หลังเลนส์ในดงลึก : ‘พลัง’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
แรดนอเดียว ในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศเนปาล หนึ่งในห้าชนิดของแรดที่มีบนโลก แรดไม่ว่าจะอยู่ที่ใดมักถูกคุกคามจากคนล่าเพื่อเอาชิ้นส่วนโดยเฉพาะนอ

 

 

‘พลัง’

 

13.20 นาฬิกา

ผมนั่งอยู่หลังกอหญ้าสีเหลืองแห้งๆ ริมลำห้วย ที่หาดทรายขยายกว้าง ไอแดดสะท้อนผืนทรายระยิบ สายลมพัดเอื่อยๆ เช่นเดียวกับสายน้ำที่ไหลช้าๆ

อากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส

ผมมองรอบๆ คล้ายเป็นบรรยากาศอันคุ้นเคย ในแถบป่าด้านตะวันตกซึ่งเป็นที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงาน

ในฤดูแล้ง ในวันที่น้ำเหลืออยู่เพียงในลำห้วยสายหลัก เฝ้ารอสัตว์ป่าอยู่แถวๆ ริมลำห้วย เวลาบ่ายๆ สัตว์ป่ามักลงมาที่น้ำ

วันนี้ผมใช้เวลาไม่นาน ริมลำห้วยอีกฝั่ง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ตัวหนึ่งโผล่ออกมาจากดงหญ้า มันก้าวลงน้ำ เดินข้ามและมุ่งตรงมาทางฝั่งนี้ ระดับน้ำไม่สูงนักเพียงท่วมข้อเท้า

สัตว์ตัวที่โผล่ออกมา ทำให้ผมรู้ว่า ผมไม่ได้กำลังอยู่ที่อันคุ้นเคย ไม่ได้อยู่ในแถบป่าด้านตะวันตกของประเทศไทย

ผมอยู่ริมลำห้วยในป่าจิตวันประเทศเนปาล

และสัตว์ที่กำลังเดินมุ่งหน้ามา เป็นสัตว์ที่สาบสูญไปจากแหล่งอาศัยที่พวกมันเคยอยู่ในป่าด้านตะวันตกแล้ว

คือ แรดนอเดียว แรดชีวิตที่อาจพูดได้ว่า ในวันนี้ เดือนพฤศจิกายน ปีพุทธศักราช 2564 แม้จะมีการสำรวจพบร่องรอยอันทำให้มีความหวังถึงการยังมีอยู่ของพวกมัน

ในบางพื้นที่ ในป่าแถวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การพบเจอตัวพวกมัน ยังเป็นเพียงความหวัง

ผมกดชัตเตอร์ไปไม่มาก ใช้เวลากับการละสายตาจากช่องมองภาพเพื่อ “เห็น” แรดนอเดียวตัวหนึ่งเดินเข้ามาหา

มันเป็นวินาทีแห่งความปลื้มปีติ เป็นเช่นเดียวกับครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้พบกับชีวิตซึ่งใช้เวลาไปไม่น้อยกับการตามหา

 

วันนั้น เป็นเวลา 7 โมงเช้า แสงแดดอ่อนนุ่มครอบคลุมทุ่งหญ้ากว้าง สายลมเย็นสดชื่น

ผมอยู่สูงจากพื้นร่วมสองเมตร โยกเยกไปตามจังหวะการเดินของช้าง

ผมอยู่บนหลังช้างมาแล้วร่วมสองชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เส้นทางป่าแคบๆ ข้ามหนองน้ำตื้นๆ ซึ่งระดับน้ำท่วมหัวเข่าช้าง ขึ้นเนินเล็กๆ ทะลุออกทุ่งหญ้า ที่หยดน้ำเกาะปลายใบกระทบแสงยามเช้าเป็นประกาย

ช้างหยุดเดิน ชูงวงสูดกลิ่นเมื่อผ่านหนองน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง หนองน้ำถูกห้อมล้อมด้วยดงหญ้าเขียวๆ หนาทึบ ความสูงหญ้าราวระดับท้องช้าง

ผมขยับกล้องตอนหญ้าริมหนองน้ำไหวยวบยาบ คล้ายมีสัตว์ขนาดใหญ่กำลังเดินออกมา

ช้างหันไปทางทิศที่หญ้าไหว ท่ามกลางประกายระยิบจากการสะท้อนแสงอาทิตย์ของหยดน้ำปลายยอดหญ้า

ร่างทะมึนโผล่พ้นดงหญ้า ห่างไปไม่ถึง 5 เมตร ผมแนบสายตากับช่องมอง เลนส์เทเลโฟโต 200 มิลลิเมตร

ร่างทะมึนเงยหน้า สบตา ปากหยุดเคี้ยว วินาทีนั้นคล้ายเวลาจะหยุดนิ่ง รอบข้างเงียบสงัด ผมกดชัตเตอร์ ละสายตาจากช่องมองภาพ ผมเห็นแรดนอเดียวตัวหนึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ

เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสพบกับแรด ผมจำวินาทีนั้นได้ดี

ไม่เพียงเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้รับโอกาสให้พบแรด แต่มันคือความรู้สึกคล้ายมีพลังเข้ามาเติมเต็มในหัวใจ

 

