ดร.วีรพงษ์ รามางกูร กับความสัมพันธ์ ไทย-ลาว (1)/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

พิษณุ จันทร์วิทัน

อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว

 

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

กับความสัมพันธ์ ไทย-ลาว (1)

 

หลายคนกล่าวถึงผลงานของ อาจารย์ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะอาจารย์และผู้รู้ทางเศรษฐกิจคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ

ผมคิดว่าที่คนส่วนมากยังไม่ทราบกันกว้างขวางก็คือบทบาทและผลงานของ ดร.วีรพงษ์ในด้านความสัมพันธ์ไทย-ลาว

ผมได้มีโอกาสร่วมงานความสัมพันธ์ไทย-ลาว กับอาจารย์วีรพงษ์อย่างใกล้ชิดมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ได้ร่วมเดินทางกับท่านในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศลาว

จึงขอนำบางเรื่องมาบันทึกไว้เพื่อเป็นการรำลึกถึง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

 

 

ในปี 2536 ได้มีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนของสองประเทศ ทั้งทางด้านการค้า การศึกษา และวัฒนธรรม โดยมี ท่านอาสา สารสิน อดีตราชเลขาธิการเป็นนายกสมาคม อาจารย์วีรพงษ์ เป็นเลขาธิการ

ทางฝ่ายลาวก็จัดตั้งสมาคมมิตรภาพลาว-ไทยขึ้น โดยมีท่านเพ้า บุนนะผน กรรมการศูนย์กลางพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

ปลายปี 2538 ผมย้ายกลับจากบรัสเซลส์มาปฏิบัติงานที่กรมเอเชียตะวันออก ผมในฐานะผู้อำนวยการกองที่รับผิดชอบงานด้านลาว จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสมาคม

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์วีรพงษ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อมองย้อนกลับไป การได้ร่วมงานกับอาจารย์วีรพงษ์ เป็นการทำงานที่ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลาว เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอาสาไปรับหน้าที่เอกอัครราชทูตไทยประจำลาวในเวลาต่อมา

จากนี้ผมจะขอเล่าถึงอาจารย์วีรพงษ์ที่ผมรู้จัก

 

 

อันที่จริงผมได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์ตั้งแต่ตอนที่ผมประจำการอยู่บรัสเซลส์แล้ว ตอนนั้นราวต้นปี 2538 ท่านได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาเรื่องเศรษฐกิจโดยธนาคารแห่งหนึ่ง

ผมพาอาจารย์ไปกินอาหารเย็นแบบพื้นถิ่น จากนั้นก็ไปคุยกันต่อที่บ้านพักของผม

ดูเหมือนว่าอาจารย์จะถูกชะตาผมตั้งแต่พบกันครั้งแรก อาจเป็นเพราะมีความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่คล้ายกัน เราจึงคุยกันสนุกจนเกือบสว่างอย่างไม่รู้ตัว

เพราะนอกจากด้านเศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ อาจารย์วีรพงษ์ศึกษาโหราศาสตร์อย่างลึก ท่านเป็นศิษย์ของ อ.เทพย์ สาริกบุตร

นอกจากนี้เรายังมีความสนใจที่คล้ายกันอีกเรื่องพระเครื่อง ซึ่งท่านมีความรู้อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับด้านอื่น

เมื่อผมทำหน้าที่เลขานุการสมาคมไทย-ลาว ก็ยิ่งทำให้สนิทสนมกับอาจารย์มากยิ่งขึ้น ในเวลานั้นความสัมพันธ์ไทย-ลาวยังไม่พัฒนาขึ้นถึงในระดับปัจจุบัน งานของสมาคมไทย-ลาวจึงมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศมาก

เมื่อร่วมทำงานในลาวกับอาจารย์นานวัน ผมก็ตระหนักว่า อาจารย์วีรพงษ์ เป็นผู้ที่เหมาะสมกับการเป็นเลขาธิการสมาคมอย่างที่สุด ทั้งยังมีความพิเศษหลายอย่างในตัวเอง

อาจารย์เล่าให้ผมฟังว่า พื้นเพเป็นชาว อ.ธาตุพนม พ่อของท่านรับราชการตำรวจ ต่อมาพ่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ อาจารย์วีรพงษ์เล่าว่า นอกจากญาติพี่น้องที่ อ.ธาตุพนมแล้ว ท่านยังมีญาติอยู่ในเวียงจันทน์แถบสวนมอญ ตอนยังเด็กในฤดูแล้งที่น้ำในแม่น้ำโขงน้อย ท่านกับเพื่อนชอบว่ายน้ำไปเที่ยวเล่นที่ฝั่งลาวซึ่งตรงข้ามกับธาตุพนม คือแขวงคำม่วน

