แพทย์ พิจิตร : พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (5)

สําหรับ Markesinis หรือ เซอร์เบซิล มาร์กซินนิส ผู้ศึกษาประเด็นการยุบสภาของอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตสองประการเกี่ยวกับข้อถกเถียงเกี่ยวกับการยุบสภาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1969

ประเด็นแรกคือ นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์และมีข้อผูกมัดที่จะต้องปรึกษาคณะรัฐมนตรีและเพื่อนร่วมงานอาวุโสก่อนจะยุบสภาหรือไม่?

ประเด็นที่สองคือ ใครคือผู้ตัดสินใจยุบสภาในที่สุด?

Markesinis ชี้ว่า จากการศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยุบสภาในการเมืองอังกฤษระหว่างการยุบสภา ค.ศ.1922, 1923, 1924, 1929, 1935, 1945, 1949/1950, 1951, 1966 พบว่า ที่ว่านายกรัฐมนตรีโดยปรกติจะหารือถึงความเป็นไปได้ในการยุบสภากับเพื่อนร่วมงานอาวุโสบางคนหรือที่ใกล้ชิดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและพิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์

แม้ว่าในทางรัฐธรรมนูญ ตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้ถูกผูกมัดว่าจะต้องทำเช่นนั้น และด้วยเหตุนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่เป็นทางการใดๆ ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องผูกมัดที่จะต้องนำข้อเสนอการยุบสภาของเขาไปเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่านการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ

แต่กระนั้น Markesinis ก็ยืนยันว่า จากการศึกษาตรวจสอบของเขา มันก็เป็นเรื่องแน่นอนด้วยเช่นกันว่านายกรัฐมนตรีคือผู้ที่ตัดสินใจสุดท้ายและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการแนะนำการยุบสภา แม้ว่ารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่มีอิทธิพลโดดเด่นที่สุดจะไม่เห็นด้วยกับเขาอย่างรุนแรงก็ตาม

 

Markesinis เห็นว่าจากกรณีที่นาย Paget เห็นว่าเป็นข้อผูกมัดที่นายกรัฐมนตรีต้องปรึกษาคณะรัฐมนตรีจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศจะต้องมีรัฐบาลต่อเนื่อง และหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยและลาออก และไม่สามารถหาคนมาแทนที่ได้ จะส่งผลให้ไม่มีรัฐบาลนั้น

เป็นสมมุติฐานที่เป็นทฤษฎีบริสุทธิ์ล้วนๆ

แต่ในความเป็นจริง ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนในอังกฤษ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีถูกถอดถอนจากความเป็นหัวหน้าพรรค และในกรณีนี้ องค์พระมหากษัตริย์จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไป และด้วยเหตุนี้ ก็ต้องใช้เกณฑ์ที่แตกต่างไป

Markesinis ชี้ว่าในทรรศนะของ Paget พระมหากษัตริย์ “จะต้อง…แน่ใจได้ว่า นายกรัฐมนตรีที่ถวายคำแนะนำการยุบสภา จะสามารถบริหารราชการได้จนกระทั่งมีสภาใหม่…”

แต่สิ่งที่ Paget ไม่ได้กล่าวชัดเจนลงไปคือ เกณฑ์อะไรที่พระมหากษัตริย์จะใช้ในการตัดสินพระทัยว่า นายกรัฐมนตรีสามารถบริหารต่อไปได้ หากพรรคยังคงยอมรับให้เขาเป็นหัวหน้าพรรค โดย Markesinis ได้อ้างความเห็นของพระมหากษัตริย์ว่า พระองค์ยากที่จะปฏิเสธการยุบสภาที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำบนข้อสมมุติฐานเพียงว่า เสียงส่วนใหญ่คัดค้านเขา อีกทั้งพระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงสามารถเลื่อนการตัดสินใจที่จะยอมรับให้มีการยุบสภาไปจนกว่าพรรคจะตัดสินใจที่เป็นทางการด้วย เพราะการทำเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการแทรกแซงการเมืองในพรรคอย่างเปิดเผย

และ Markesinis ยังอ้างคำกล่าวของ Max Beloff ที่ว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ “ทรรศนะเดิมที่สิทธิ์ในการยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติอาจจะดูว่าเป็นเรื่องที่ง่ายดาย แต่มันก็ใช้ได้ และถูกต้องอยู่”

 

นอกจากนี้ ในการศึกษาของ Markesinis พบว่า อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำก็ไม่ได้ถูกละทิ้งไปเสียทีเดียว

เพราะหนังสือพิมพ์ Time วันที่ 15 เมษายน 1969 ออกมาปกป้องทรรศนะดังกล่าวในบทนำ โดยแนะว่า ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง พระมหากษัตริย์ทรงมีความชอบธรรมที่จะออกจากประเพณีที่มีอยู่และปฏิเสธการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“ถ้านายกรัฐมนตรีแพ้ในคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถดำเนินนโยบายของเขาต่อไปได้ในที่ประชุมพรรค และขอให้มีการยุบสภาด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนของการนำพรรคไปยุ่งเกี่ยวโดยไม่จำเป็นกับความหายนะโดยส่วนตัวของเขา พระมหากษัตริย์จะทรงมีเหตุผลเพียงพออย่างยิ่งที่จะปฏิเสธเขาและถอดถอนเขา หากมีฝ่ายเสียงข้างมากยังมีผู้นำคนอื่นอยู่ บางที ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่การขอยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย คือทำตามแบบแผนการปฏิบัติของศตวรรษที่สิบเก้า นั่นคือ ให้การถวายคำแนะนำการยุบสภามาจากคณะรัฐมนตรีมากกว่าที่จะให้กับเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี”

