ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (2)

 

ตํานานฝ่ายพราหมณ์-ฮินดู ที่เกี่ยวกับมหาสงครามระหว่างเหล่าเทวดาคนดีกับอสูรคนชั่วซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากและถูกถ่ายทอดผ่านศิลปะหลายแขนงมานับพันปี คือ กวนเกษียรสมุทร

หากใครนึกไม่ออก ขอให้นึกถึงประติมากรรมโลหะปิดทองประดับกระจกขนาดใหญ่ยาวกว่า 20 เมตร ในบริเวณโถงผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ นั่นแหละครับ ภาพเหตุการณ์ตอนกวนเกษียรสมุทร

ตรงกลางของประติมากรรมคือ เขามันทระ ที่ตั้งอยู่บนหลังเต่า รายล้อมด้วยทะเลน้ำนม ด้านบนคือรูปประติมากรรมนารายณ์ 4 กรยืนอยู่บนยอดเขา

เขามันทระถูกพันรอบด้วยพญานาควาสุกรี โดยหัวพญานาคอยู่ทางด้านซ้าย และลำตัวพญานาคทางด้านนี้ถูกดึงชักโดยเหล่าอสูร ส่วนลำตัวฝั่งด้านขวาและหางพญานาคถูกดึงชักด้วยเหล่าเทวดา

ประติมากรรมชิ้นนี้กำลังบอกเล่าเหตุการณ์ตอนสำคัญที่เรียกว่า กวนเกษียรสมุทร อันเป็นบ่อเกิดของน้ำอมฤต ที่หากใครได้ดื่มเข้าไปจะกลายเป็นอมตะและมีพละกำลังมหาศาล

ตามตำนานเล่าว่า การกวนเกษียรสมุทรใช้เวลายาวนานเป็นพันปีกว่าที่น้ำอมฤตจะเกิดขึ้น และสุดท้าย เหล่าเทวดาคนดีคือผู้มีโอกาสดื่มน้ำอมฤตแต่เพียงฝ่ายเดียว และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้สามารถเอาชนะเหล่าอสูรคนชั่วได้โดยง่าย

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับตำนานเรื่องนี้ อาจสงสัยว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมเหล่าอสูรถึงเข้ามาช่วยให้การกวนเกษียรสมุทรครั้งนั้นจนสำเร็จ อันจะนำมาสู่ความพ่ายแพ้ย่อยยับของพวกตนเอง

คำตอบของคำถามนี้ หากได้ลองอ่านเรื่องราวของเหตุการณ์นี้ดูอย่างละเอียด อาจจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างความดีและความชั่วสำหรับใครหลายๆ คนมลายหายไปเลยก็เป็นได้ (ผมเองเป็นหนึ่งในนั้น)

ตํานานเรื่องนี้ก็เป็นเช่นเรื่องเล่าเก่าแก่ทั่วโลกนะครับที่มักมีหลายสำนวน และแต่ละสำนวนก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้น ผมจะขอเลือกเล่าตามสำนวนที่ชนชั้นนำไทยน่าจะคุ้นเคยที่สุด โดยอ้างอิงมาจากหนังสือลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2465

ต้นเรื่องของเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อฤๅษีชื่อว่า ทุรวาส ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งเขาได้รับพวงมาลัยที่ร้อยขึ้นจากดอกไม้นานาชนิดบนสรวงสวรรค์จากสตรีนางหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมา ฤๅษีได้มีโอกาสพบกับพระอินทร์ที่กำลังขี่ช้างเอราวัณ จึงได้มอบพวงมาลัยดังกล่าวให้พระอินทร์

พระอินทร์ได้นำมาลัยมาคล้องที่หัวช้าง แต่ด้วยกลิ่นดอกไม้ที่หอมแรง ได้ทำให้ช้างเกิดคลุ้มคลั่ง เอางวงตะวัดพวงมาลัยทิ้งลงพื้นและใช้เท้าเหยียบซ้ำ

ฤๅษีโกรธมากเพราะคิดว่าโดนดูหมิ่นจึงทำการสาปพระอินทร์ ให้ทำการศึกพ่ายแพ้ต่อเหล่าอสูร คำสาปเป็นผล นับแต่นั้นมา พระอินทร์และเหล่าเทวดาต่างกำลังวังชาลดลงและรบแพ้อสูรอยู่เสมอ