ครั้งหนึ่งอาจารย์วีรพงษ์ไปทอดกฐินที่วัดบ้านเกิด ผมได้ติดตามไปด้วย ดูอาจารย์มีความสุขที่ได้คุยเล่าเรื่องเก่าสมัยยังเด็กให้ผมฟัง ตอนอายุครบบวช อาจารย์ไปบวชกับท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์) วัดศรีเทพ พระอริยสงฆ์รูปสำคัญของภาคอีสาน

ท่านได้พาผมไปกราบอัฐิธาตุหลวงท่านเจ้าคุณด้วย

 

 

หลังจากเปลี่ยนการปกครองในลาว เมื่อ พ.ศ.2518 แล้ว หลายปีต่อมาเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ลาวมีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสากล อาจารย์วีรพงษ์ได้ไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลลาวในเวลานั้นด้วยการสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย

ท่านเข้าไปอยู่ที่โรงแรมล้านช้างนานนับเดือน มีรถจักรยานหนึ่งคันถีบไปทำงาน พวกเจ้าหน้าที่ของลาวหลายคนจึงเรียกท่านว่า อาจารย์ บางคนต่อมาเจริญก้าวหน้าถึงระดับเจ้าแขวงและกรรมการศูนย์กลางพรรค

เท่าที่ผมรู้จักและจำได้ คือ ท่านสุพัน แก้วมีไซ เจ้าแขวงสะหวันนะเขต เข้าใจว่าในช่วงที่ไปเป็นที่ปรึกษาให้ลาวนี้เอง

นอกจากภาษาลาวที่พูดได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ทำให้อ่านเขียนลาวได้คล่องด้วย และด้วยนิสัยเข้ากับผู้คนได้ง่ายของอาจารย์ การที่ไปอยู่ที่เวียงจันทน์หลายเดือนท่านจึงคุ้นเคยผู้คนหลากหลาย นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว ยังรวมไปถึงชาวบ้านร้านตลาดด้วย

ครั้งหนึ่งที่เราไปเวียงจันทน์ด้วยกัน ท่านพาผมไปซื้อไก่ย่างเจ้าอร่อยตรงสี่แยกสีหอม แม่ค้าจำอาจารย์ได้ดี อาจารย์ก็คุยด้วยภาษาลาวอย่างคุ้นเคย

ท่านบอกผมว่ารู้จักแม่ค้าไก่ย่างคนนี้ตั้งแต่ยังสาวๆ ตอนนี้มีลูก 4-5 คนแล้ว

 

 

อาจารย์วีรพงษ์เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับผู้ใหญ่ลาวหลายคน ในตอนที่ท่านคำไต สีพันดอน อดีตประธานประเทศลาว ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านมาเยือนไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ครั้งนั้น อาจารย์วีรพงษ์ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเกียรติยศประจำท่านคำไตในระหว่างที่พำนักในกรุงเทพฯ

ในเรื่องภาษาลาว กับไทยนั้น เวลาเราประชุมกับลาวก็เป็นเรื่องที่พิเศษมาก เพราะเราพูดภาษาไทย ฝ่ายลาวเขาก็พูดลาว เข้าใจกันได้โดยไม่ต้องใช้ภาษากลางอื่น แต่ก็ยังมีศัพท์แสงบางคำที่คนไทยทั่วไปไม่เข้าใจ

ผมยังจำได้ดีว่า ในระหว่างที่สมาคมไทย-ลาวประชุมร่วมกับฝ่ายลาวเวลาที่ฝ่ายลาวใช้ศัพท์แปลกๆ ท่านอาสา สารสิน นายกสมาคมก็จะหันไปกระซิบถามอาจารย์วีรพงษ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามไปโดยปริยาย

งานหนึ่งของฝ่ายเลขานุการสมาคม ก็คือการเดินทางไปจัดเตรียมการประชุม หรือการเยือนของนายกสมาคม ซึ่งเราพยายามเข้าไปจัดตามแขวงต่างๆ ที่ห่างไกลโดยถือเป็นการสร้างมิตรภาพไปด้วย ทั้งนี้ ผมจะร่วมเดินทางไปกับอาจารย์ทุกครั้งไป

