ให้ตำรวจเล็กลง ไม่ต้องให้โง่

ผมเขียนถึงองค์กรตำรวจในคอลัมน์นี้หลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์อันเกิดจากความผิดพลาดของตัวเอง โดยพยายามเจืออารมณ์ขันลงไปบ้างตามนิสัย แม้บางหนบางทีจะหัวเราะไม่ออกเมื่อต้องผจญกับความเลวร้ายของระบบและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชาบางคน

ครั้งยังเป็นนายร้อย ผมเขียนด้วยความ “ชัง” ตำรวจเสียจนเพื่อนรักคนหนึ่ง (ปรีชา ประเสริฐ, พล.ต.ต.) ทักว่า “มึงเกิดเร็วไปหน่อย”

เป็นเพียงส่วนน้อยที่ผมจะพูดถึงเรื่องดีของตำรวจ เหตุที่เป็นดังนี้เพราะเกรงว่าอาจจะมีอคติที่ตัวเองเคยเป็นตำรวจ หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของ “นักเขียน” ว่า เรื่องดีๆ ของตำรวจเป็นเรื่องรูทีน เรื่องกิจวัตร เป็นเรื่องปกติธรรมดาเหมือนกับการตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน กินกาแฟแล้วขับรถไปทำงาน (ซึ่งคนเป็นนักเขียนอาชีพทั่วไปจะไม่เขียนกัน)

แต่พอเวลาผ่านมาถึงยุค “ปฏิรูปตำรวจ” ผมค่อนข้างจะเขียนถึงตำรวจในแง่มุมที่ดี และบ่อยๆ เหมือนเขียนแก้ตัวให้ตำรวจที่ถูกเข้าใจผิด

และหลายครั้งยอมรับว่าเขียนด้วยความรู้สึกหงุดหงิดเหมือนคนถูกใส่ร้าย เพราะมีบางความคิดที่อคติต่อตำรวจอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงขนาดที่กล่าวหาว่า

“ตำรวจไม่ต้องการให้มีการปฏิรูปเพราะหวงอำนาจและผลประโยชน์ในทางทุจริต”

นั่นก็แค่หงุดหงิดเท่านั้น

เพราะผมเชื่อว่าสมาชิกสภาปฏิรูปหรือคณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่ท่านเข้าใจตำรวจดีว่า ตำรวจส่วนใหญ่นี่แหละที่ถูกอำนาจและผลประโยชน์ทำร้ายจนต้องการปฏิรูป!

แต่ที่ผมทนไม่ค่อยไหวก็คือ เหมือนมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เพียงแต่ต้องการลดอำนาจของตำรวจเท่านั้น แต่ดูเหมือนพวกเขาต้องการให้ตำรวจโง่ด้วย!

ทุกประเทศในโลก ตำรวจ ทหารและข้าราชการ ต้องเป็นมือเป็นไม้ให้รัฐบาล จึงเป็นการยาก (และผิดธรรมชาติ) ที่จะไม่ให้พวกเขามีอำนาจ ตำรวจย่อมเป็นยักษ์ที่ต้องมีตะบอง

ตะบองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาวุธอย่างเดียว แต่หมายถึงอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประเพณีบางประการ (ที่ไม่จำต้องบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร)

ไม่งั้นก็จะทำอะไรไม่ได้ แม้แต่เรียกตรวจใบขับขี่คนขับรถก็ไม่ได้ (ฮา)

แต่อำนาจถ้ามากไปหรือควบคุมไม่ได้จะอันตรายเสียยิ่งกว่า ดังนั้น ทุกสังคมก็ต้องพยายามมิให้บุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือแบ่งสรรหรือกระจายไปยังหน่วยอื่นหรือหน่วยรอง

ที่กล่าวว่ามีคนบางกลุ่มต้องการให้ตำรวจ “โง่” ไปพร้อมกันกับการลดอำนาจนั้น มิใช่เป็นการกล่าวประชดแดกดัน เราจะเห็นได้ว่าในช่วงแรกของการมีคณะกรรมการปฏิรูปนั้น มีบางคนออกอาการราวกับเป็นผู้ชนะในการปฏิวัติ ถึงขนาดว่าทนายความคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกคณะปฏิรูป ประกาศก้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า

“ต่อไปนี้จะไม่มี สตช. ไม่มี ก.ตร. ตำรวจจะต้องเป็นตำรวจของประชาชน”

งานที่เป็นภาระหน้าที่ของตำรวจ และหน่วยงานที่เสริมสร้างประสิทธิภาพของตำรวจ ทำให้ดูตำรวจฉลาด เป็นสากล ทันโลกและตามทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น งานสืบสวนสอบสวน งานตรวจคนเข้าเมือง งานนิติเวช งานนิติวิทยาศาสตร์หรืองานพิสูจน์หลักฐาน ฯลฯ

“งานเหล่านี้จะอยู่กับองค์กรตำรวจไม่ได้” พวกเขาอ้างว่า “เพราะเป็นที่มาของเงิน อำนาจ อิทธิพลและเครือข่ายความชั่วร้าย”