สุดท้ายเหล่าเทวดาต้องไปขอร้องให้พระนารายณ์ช่วยแก้ไข

พระนารายณ์บอกว่าสิ่งเดียวที่จะช่วยได้คือการกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้เกิดน้ำอมฤตเท่านั้น แต่เหล่าเทวดาไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องให้เหล่าอสูรมาร่วมด้วย

พระนารายณ์ได้ออกอุบายให้พระอินทร์แสร้งไปผูกไมตรีสงบศึกกับอสูร ชวนกันมาช่วยกวนเกษียรสมุทร โดยสัญญาว่า เมื่อได้น้ำอมฤตแล้วจะแบ่งกันดื่มคนละครึ่ง

อสูรใสซื่อยอมมาช่วย เหล่าเทวดาจึงตระเตรียมพิธีการ โดยยกเขามันทระปักลงกลางเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เอาพญานาควาสุกรีมาพันรอบและแบ่งข้างกันดึงชักไปมาเพื่อเปลี่ยนทะเลน้ำนมให้กลายเป็นน้ำอมฤต

เมื่อเวลาผ่านไป เขามันทระทรุดลงจะทะลุปฐพี พระนารายณ์จึงได้ทำการอวตารเป็นเต่า โดยเอากระดองรองเขามันทระเอาไว้ ขณะเดียวกันพระนารายณ์ก็แบ่งภาคอีกส่วนมาประทับยืนบนยอดเขามันทระ คอยปัดเป่าเมฆฝนให้ตกลงมาทางด้านเทวดาจนเกิดความเย็นฉ่ำสบายกันถ้วนทั่ว

ในขณะที่ฝั่งอสูรร้อนรุ่มเพราะเมื่อพญานาควาสุกรีถูกชักดึงไปมาก็โมโหและพ่นไฟออกมาจากปากแผดเผาเหล่าอสูรโดยตลอด แต่ด้วยความหวังที่จะได้ดื่มน้ำอมฤต อสูรจึงอดทนและชักดึงเขามันทระอย่างไม่หยุดหย่อนต่อไป

เมื่อน้ำอมฤตบังเกิดขึ้น เหล่าอสูรต่างดีใจและพากันกรูเข้าไปเพื่อจะดื่มกินตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับเหล่าเทวดา แต่เมื่อพระนารายณ์เห็นดังนั้นก็รีบแปลงกายเป็นเป็นสตรีที่มีรูปโฉมงดงามยิ่ง เข้าไปยั่วยวนเหล่าอสูรให้หลงเคลิ้มจนลืมน้ำอมฤต และเปิดโอกาสให้เหล่าเทวดาดื่มกินน้ำอมฤตจนหมดสิ้นเพียงฝ่ายเดียว

 

เรื่องเล่าจบลงตรงที่นับแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่าเทวดาคนดีก็รบชนะอสูรคนชั่วทุกครั้ง และโลกก็กลับมาสงบสุขอีกครั้ง

การโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นกระทำบางอย่างโดยรับปากว่าจะมอบผลผลิตที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงให้ครึ่งหนึ่ง แต่พองานเสร็จกลับริบเอาของทั้งหมดเป็นของตนเอง สิ่งนี้คือการกระทำของคนดี?

การแบ่งงานก็ลำเอียง เลือกแต่งานง่าย (ฉุดดึงพญานาควาสุกรีที่ส่วนหาง) และโยนงานลำบากให้อีกฝ่าย (ฉุดดึงพญานาควาสุกรีที่ส่วนหัว จนถูกไฟแผดเผา)

นี่คือคุณธรรมของคนดี?

หัวหน้างานยิ่งแล้วใหญ่ ในขณะที่งานกำลังดำเนินไปอย่างยากลำบาก หัวหน้าที่ควรวางตัวเป็นกลางกลับโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่ง (เป่าลมพัดเย็น และบันดาลฝนชุ่มฉ่ำแต่พวกเทวดา) และปล่อยคนทำงานที่ตัวเองไม่ชอบให้ลำบาก

นี่คือศีลธรรมของผู้ปกครองที่ดี?