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ถนนหนทางในลาวยังไม่ดีอย่างทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรังมีหลุมบ่อ ในฤดูฝนเต็มไปด้วยโคลน ส่วนฤดูแล้งก็มีฝุ่นตลบ ในยุคนั้นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปลาวยังมีเพียงแห่งเดียวที่หนองคาย ข้ามไปเวียงจันทน์ การเดินทางไปทำงานในลาวแต่ละครั้งในแขวงที่ห่างไกลจึงใช้เวลาหลายวัน มีความไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ก็ได้รับประสบการณ์สนุกๆ

อาจารย์วีรพงษ์เป็นคนที่มีความรู้ด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ท่านสามารถอธิบายเรื่องเศรษฐกิจด้วยภาษาง่ายๆ ให้คนที่ตกวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐานอย่างผมเข้าใจได้ง่าย

ท่านมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์และเล่าได้อย่างที่คนฟังไม่รู้เบื่อ

นอกเหนือจากเรื่องของลาวในมุมต่างๆ ที่ท่านคุ้นเคยด้วยพื้นเพทางครอบครัวแล้ว ท่านยังมีความรู้โหราศาสตร์ในระดับเก่งกว่าหมอดูอาชีพหลายคน

การเดินทางไปทำงานกับอาจารย์ในลาวในสมัยที่เส้นทางคมนาคมยังไม่พัฒนาและต้องนั่งรถกันนานหลายๆ ชั่วโมง สำหรับผมก็คือเรื่องสนุกสนานมาก

ลักษณะพิเศษของอาจารย์วีรพงษ์อีกเรื่องหนึ่งคือ การเป็นคนเรียบง่ายและไม่ถือตัว แม้ท่านจะเคยผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ชอบพิธีรีตอง กินง่าย อยู่ง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่เดือดร้อน

ในฐานะเลขานุการสมาคม ผมจึงทำงานกับท่านด้วยความสบายใจ เหมือนไปกับญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ เวลาเดินทางไปด้วยกัน เรื่องที่พัก อาหาร จัดอะไรท่านก็รับไปตามนั้น

ไม่เคยไม่พอใจหรือต้องการอะไรเป็นพิเศษ

ครั้งหนึ่งเราเดินทางด้วยรถยนต์บนเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงในแขวงจำปาสัก ห่างจากปากเซหลายชั่วโมง เลยเวลาอาหารกลางวันมานาน ทุกคนหิวจนตาลายแต่ก็หาร้านอาหารไม่ได้เพราะเราอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองมาก อาจารย์ก็ไม่บ่นอะไร

ประมาณเกือบบ่ายโมง รถผ่านไปพบคนกำลังหาปลาริมน้ำ อาจารย์บอกให้หยุดรถ จากนั้นก็ลงไปเจรจาขอซื้อปลาจากชาวบ้านที่หาปลาอยู่ ได้ปลาตัวใหญ่มาหนึ่งตัว จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงต่อมาเมื่อไปถึงหมู่บ้าน ท่านก็เข้าไปส่งภาษากับเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ในหมู่บ้าน เจ้าของร้านก็กุลีกุจอเอาปลาตัวนั้นไปทำกับข้าวมาให้พวกเรารับประทานกัน

ผมยังจำได้ว่าเป็นก้อยปลา กับแกงอะไรสักอย่างแบบลาวอร่อยมาก

ของหวานปิดท้ายคือมะละกอสุกที่อาจารย์เหลือบไปเห็นสุกคาต้นข้างร้านนั้น

การประชุมร่วมกับมาคมมิตรภาพลาว-ไทย-ลาว ปากเซ ๒๕๔๐
งานบุญที่วังเวียง แขวงเวียงจันทน์
ดร.วีระพงษ์ กับท่านทองลุน สีสุลิด รรองนายกรัฐมนตรี ประธานประเทศลาวในปัจจุบัน
ดร.วีระพงษ์กับเอกอัครราชทูตไทยในงานกฐินแขวงหัวพัน
ดร.วีระพงษ์ที่น้ำตกคอนพะเพ็ง กับ คณะ คำพัน อันละวัน(ที่สองจากซ้าย)
ท่านคำพัน สิมมาลาวง อดีตทูตลาวประเจำไทยผูกข้อมือดร.วีระพงษ์ในงานบายศรี สู่ขวัย
ร่วมงานสงกรานต์ไทยลาวที่สถานทูตไทย เวียงจันทน์