Markesinis ตั้งข้อสังเกตต่อข้อเสนอดังกล่าวของ The Times ว่า เกิดจากความกังวลต่ออนาคตของพรรคแรงงานที่จะต้องพังไปพร้อมๆ กับความโง่เขลาของผู้นำพรรค?

หรือเกิดจากความกังวลต่อการยุบสภาที่ยังไม่ถึงเวลา?

เขาเห็นว่า ถ้าเป็นกรณีแรก ก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์อะไรที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการของพรรค?

ถ้าเป็นกรณีหลัง มันยังไม่ชัดเจนในขณะนั้นว่า พรรค-ผ่านตัวหัวหน้าพรรค-กำหนดเวลาของการเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพรรค และไม่คำนึงถึงการดำรงอยู่ของประเด็นการเมืองหลัก?

ยิ่งกว่านี้ คำที่ The Times ใช้ก็คลุมเครือและสามารถนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ การพ่ายแพ้ในคณะรัฐมนตรี หมายความว่าอะไร?

เสียงส่วนใหญ่ของคณะรัฐมนตรีขัดแย้งกับผู้นำคณะรัฐมนตรีหรือ?

และหากเสียงข้างน้อยนั้นเป็นเสียงของสมาชิกพรรคที่โดดเด่นที่สุด?

หรือในอีกทางหนึ่ง เสียงข้างน้อยหรือมีรัฐมนตรีบางคนที่ไม่เห็นด้วย แต่รัฐมนตรีผู้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังคงภักดีต่อผู้นำ ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะกล่าวได้หรือว่า นายกรัฐมนตรีพ่ายแพ้ในคณะรัฐมนตรี?

และท้ายสุด ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี แต่ระดับ ส.ส. ระดับธรรมดาของพรรคไม่เห็นด้วยหรือกลับกัน นั่นคือ คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี แต่ระดับ ส.ส. ธรรมดาของพรรคเห็นด้วย พระมหากษัตริย์จะทรงทำอย่างไร?

 

Markesinis ตั้งคำถามกลับว่า จะทำอย่างไร หากเกิดสถานการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น โดยพยายามที่จะใช้เกณฑ์อย่างที่ The Times แนะนำ

นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ หากมีตัวเลือกที่มีเสียงข้างมากอยู่

และ Markesinis ให้ความเห็นว่า พรรคแต่ละพรรคมีวิถีทางของตัวเอง และมีกระบวนการของตัวเองในการที่จะทำให้หัวหน้าพรรคของตนลาออก และเขาเสริมด้วยตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นั่นคือ ครั้งสุดท้ายที่สถานการณ์คล้ายๆ นี้ได้เกิดขึ้นคือ ในกรณีของนาย Chamberlain หากพรรคมีวิถีทางที่จะทำให้หัวหน้าพรรคลาออก คำถามที่เป็นสมมุติฐานของ The Times ก็จะไม่มีอยู่จริง แต่ถ้าพรรคไม่มีหนทางที่จะทำให้หัวหน้าพรรคลาออก พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงสามารถให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้

ขณะเดียวกัน Markesinis ก็เตือนไว้ด้วยว่า มันเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุดที่จะเปลี่ยนพระมหากษัตริย์ให้กลับไปเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง ด้วยการให้กลับไปมีพระราชอำนาจริเริ่มในสถานการณ์วิกฤตเช่นกรณีดังกล่าวนี้

ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงมอบหมายสมาชิกคนหนึ่งของพรรคเสียงข้างมากที่ไม่ใช่ผู้นำพรรค จัดตั้งรัฐบาล พระองค์จะถูกกล่าวหาว่าทรงแทรกแซงกิจการภายในการเมืองของพรรค (party politics)

พระเจ้าจอร์จที่ห้าถูกกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวในปี ค.ศ.1931 แต่กระนั้น ก็อาจมีผู้โต้แย้งได้ว่า สิ่งที่พระองค์ทรงทำไปจริงๆ นั้น ไม่ได้ร้ายแรงเช่นนั้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีที่จัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้นก็ยังได้รับการยอมรับอยู่

ทั้งนี้ จากกรณีข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในการยุบสภา ค.ศ.1969 ที่มีข้อเสนอให้กลับไปใช้ประเพณีการยุบสภาตามแบบแผนปฏิบัติในศตวรรษที่สิบเก้า

นั่นคือ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำ Markesinis ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมต้องหันกลับไปหาแบบแผนการยุบสภาโดยอิงกับคณะรัฐมนตรีในศตวรรษที่สิบเก้า โดยไม่อิงกับนายกรัฐมนตรี?