เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ถึงการสาธารณสุข

จากเรื่อง “การศึกษา” มาเป็นเรื่อง “การพัฒนาสังคม” และ “การสาธารณสุข” ซึ่งเกี่ยวดองกันอย่างแทบจะเรียกว่าแยกไม่ออก เพราะเรื่องของการศึกษาคือการนำไปพัฒนาสังคมเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมให้ได้รับความเท่าเทียมกัน เรื่องแรกคือความเท่าเทียมทางการศึกษา จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

ผู้บรรยายเรื่องนี้คือ คุณขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

การมีกระทรวงนี้ รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อช่วยผู้ไม่มีที่พึ่ง โดยเฉพาะ คนชรา สตรี ผู้ติดเชื้อขาดภูมิคุ้มกันร้ายแรง ผู้ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และอีกหลายประการ

คุณขวัญวงศ์ว่าถึงการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมพัฒนา และการพัฒนาคุณภาพชีวิต

มีแนวทางการจัดสวัสดิการสังคม 8 ด้าน ต่อไปนี้

1.บริการทางสังคม เช่น จัดให้บริการผู้สูงอายุ 2. ทางการศึกษา เช่น สอนเด็กทำการบ้าน 3. เรื่องสุขภาพอนามัย 4. เรื่องที่อยู่อาศัย ปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัย ปรับปรุงสถานที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ 5. การฝึกอาชีพ เป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ 6. การประกอบอาชีพ 7. นันทนาการ 8. กระบวน การยุติธรรม ทั้งหมดนี้มีรายละเอียดที่คุณขวัญวงศ์ให้ความรู้แก่พวกเราไม่น้อย

ส่วนเรื่องสถานการณ์ปัญหาทางสังคมขณะนี้ มี 6 กลุ่มเป้าหมาย

1. กลุ่มคนพิการ คือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการภาครัฐ ต้องการมีรายได้ มีอาชีพ ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

2. กลุ่มผู้สูงอายุ ขาดผู้ดูแล ถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำความรุนแรง ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้องรัง

3. เรื่องของครอบครัว ขาดสัมพันธภาพที่มั่นคง และปัญหาการใช้ความรุนแรง

4. ปัญหาคนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง และผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขอทานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ปัญหาซ้ำซ้อนเกิดขึ้น เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง มีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงมีขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ และขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

5. ปัญหาเด็กและเยาวชน เด็กถูกละเมิดทางเพศ เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้ความรุนแรงทะเลาะวิวาท มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และขาดทักษะหลายด้าน

6. ปัญหาเฉพาะสตรี ถูกล่วงละเมิดทางเพศ รับการกระทำรุนแรง และการหย่าร้างเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

ปัญหาเรื่องการพัฒนาสังคมส่วนใหญเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งปัญหาในเมืองหลวง คือกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ปัญหาในเมืองใหญ่ และปัญหาในชนบท แต่ละปัญหาแม้จะมีลักษณะเดียวกัน

แต่การแก้ไขอาจใช้วิธีไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุที่สภาพสังคมแตกต่างกัน

จบจากเรื่องการพัฒนาสังคม ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายเรื่องการจัดการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผู้บรรยายคือผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารเมือง (ผู้นำเมือง รุ่นที่ 1) มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง

คุณหมอประนอมพูดถึงระบบสาธารณสุขในพื้นที่เขตเมืองเป็นเรื่องแรกว่า วิถีชีวิตแบบเมืองมีความแตกต่างหลากหลายซับซ้อนที่ต้องมีการออกแบบจัดการทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างใหม่ ทั้งยังต้องการจัดการออกแบบการจัดการสุขภาพแบบใหม่ และการจัดการด้านสาธารณสุขแบบใหม่

ทั้งนี้ เพื่อการจัดการให้อยู่ดีมีสุขของประชาชนในเขตเมือง ซึ่งต้องดำเนินการเชิงระบบ ผ่านกระบวน การมีส่วนร่วมของคนที่มีบริบทเมืองและแกนนำชุมชนในเมือง

เรื่องความเหลี่ยมล้ำระหว่างชนชั้นเขตเมืองมีหลายประการ อาทิ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารปลอดภัยและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาพ การจัดการขยะของเสียในเมือง ระบบขนส่งที่แลออดภัยและคุ้มครองผู้โดยสาร โครงสร้างพื้นฐานสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย การป้องกันภัย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสังคมแออัด ชุมชนย้ายถิ่น บ้านเช่า อาคารสูง และการบริการสุขภาพในเขตเมือง

ส่วนการดำเนินการทางระบบต้องคำนึงถึงปัจจัยทางกฎหมาย การบริหารเงื่อนไขทางสังคม การจัดสภาพแวดล้อม อากาศ น้ำ ความปลอดภัยของอาคาร ระบบภาษี สถานประกอบการ ตลาด การออกแบบการจัดการโรค ภาวะคุกคามด้านสุขภาพและสวัสดิการสงัคม

คุณหมอประนอมยังบอกถึงปัญหาสาธารณสุขอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลของเขตเมืองส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดการเพื่อความอยู่ดีมีสุขในเขตเมือง ระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพคนเมืองมักพบภัยคุกคามต่อสุขภาพ 3 ประการ คือ โรคติดต่อที่ถูกทำให้แย่ลงจากการมีสภาพไม่ถูกสุขลักษณะ โรคติดต่อไม่เรื้อรัง การบาดเจ็บ อุบัติเหตุทางการจราจร การใช้ความรุนแรงและอาชญากรรม

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ในกรุงเทพมหานครมีหน่วยบริการศูนย์ความเชี่ยวชาญ 11 แห่ง หน่วยบริการระดับตติยภูมิ 132 แห่ง หน่วยบริการระดับทุติยภูมิ 143 แห่ง และระดับปฐมภูมิ 4,694 แห่ง

กระทรวงจะมีการปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยการบูรณาการระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ศูนย์ความเป็นเลิศ และระบบส่งต่อ รวมถึงการปฏิรูปและปรับปรุงอีกหลายด้าน เช่น กำลังคน เทคโนโลยี และระบบคุ้มครองผู้บริโภค

“มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดรอคอยการส่งต่อ ซึ่งมีทั้งหมด 12 สาขา อาทิ หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง การให้คีโม ทารกแรกเกิด น้ำหนักตัวน้อย จิตเวช การผ่ตัดต้อกระจก ไต ทันตกรรม แพทย์แผนไทย ปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น” แพทย์หญิงประนอมแจ้งกับเพื่อนที่เข้ารับการอบรมอย่างนั้นตลอดเวลาของการบรรยาย ทำให้พื้นความรุ้ด้านการสาธารณสุขของผู้เข้ารับการอบรมมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้เข้ารับการอบรมที่มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของแต่ละแห่ง ทั้งที่เป็นนคร เมือง และตำบล

ปัญหาการสาธารณสุขเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษา หากกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามที่รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาให้ความรู้แก่พวกเราซึ่งยังมีอีกมากมายหลายประการ

รับรองว่า สุขภาพพลานามัยของคนไทยจะสมบูรณ์ และลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลไปได้ไม่น้อย