ย้อนเวลากลับไปสัก 80 ปี ในประเทศไทย แรดไม่ใช่ชีวิตแปลกหน้าของคนนัก พวกมันก็เหมือนสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ใช้ชีวิตในแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงอันเรียกได้ว่า “หายนะ” ของพวกมันจะมาเยือน

เคยมีแรดสองชนิดอยู่ในป่าไทยคือ แรดชวา และอีกชนิดหนึ่งมีขนาดย่อมกว่าคือกระซู่

แรดชวามีนอเดียว มีบันทึกถึงแรดชวาว่า ปกติจะอยู่ลำพัง ใช้ชีวิตอย่างเงียบเชียบในป่าดงดิบชื้นที่ราบต่ำใกล้แหล่งน้ำ ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หากินยอดไม้ ใบไม้ และผลไม้ซึ่งร่วงหล่นบนพื้นดิน รักการนอนแช่ปลัก

กระซู่นั้นมีขนาดเล็กกว่า ได้รับการออกแบบมามีลักษณะพิเศษริมฝีปากด้านบนแหลมใช้เหนี่ยวใบไม้มากินได้

มีบันทึกว่า กระซู่ตัวผู้ รักอิสระชอบร่อนเร่ไปทั่ว ขณะตัวเมียอยู่ติดที่ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาณาเขตตัวเอง

 

พวกมันพบกับหายนะ เพราะแหล่งอาศัยเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่ง

แต่นอแรด รวมทั้งอวัยวะต่างๆ ของพวกมัน ในความเชื่อว่า มีสรรพคุณสูง ราคาแพง นี่เป็นสาเหตุสำคัญอันทำให้แรดบนโลกใบนี้ถูกไล่ล่าฆ่าเอาซาก

ถึงวันนี้ แรดชวาพบเจอบ้างในป่าด้านตะวันตกประเทศอินโดนีเซีย และป่าทางตอนใต้ประเทศเวียดนาม

ในประเทศไทย สูญพันธุ์แล้ว

กระซู่อยู่ในดงดิบทึบ หลายปีก่อน พบเจอร่องรอยในป่าภูเขียว

มีความหวังอยู่ในป่าทางใต้เขตรอยต่อประเทศ

สถานภาพกระซู่ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

 

แม้ว่าผมจะพบความจริงว่า การไล่ตามหาสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์นั่นไม่ต่างจากการวิ่งไล่ตามเงาของตัวเอง ซึ่งไม่มีวันทัน

รวมทั้งใช้เวลากับการ “ฝังตัว” อยู่ในป่าแห่งเดียวเพื่อทำความรู้จัก และรับบทเรียนจากเหล่าสัตว์ป่าที่ผมเปรียบเป็น “ครู” ที่พบเจอได้ง่ายๆ แล้วก็ตาม

แต่ดูเหมือนว่า กระซู่จะไม่ได้หายไปจากใจ

ผมใช้เวลาในป่าทิวเขาบูโดอันเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี รวมทั้งป่ารอยต่อชายแดนไทย-มาเลย์

นอกจากจะร่วมอยู่ในทีมโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) แล้ว เรื่องราวกระซู่ ที่มีคนเล่าขานการพบเจอร่องรอย ก็เป็นเป้าหมายในใจอย่างหนึ่ง

อาจไม่เพียงเพราะว่ากระซู่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

แต่มันคือความหมายของการกระทำในสิ่งตั้งใจ ผมบอกตัวเองว่า ฝันถึงจุดหมาย โดยไม่เริ่มต้นออกเดิน เวลาจะผ่านเคลื่อนไปอย่างเปล่าประโยชน์

วันหนึ่ง จะพบกระซู่หรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่เรื่องราวระหว่างตามหา ผมเชื่อว่า จะไม่ใช่การผ่านวันเวลาไปอย่างว่างเปล่า

 

ในวันที่พบกับแรดนอเดียว ผมรู้สึกราวกับมีสิ่งมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นตรงหน้ากลางทุ่งกว้างในอุทยานแห่งชาติ คาซิรังก้า แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย

เช่นเดียวกับนาทีที่แรดนอเดียวในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศเนปาล โผล่ออกมาจากพงหญ้า เดินข้ามลำห้วยตรงเข้ามา

ผมไม่รู้หรอกว่า ชีวิตในร่างสัตว์ดึกดำบรรพ์เช่นนี้เอาตัวรอดมาได้อย่างไร ท่ามกลางวิถีแห่งความเปลี่ยนแปลง

ผมเห็นร่างทะมึนหนา ท่วงท่าองอาจเมื่อมันเดินเข้ามาใกล้

ได้ใกล้ชิดสบสายตา ผมจึงสัมผัสได้ว่า ร่างกายอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ “ข้างใน” ซึ่งเรียกว่าหัวใจ คือสิ่งสำคัญในการนำพาร่างกายยืนหยัดเดินหน้าไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง

เรียกได้ว่า มันคือ “พลัง”

มีพลังเช่นนี้อยู่ในหัวใจ

หนทางรกทึบ สูงชัน ก็ดูคล้ายจะไม่ใช่อุปสรรค ทั้งอยู่กับความเปลี่ยนแปลง และการตามหาสิ่งที่รู้ว่า อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีวันพบ