เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ภัยพิบัติกับการแพทย์ฉุกเฉิน

ภัยพิบัติประเภทหนึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การลอบวางระเบิดในหลายจังหวัดภาคใต้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เช่นที่หัวหิน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมคนหนึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน คือ นพพร วุฒิกุล มีทั้งขวัญและกำลังใจดี พรรคพวกโทรศัพท์ไปถามไถ่ด้วยความห่วงใย ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องเป็นห่วง จัดการสถานการณ์ได้เรียบร้อย ทั้งยังขอเชิญให้ไปเที่ยวพักผ่อนที่หัวหินดังเคย

การจัดการภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุใด บทบาทของท้องถิ่นตามที่ นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ บรรยาย มี 3 ประการ คือ

1. ก่อนเกิดสาธารณภัยท้องถิ่นจะมีบทบาทในการวางแผนอย่างน้อยต้องมี 3 แผนตามกำหนดดังนี้

– แผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมว่าใครต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไร

– แผนการจัดหาเครื่องมือป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

– แผนการจัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณในการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงภัยที่จะเกิดขึ้น

แผนการทั้ง 3 แผนต้องอยู่ในแผนป้องกันสาธารณภัยจังหวัด โดยแต่ละท้องถิ่นต้องมีการปะเมินความเสี่ยงเมื่อรู้ถึงความเสี่ยงนั้นให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องไปศึกษาอบรมว่าต้องทำอะไรอย่างไรให้เกิดองค์ความรู้

2. ระหว่างเกิดสาธารณภัยให้ท้องถิ่นนำแผนที่วางไว้มาใช้ แผนจะบอกว่าใครต้องทำอะไร ถ้ามีระบบพิเศษในแผนให้ตั้งศูนย์บริการเฉพาะกิจขึ้นมา ตามกฎหมายมาตรา 21 ผู้อำนวยการท้องถิ่นมีอำนาจดังนี้

– มีอำนาจสั่งข้าราชการพลเรือนในเขตนั้น รวมถึงบุคคลอื่นใดก็ตามในการช่วยเหลือป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีความหมายว่าสามารถสั่งข้ามหน่วยงาน และทั้งสั่งประชาชนได้

– สั่งใช้ยานพาหนะ

– สั่งใช้อาคารสถานที่ทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่นั้น

– สั่งใช้ระบบสื่อสารทุกระบบ

ทั้งนี้ รวมถึงการสั่งห้ามเข้าพื้นที่ใดๆ ที่เป็นอันตราย หลังออกประกาศแล้ว ทั้งการรักษาความสงบ ความปลอดภัยเมื่อเกิดบรรเทาสาธารณภัย

3. หลังจากเกิดสาธารณภัย ท้องถิ่นต้องสำรวจรายชื่อผู้ประสบภัยพิบัติแล้วทำบัญชีไว้เป็นหลักฐาน และให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เป็นหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้

ในอนาคต บริบทการจัดการภัยพิบัติระดับโลกซึ่งที่ประชุมสหประชาชาติต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิต ลดความสูญเสียจากภัยพิบัติลง ยุทธศาสตร์ในการวางแผนป้องกันภัยพิบัติจึงต้องวางแผนถึง 15 ปี

หลังจากผู้อำนวยการสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย บรรยายจบแล้ว ถึงคราวของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาหลายสมัย ทั้งยังเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาบรรยายในหัวข้อการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงประเด็นเรื่องท้องถิ่น

นายนิพนธ์บอกว่า หลังจากเกิดภัยพิบัติ มีการจัดระบบเป็นองค์ความรู้ที่มีกฎหมายรองรับ คือเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นใครต้องทำอะไร และมีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาสนับสนุน

พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินคือการจัดแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบ มีองค์กรรับผิดชอบชัดเจน และทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง มีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนนี้ทำให้ต้องพึ่งท้องถิ่น และเป็นกลไกนำการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานอย่างเป็นระบบ

ในฐานะที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์บอกถึงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินว่าได้ดำเนินการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัดขึ้น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน ด้วยการจัดซื้อรถพยาบาลพร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้บริการครบทุกตำบล เพื่อใช้เป็นรถพยาบาลประจำหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีเป้าหมายให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในสงขลามีทีมกู้ภัย มีความพร้อมในการเผชิญภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างถูกต้อง

รวมทั้งจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น : FR อบรมเชิงปฏิบัติการ “กู้ชีพ กู้ภัย ขับขี่ปลอดภัยใส่ใจวินัยจราจร” อบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการใช้ครุภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์รถพยาบาลฉุกเฉิน” อบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้และบำรุงรักษาครุภัณฑ์รถ EMS” จัดสัมมนาพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองท้องถิ่น และจัดประชุมแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2558

นายนิพนธ์ว่าถึงงานแพทย์ฉุกเฉินขององค์การบริหารจังหวัดสงขลาว่า เริ่มจัดทำศูนย์ประสานงานการแพทย์ฉุกเฉิน มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งได้รวบรวมศูนย์ที่มีอยู่มาไว้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ศูนย์ CCTV (กล้องวงจรปิด) และศูนย์ 191 ซึ่งทำให้เข้าถึงที่เกิดเหตุได้ตามเวลากำหนด

นายนิพนธ์คาดว่า ในอนาคตอาจใช้หมายเลขเดียวเพื่อแจ้งเหตุ และจะดำเนินการรวมดับเพลิงมาไว้ด้วยกัน ดังนั้น ระบบการแพทย์ฉุกเฉินจึงมีความสำคัญไม่เพียงแต่ท้องถิ่น หากยังในระดับประเทศ เป็นหัวใจช่วยลดความสูญเสีย และจะทำให้ระบบการแพทย์ของประเทศดียิ่งขึ้น

เป็นอันจบเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่นทั่วประเทศในช่วงครึ่งวันเช้า

ช่วงครึ่งวันบ่ายเป็นการบรรยายเรื่อง “การบริหารความขัดแย้งในการจัดการพื้นที่สาธารณะ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วิทยากรผู้บรรยาย 2 คน คือ นายจาดุร อภิชาตบุตร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับ นายนพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

วิทยากรคนแรก เชื่อว่าหลายคนรู้จักและทราบว่ามีบทบาทขณะเป็นข้าราชการอย่างไร เคยถูกโยกย้ายเมื่อสมัยรัฐบาลก่อน แล้วต่อสู้กระทั่งได้กลับเข้ารับราชการใหม่ ทำนองนั้น เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งผู้ที่รู้จักและรับรู้ถึงบุคคลผู้นี้ประจักษ์ดี

วิทยากรอีกคนหนึ่ง แม้เป็นผู้พิพากษา สำเร็จนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เนติบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่การบรรยายของบุคคลผู้นี้ ไม่ธรรมดาทั้งลีลาและความสนุกเร้าใจ

หากการเขียนไม่สนุกตามผู้บรรยาย โปรดอภัย