วิกฤตขาดแรงงานลาม แผนเปิดประเทศฟื้น ศก.ป่วน ต่างด้าวทะลัก-ค่าหัวพุ่ง 3 หมื่น/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วิกฤตขาดแรงงานลาม

แผนเปิดประเทศฟื้น ศก.ป่วน

ต่างด้าวทะลัก-ค่าหัวพุ่ง 3 หมื่น

 

การขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก ตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันโควิดคลี่คลายแต่วิกฤตแรงงานยิ่งลามกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้น

ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ประชากรในวัยทำงานลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลงมาก บวกกับปัญหาระบบค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน

ส่งผลให้แรงงานไทยไหลออกจากภาคอุตสาหกรรม การประมง การก่อสร้าง และอาชีพที่มีความเสี่ยง หาแรงงานไทยทำยาก หรือหากหาได้ก็ต้องจ่ายค่าแรงสูง

การเปิดรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว) จึงเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่

ที่ผ่านมาแม้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศต้นทาง

และส่วนใหญ่แม้ต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยแต่กลับเข้ามาไม่ได้

 

ล่าสุดเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประกอบกับรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศปลุกเศรษฐกิจ เปิดรับนักท่องเที่ยว พร้อมปลดล็อกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจและสถานบริการกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ส่งผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขามีความต้องการแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะภาคการผลิต การเกษตร การก่อสร้าง ภาคการบริการ ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงอยู่แล้วจึงยิ่งวิกฤตหนัก

แม้แต่แรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ยังทำงานอยู่ภายในประเทศก็มีไม่น้อยที่กลายสภาพเป็นแรงงานเถื่อน แรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากใบอนุญาตทำงานหมดอายุ พาสปอร์ตหมดอายุ ไม่สามารถยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ต่ออายุพาสปอร์ตเพราะติดปัญหาสถานการณ์โควิด

ภาครัฐต้องผ่อนกฎตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย ยื่นรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ทำให้แรงงาน 3 สัญชาติกว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน

มติ ครม. 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว หรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด สามารถอยู่ไทยเพื่อทำงานได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน

มติ ครม. 28 กันยายน 2564 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกลายเป็นช่องทางให้นายหน้า กลุ่มค้าแรงงานเถื่อน เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางชายแดนธรรมชาติ ทั้งเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยเฉพาะเมียนมาหนักสุด จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ การระบาดของโควิด แรงงานเมียนมาจึงแห่เข้าไทยเหมือนหนีตายเอาดาบหน้า

ข้อมูลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนแรงงานโดยผิดกฎหมายของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงล่าสุดเมื่อ 31 ตุลาคม 2564 ระบุว่า ตั้งแต่ 1-31 ตุลาคม 2564 แค่เดือนเดียวมีผู้หลบหนีเข้าเมืองตามชายแดนไทยทั้งสิ้น 10,870 คน แบ่งเป็นเมียนมา 5,782 คน, กัมพูชา 3,692 คน, สปป.ลาว 726 คน

การไม่ปราบปรามขบวนการค้าแรงงานเถื่อนจริงจัง หรือทำในลักษณะลูบหน้าปะจมูก บวกกับรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรมให้แรงงานเถื่อนมาขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายครั้งแล้วครั้งเล่า เท่ากับเป็นตัวเร่งให้การลักลอบนำเข้าต่างด้าวทางชายแดนรุนแรงขึ้น

ขณะที่เสียงเรียกร้องของภาคธุรกิจ ทั้งหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และตัวแทนภาคเอกชนหลายสมาคม ต้องการให้รัฐบาลนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามความตกลงแบบรัฐต่อรัฐ หรือนำเข้าในลักษณะเอ็มโอยู โดยแบ่งกลุ่มแรงงานนำเข้าเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป สีเหลือง ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน และกลุ่มสีแดง ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เบื้องต้นกลุ่มสีเขียวให้กักตัว 7 วัน กลุ่มสีเหลืองและสีแดง กักตัว 14 วัน

ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้ทำการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าว พบว่ามีนายจ้างแจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานต่างด้าวรวม 4.2 แสนคน

โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.เกษตรและปศุสัตว์ 2.ก่อสร้าง 3.บริการ 4.เกษตรต่อเนื่อง 5.ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ส่วนจังหวัดที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่, กทม., จันทบุรี, สมุทรสาคร และระยอง

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนอีกหลายกลุ่มประเมินว่าขณะนี้แรงงานต่างด้าวน่าจะขาดแคลนราว 8 แสนคน

พร้อมเสนอให้รัฐเร่งแผนการนำเข้าต่างด้าวแบบเอ็มโอยูที่ยังล่าช้า ทั้งที่เคยเรียกภาคเอกชนเข้าหารือตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ทำให้ รมว.กระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือด่วนวันที่ 10-11 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะเสนอศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณา ก่อนบรรจุวาระเข้า ครม. 12 พฤศจิกายน 2564

แต่โจทย์ใหญ่อยู่ที่การนำเข้าต่างด้าวตามเอ็มโอยูเบ็ดเสร็จต้นทุนแรงงานต่อหัวสูงถึงกว่า 3 หมื่นบาท เนื่องจากแรงงานต้องผ่านการคัดกรองโรคตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข มีค่ากักตัว ตรวจสอบหาเชื้อโควิด การฉีดวัคซีน

โดยกลุ่มสีเขียวจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 17,000 บาทต่อคน

ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดง 25,000 บาทต่อคน บวกค่าธรรมเนียมและค่ายื่นคําขอ 1,900 บาทต่อคน ค่าตรวจสุขภาพ 6 โรค 500 บาทต่อคน ค่าประกันสุขภาพก่อนเข้าระบบประกันสังคม 3,200 บาทต่อคน และค่าธรรมเนียมตรวจลงตราวีซ่าอีก 2,000 บาทต่อคน

ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว แม้กระทรวงแรงงานจะรับภาระเรื่องค่าใช้จ่าย กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนกว่า 3 หมื่นบาทต่อหัวที่ต้องควักจ่ายทำให้นายจ้างต้องคิดหนัก ต้องการให้รัฐช่วยรับภาระบางส่วน

เพราะถ้าจ่ายแล้วจบ ได้ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานระยะยาว นายจ้างคงพอรับได้ แต่ในทางปฏิบัติจากที่กฎหมายเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนงานได้เสรี บ่อยครั้งจึงมีปัญหาแรงงานต่างด้าวขอลาออก เปลี่ยนงาน ไม่มีหลักประกันความมั่นใจให้กับนายจ้างเดิมที่รับภาระจ่ายทุกอย่างให้ ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ติดล็อก ภาครัฐ ภาคเอกชนยังถกกันไม่ลงตัว

 

ท่ามกลางแรงกดดัน เสียงเรียกร้องที่จากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมหลากหลายสาขา ในช่วงที่การฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลงทุน การสร้างงาน เป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้

และหาวิธีปลดล็อกวิกฤตแรงงานขาดแคลนทั้งระยะสั้น ระยะยาวโดยเร็ว

ก่อนที่จะส่งผลเสียลุกลาม และกระทบไปถึงภาพใหญ่ในการเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็เป็นได้