ผมมีความรู้สึกว่า ที่เขาต้องการให้โอนงานบางอย่างไปให้หน่วยงานอื่นนั้น เหมือนกับต้องการให้สอบสวนไม่เป็น ไม่ต้องมีความรู้ในนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ให้รู้เรื่องการก่อการร้ายยุคใหม่ กับไม่ต้องการให้ตำรวจไทยมีคอนเน็กชั่นกับตำรวจสากล

กล่าวอย่างสรุปก็คือ พวกเขาต้องการให้ตำรวจไทย “โง่” นั่นเอง

ประเด็นข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ คงจำได้ว่าก่อนหน้านี้ก็มีหมอคนหนึ่งดูหมิ่นว่างานนิติเวชของตำรวจไม่น่าเชื่อถือในกรณีพิสูจน์การตายอย่างมีเงื่อนงำรายหนึ่ง และคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีกคดีหนึ่ง คุณหมอก็ร่วมกับคู่กรณีอีกฝ่ายร้องขอผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาพิสูจน์ซ้ำ ด้วยความไม่ไว้ใจประสิทธิภาพตำรวจไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อดิสเครดิตตำรวจไทย

คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง อ้างคำพูดของนักสร้างกระแส “โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นโรงเรียนโจร”

แม้แต่ตำรวจเอง อำนาจและผลประโยชน์ก็ทำให้แสร้งดูถูกดูหมิ่นกันเอง…

…ในการแต่งตั้ง ผบช.สตม. (ตรวจคนเข้าเมือง) ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพูดกับ ผบช. ที่ถูกแซะเก้าอี้ว่า “ต้องย้ายพี่ เพราะพี่ไม่ใช่นักเรียนนอก”

ทั้งที่ ผบช.สตม. ท่านนี้ก็พูดและอ่านภาษาอังกฤษเป็นประจำ ทำงานกับตำรวจฝรั่ง เป็นนักแปลหนังสือขายดี และศึกษาเพิ่มเติมหลายหลักสูตร รวมทั้งเอฟบีไอ สหรัฐอเมริกาและสกอตแลนด์ยาร์ด ประเทศอังกฤษ

ผมเขียนเล่ามาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายจะโต้แย้งนักวิชาการและคอลัมนิสต์ น.ส.พ. หรือต่อต้านการปฏิรูปที่กำลังดำเนินการกันอยู่

ผมเพียงหวังว่าคนเสพสื่อจะไม่คล้อยตามนักพูดและนักสร้างกระแสผู้มีอคติ เพื่อจะได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการในชุดของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ด้วยอีกโสตหนึ่ง

ผมเชื่อว่าคณะปฏิรูปชุดนี้รู้ว่าประชาชนจะได้อะไรและจะเสียอะไรหากปฏิรูปไปตามลมปากของนักพูดและนักสร้างกระแส (ในนามของนักวิชาการ)

ต้นปีที่ผ่านมาตำรวจมีเรื่องที่เชิงบวกมากมาย อย่างหนึ่งคือการเพิ่มคุณภาพตำรวจ

คอลัมน์ “ชกคาดเชือก” มติชนสุดสัปดาห์ โดย “วงค์ ตาวัน” เล่าว่า สตช. ลงทุนเชิญอาจารย์จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และสำนักงานปราบปรามยาเสพติดจากสหรัฐ มาปักหลักที่ ร.ร.นรต. (สามพราน) จัดอบรมอย่างเข้มข้น 6 สัปดาห์ แก่นายตำรวจที่รับผิดชอบงานสืบสวน ระดับ พ.ต.อ. และ พ.ต.ท. จากทั่วประเทศ 152 นาย (โดยที่ก่อนหน้านี้ตำรวจไทยได้โควต้าไปรับการอบรมเพียงปีละแค่ 3 นาย)

ได้ข่าวว่า ร.ร.นรต. วางระบบทันสมัยแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาจจะไม่ต้องเรียนขี่ม้า แจวเรือ ขับและซ่อมรถยนต์ ฯลฯ แต่เปิดสอนวิชานิติวิทยาศาสตร์ วิชาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอื่นๆ ซึ่งผมจะติดตามข่าวเอามาเปิดเผยให้ทราบกันต่อไปในวันหน้า

สำหรับวันนี้ขอฝากกองบัญชาการศึกษา บรรจุวิชา “การต่อสู้ด้วยปากเปล่า” แทนวิชา “การต่อสู้ด้วยมือเปล่า” แก่นักเรียนตำรวจทุกระดับ โดยยกคำพิพากษาคดีแดง 1749/59 ศาล จว.สิงห์บุรี เป็นตัวอย่าง กรณีที่ตำรวจมีความอดกลั้น ไม่ยอมโง่ ใช้ปากเปล่าและใช้กฎหมายเป็นตะบอง…

“เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบใบอนุญาตขับรถ แต่กลับขอดูบัตรตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องแบบบริเวณจุดตรวจ ทั้งที่ไม่มีเหตุอันควรสงสัยหรือระแวงว่า พยานโจทก์ทั้งสามไม่ใช่ตำรวจ ล้วนบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”

“ข้ออ้างของจำเลยที่ไม่ยอมลงจากรถ ไม่ยอมส่งมอบใบขับขี่ เพราะไม่เชื่อว่าเป็นตำรวจ กลัวถูกทำร้าย จึงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอ เป็นความผิดตาม ปอ.328 วรรคแรก”