E-DUANG : วัดใจ “สถาบันสื่อ” กรณี ประวิตร โรจนพฤกษ์

กรณีของ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ กำลังท้าทายจริยธรรม สำนึก ขององค์กร”สื่อ”อย่างแหลมคมยิ่ง

ยังไม่ปรากฏ “ท่าที” ใดๆ

ไม่ว่าจะในนามของ “สถาบัน” ไม่ว่าจะในนามของ “ปัจเจก”ในทางส่วนตัว

ทั้งๆที่ “หมายเรียก” คุกคามโดยตรงมายัง”สื่อ”

ผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผ่านมาตรา 14 พรบ.คอมพิวเตอร์

เป็นเรื่องของ “งาน” เป็นเรื่องของ “ความคิด”

โดยที่ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ มิได้เป็นสื่อหลักลอย หากแต่มีสังกัดอย่างเด่นชัด

แต่องค์กร”สื่อ”กลับเลือกที่จะ “เฉย”

 

ถามว่า นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ดำรงอยู่อย่างมีอาชีวปฏิญาณเป็น “สื่อ” หรือไม่

ตอบได้เลยว่า เป็น

ไม่ว่าจะเมื่อสังกัดอยู่กับหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ไม่ว่าจะเมื่อสังกัดอยู่กับสื่อออนไลน์ ข่าวสด อิงกลิช

เขาก็เป็นเช่นเดียวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในอดีต

เขาก็เป็นเช่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ในห้วงที่ถูกคร่ากุมตัวหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501

เพียงแต่ตอนนั้นด้วยข้อหา “คอมมิวนิสต์”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า กรณีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ กรณีของ อิศรา อมันตกุล เป็นเรื่องทางความคิด เป็นเรื่องทางการเมือง ของสื่อซึ่งมีจุดต่างจากรัฐบาล จากผู้มีอำนาจ

เหมือนกับที่ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ กำลังประสบ

 

กรณีของ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ อาจมีความซับซ้อนมากยิ่งกว่าเชิงเปรียบเทียบ

กับยุคของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อิศรา อมันตกุล

ตรงที่ในกาลอดีตเป็นเรื่องของสื่อกระดาษในบรรยากาศแห่งแท่นฉับแกระ

แต่ปัจจุบันเป็นยุค “สื่อกระดาษ” ที่กำลัง “เปลี่ยนผ่าน”

เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่ยุค “สื่อกระจก” ในสถานการณ์แห่งออนไลน์ สถานการณ์แห่งโซเชียลมีเดีย

กระนั้น นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ก็ทำหน้าที่ของ “สื่อ”