ มักต้องการให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นเล็กน้อย เพราะจะกลายเป็นเครื่องกระตุ้นให้บริษัทธุรกิจ พากันผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากขายได้ราคาสูงขึ้น การผลิตเพิ่มทำให้ต้องจ้างงานมากขึ้น อาจส่งผลไปถึงการเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้บริโภคให้มากขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น อยากซื้อหาสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

แต่ในยามนี้ หลายประเทศเพิ่งโงหัวขึ้นมาจากภาวะถดถอยซบเซาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกหลายประเทศเพิ่งตั้งหลัก ลุกขึ้นยืนได้เท่านั้น

ภาวะน้ำมันแพงจึงส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับอีกสารพัดปัญหาอยู่ในเวลาเดียวกันนี้ ตั้งแต่เรื่องหนี้สินมหาศาลที่เกิดจากการกู้ยืมมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด และกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องการขาดแคลนแรงงานจนกระทบต่อการผลิต การขนส่ง

ที่ทำให้เกิดปัญหาลุกลามไปถึงระบบห่วงโซ่การผลิตของโลก เกิดขาดแคลนวัตถุดิบบ้าง เกิดปัญหาไม่สามารถลำเลียงสินค้าไปถึงปลายทางได้ตรงเวลาบ้าง ฯลฯ

 

แต่ที่กังวลกันมากที่สุดก็คือ กลัวกันว่า ภาวะน้ำมันแพงจะส่งผลถึงขนาดทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า “สแตกเฟลชั่น” ขึ้นตามมาในบางประเทศ

สแตกเฟลชั่น เป็นสภาวะที่ทุกชาติไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะหมายถึงสถานการณ์ที่เกิดเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าแพง แต่เศรษฐกิจกลับซบเซา ผู้ผลิตไม่ยอมผลิต ไม่ยอมจ้างงาน ผู้บริโภคไม่จับจ่ายใช้สอย เงินในกระเป๋าก็เรียวเล็กลงเรื่อยๆ

เหมือนกับเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและเงินฝึดไปพร้อมๆ กันในคราวเดียว ซึ่งส่งผลให้แก้ไขปัญหาได้ยากมาก

เพื่อหลีกเลี่ยงสแตกเฟลชั่น ทุกประเทศก็ต้องพยายามลดปัญหาเงินเฟ้อลงให้ได้ โดยอาศัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พยายามให้เงินเฟ้อชะลอช้าลง

นั่นทำให้การกำหนดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีนัยสำคัญต่อทั้งโลก

และมีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ที่นักวิเคราะห์พากันคาดการณ์ว่า น่าจะหนีภาวะสแตกเฟลชั่นกันไม่พ้นครับ