ความเสื่อมในพลังอำนาจของพระอินทร์ และเหล่าเทวดาตั้งแต่ต้นเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับความเลวร้ายอะไรของอสูรแม้เพียงนิดเดียว แต่มีมูลเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของพระอินทร์โดยแท้ แต่สุดท้ายต้องอาศัยอสูรมาช่วยแก้ไขด้วยการหลอกเขามาทำงานฟรี

นี่คือจริยธรรมของคนดี?

สำหรับผม กวนเกษียรสมุทร คือเหตุการณ์ที่เปลือยเปล่าเหล่าคนดีให้ล่อนจ้อน เผยความกะล่อนและไร้ศีลธรรมของเหล่าเทวดาออกมาอย่างโล่งโจ้ง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในตำนานพื้นบ้านฝ่ายไทยยังมีการเล่าขยายความแปลกออกมาอีกสำนวนหนึ่งคือ ณ ขณะที่เทวดากำลังแอบดื่มน้ำอมฤตอยู่ฝ่ายเดียว มีอสูรตนหนึ่งนามว่า ราหู มีสติและสามารถแอบมาดื่มน้ำอมฤตได้ แต่น่าเสียดาย ขณะที่น้ำอมฤตกำลังไหลลงคอ เทวดานามว่า พระอาทิตย์ กับพระจันทร์ ทราบเรื่องจึงรีบไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ผู้แสนลำเอียง จึงรีบขว้างจักรตัดราหูขาดเป็นสองท่อน

แต่ราหูที่ได้ดื่มน้ำอมฤตไปครึ่งตัวแล้วทำให้ร่างกายส่วนบนไม่ตาย และต่อมาได้กลายมาเป็นราหูที่คอยตามอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพื่อแก้แค้น

เรื่องเล่านี้คือที่มาของการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า สุริยุปราคา และจันทรุปราคา

ตำนานปลีกย่อยในส่วนนี้ ยืนยันอีกครั้งให้เห็นถึงความอัปลักษณ์ของเหล่าเทวดา

การกระทำของราหู หากพิจารณาอย่างถ่องแท้ คือการกระทำที่เรียกร้องในสิทธิและในสิ่งที่ตนเองควรได้รับ มิใช่เรื่องชั่วร้ายแต่อย่างใด เหล่าเทวดาต่างหากที่กระทำในสิ่งที่น่าละอายและเลวร้าย

 

เรื่องเล่าเหล่านี้ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทำหน้าที่ส่งผ่านค่านิยมความดีชุดนี้จากรุ่นสู่รุ่น ผ่านสื่อกลางหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิทาน ตำนาน ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม ละคร ฯลฯ โดยแทบไม่มีใครตั้งคำถามและสงสัยต่อการกระทำเหล่านี้เลยว่ามันคู่ควรแท้จริงแล้วหรือที่เราจะนิยามมันว่าความดี

เมื่อถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมย้อนคิดและหวนกลับมามองสังคมคนดีร่วมสมัยของไทย และก็เริ่มรู้สึกว่า พลังของเรื่องเล่าชุดนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่ง (ในหลายๆ อย่างนะครับ) ที่ส่งอิทธิพลต่อทัศนะว่าด้วยการทำความดี และการเป็นคนดีของสังคมไทย (โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำที่มีโอกาสมากกว่าที่จะได้ซึมซับเรื่องเล่าชุดนี้) มากกว่าที่เราคิด

เหตุการณ์กวนเกษียรสมุทร และการรัฐประหารของพระอินทร์บนยอดเขาพระสุเมรุ (ที่เล่าไปเมื่อตอนที่แล้ว) กำลังกระซิบบอกแก่พวกเขาเหล่านั้นโดยนัยว่า หากได้ชื่อว่าเป็นคนดี หรือเทวดาเสียแล้ว ต่อให้ต้องโกหกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ ลำเอียง หรือแม้กระทั่งใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นที่ถูกตีตราว่าเป็นคนเลว หรืออสูร ก็ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม เสียหาย และน่าละอายแต่อย่างใด

ในนามคนดี ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไร เลวร้ายเพียงใด หรือรุนแรงแค่ไหน ย่อมไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เป้าหมายมีเพียงอย่างเดียวคือกำจัดคนที่ถูกตีตราว่าคนชั่วให้ได้ก็เพียงพอ