[ดังได้สดับมา] “ตู้” คือ “หทัย” : เสถียร โพธินันทะ

อัศจรรย์แห่ง เสถียร โพธินันทะ นั้นไม่เพียงแต่บรรดาศิษยานุศิษย์ ณ มหามกุฏราชวิทยาลัย จะประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมจากปี 2494-2509 เท่านั้น

หากแม้กระทั่ง นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง กูรูในทาง “มหายาน” ก็เห็นด้วย

หากแม้กระทั่ง อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือ “พระไตรปิฎกฉบับประชาชน” ก็ไม่ลังเลที่จะยกย่องชมเชย

ท่านแรกเก่งในเรื่อง “ภาษาจีน” ท่านหลังเก่งในเรื่อง “ภาษาบาลี”

“สมัยผมเป็นสามเณรอยู่ที่วัดทองนพคุณ ธนบุรี ได้ยินพระเณรกล่าวขวัญถึงภิกษุหนุ่มเปรียญ 9 ประโยค นามว่า สุชีโว ภิกขุ ควบคู่กับชื่อ เสถียร โพธินันทะ”

เป็นคำกล่าวจากราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก เปรียญ 9 ประโยคเหมือนกัน

“เสถียร โพธินันทะ ท่านอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยแล้วอยากทราบว่าตรงนั้นๆ ต้นฉบับภาษาบาลีว่าอย่างไร ก็ไปถามท่านสุชีโวผู้เป็นอาจารย์ ท่านก็เปิดพระไตรปิฎกให้ดูและบอกวิธีค้นด้วย ต้องดูข้อให้ตรงกัน ส่วนหนึ่งนั้นฉบับภาษาไทยกับบาลีอาจคลาดเคลื่อนได้ เสถียร โพธินันทะ ไปเปิดตามอาจารย์บอก อ่านกลับไปกลับมา 2-3 เที่ยวก็จำได้หมด

“เวลาไปพูดที่ไหนก็อ้างภาษาบาลีเป็นหน้าๆ เป็นที่อัศจรรย์”

อัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นยังอยู่เมื่อครั้งที่ เสถียร โพธินันทะ พาพระพม่า พระลังกา ไปเที่ยวนครปฐมแล้วบรรยายให้พระเหล่านั้นฟัง

เรื่องนี้ต้องอ่านจากที่บรรดา “ศิษยานุศิษย์” ถ่ายทอด

คําไว้อาลัยแด่ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ของคณะกรรมการนักศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อเรื่อง “แด่-บุรุษอาชาไนย” เมื่อเดือนมกราคม 2510

ขยายความได้แจ่มชัด

คราวหนึ่งพระลังกามาเมืองไทย ท่านได้เป็นล่ามพาพระลังกาไปชมพระปฐมเจดีย์ เราซักว่า “อาจารย์อธิบายให้พระลังกาฟังอย่างไรบ้าง”

ท่านถ่อมตัวอย่างนักปราชญ์ว่า “ใช้ภาษาบาลีและอย่ามาเอาไวยากรณ์กับผมเลย พูดกันรู้เรื่องเป็นใช้ได้”

คือพอไปถึงท่านก็บอกว่า “อตีเต อิทับ ฐานัง อรัญญานิ พหู พยัคฆา นัตถิ นัตถิ”

ทำเอาพวกเราหัวเราะกันครืนใหญ่ในความมีปฏิภาณของท่าน ตัวท่านเองก็หัวเราะลงลูกคอเอิ๊กๆ ชอบใจไปด้วย

ตรงนี้ ราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลออกมาว่า

“ที่นครปฐมนี้แต่ก่อนเป็นป่ามีเสือเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” และสรุปในฐานะเปรียญ 9 ว่าเป็น “บาลีเถื่อน” ไม่มีไวยากรณ์แต่ก็ฟังรู้เรื่อง

นั่นเป็นภาษาบาลี แล้วภาษาจีนเล่า

เหมือนกับว่า เสถียร โพธินันทะ เป็นเด็กย่านเยาวราช ทั้งยังเป็นลูกจีน น่าจะรู้ภาษาจีนอยู่แล้วเป็นอย่างดี แต่นั่นเป็นภาษาจีนในแบบปาก ใช้พูด

ภาษาจีนในเชิงอักษรศาสตร์ เป็นอีกเรื่อง

การเรียนภาษาจีนของ เสถียร โพธินันทะ เพื่อการอ่าน เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งเป็นการเรียนหลังจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนวัดบพิตรพิมุขมาแล้ว

และใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปี

“เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณเสถียรได้ทำหน้าที่ล่ามให้ถึง 3 ครั้ง”

เป็นคำบอกเล่าจากนายแพทย์ตันม่อเซี้ยง

“ครั้งแรกคุณเสถียรมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถถ่ายทอดคำปาฐกถาจากภาษาจีนสู่พากย์ไทยได้อย่างดียิ่ง สามารถแปลได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเจตจำนงของข้าพเจ้าทุกกระบวนความ”

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การแปล “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” และ “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร”

การศึกษาชีวิตของ เสถียร โพธินันทะ จึงมีเงาของ สุชีโว ภิกขุ หรือ สุชีพ ปุญญานุภาพ ทาบทับเหมือนกับมีเงาของนายแพทย์ตันม่อเซี้ยงทาบทับ

คนแรกนำไปยังความลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาสาย “เถรวาท”

ขณะเดียวกัน คนหลังบุกเบิกและนำไปยังบรรดา “เมธีตะวันออก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลึกซึ้งของพุทธศาสนาจีนอย่างที่เรียกว่า “มหายาน”

ไม่ว่าจะเป็น “มาธยมิกกะ” ของนาคารชุน ไม่ว่าจะเป็น “เซน” ของเว่ยหล่าง