สีกากีฉาว รีดไถแบ๊กโฮ สวมรอย ‘ฉก.ศปทส.ตร.’ ‘รอย’ สั่งฟันวินัย-อาญา/โล่เงิน

โล่เงิน

 

สีกากีฉาว รีดไถแบ๊กโฮ

สวมรอย ‘ฉก.ศปทส.ตร.’

‘รอย’ สั่งฟันวินัย-อาญา

 

เรื่องราวอื้อฉาวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้ประกอบการรถแบ๊กโฮแถบภาคอีสานหลายจังหวัด อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู เลย สุดทนพฤติกรรมตำรวจนอกแถว อ้างคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 240/2564 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เป็นชุดปฏิบัติการ “ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปทส.ตร.”

ทำตัวเป็นมาเฟียศาลเตี้ย สั่งจับและปรับเอง เจ้าของรถแบ๊กโฮรายละ 20,000-100,000 บาท แถมยังขอผูกปิ่นโตเรียกเก็บเงินรายเดือน บางรายไม่มีให้ก็ใช้วิธีการยึดเครื่องมือทำมาหากิน สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้กับผู้ประกอบการหลายรายในจังหวัดภาคอีสาน

เจ้าของแบ๊กโฮรายหนึ่งระบายความอัดอั้น

“ถูกผู้ที่อ้างเป็นตำรวจมาจากส่วนกลางรีดไถ ช่วงแรกๆ ก็ยอมจ่ายไป แต่เมื่อนานเข้ามาเก็บทั้งหน้างานและให้จ่ายรายเดือน งานช่วงนี้ยิ่งมีน้อยจำต้องเจียดให้เงินกับกลุ่มนี้ กลัวเขามายึดแบ๊กโฮ พอเดือดร้อนหนักเลยติดต่อผู้ประกอบการที่มีรถแบ๊กโฮด้วยกัน จึงรู้ว่าต่างถูกผู้ที่อ้างเป็นตำรวจข่มขู่รีดไถ่มาเกือบทุกคน บางคนสุดจะทนบอกให้จับ แต่กลุ่มนี้ไม่ยอมไปสถานีตำรวจ แล้วก็กลับไป แต่จะโทร.มาข่มขู่ สร้างความเดือดร้อนไปถึงครอบครัว ทำตัวเยี่ยงโจรในคราบตำรวจ”

ไม่ปล่อยให้สังคมเคลือบแคลงใจนาน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปทส.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดและรายงานให้ทราบโดยเร็ว

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) กล่าวว่า ผอ.ศปทส.ตร.ได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน

เบื้องต้นทราบว่า ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์ดาบตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร่วมกับพลเรือน แอบอ้างเป็นตำรวจ ศปทส.ตร. ก่อเหตุในลักษณะใกล้เคียงกันที่ จ.อุดรธานี ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้ พล.ต.อ.รอยย้ำว่า หากพบว่าเป็นความผิดทางวินัยและอาญา ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดไม่มีละเว้น

 

เมื่อตรวจสอบ คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 240/2564 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 64 พบรายชื่อดาบตำรวจ บช.น. ต้องสงสัยกระทำผิด อยู่ในฝ่ายปฏิบัติการ ศปทส.ตร. มีอำนาจหน้าที่สืบสวน สอบสวนหาข่าว ขยายผล จับกุม ผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

แต่คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกไปตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2564 หลัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.รอยเข้ามากำกับดูแลศูนย์ดังกล่าว เมื่อ 1 ตุลาคม 2564

จึงต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กรณีภาพข่าวที่ผู้เสียหายนำมาร้องทุกข์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และตำรวจคนดังกล่าวไปก่อเหตุขณะยังเป็นชุดปฏิบัติการ ศปทส.ตร. หรือไม่

 

ด้าน พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบในหลายมิติ ทั้งผู้ที่ถูกร้องเรียนว่าเป็นข้าราชการตำรวจ มีอำนาจหน้าที่อย่างไร เพราะขณะนี้ชุดปฏิบัติการ ศปทส.ตร. ภายใต้กำกับดูแลของ พล.ต.อ.รอย ยังไม่ได้จัดชุดปฏิบัติการใดๆ นับตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น จำเป็นต้องตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงใด เป็นข้าราชการตำรวจสังกัดใด กระทำจริงหรือไม่อย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาประกอบพิจารณาทางอาญา

“ผมได้ให้นโยบาย ผบช.ภ.4 ไปว่า หากผิดจริง ไม่มีละเว้น เป็นไปตามนโยบาย ผบ.ตร.อยู่แล้วว่า ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีต้องรับโทษ และอีกมิติหนึ่งต้องดูว่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้ร้องเรียน มีการกระทำผิดจริงหรือไม่อย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ยืนยันว่าไม่มีการช่วยใครทั้งตำรวจและผู้กระทำผิด ไม่ปกป้องใคร ตำรวจไม่ดีไม่เลี้ยงไว้ ผิดก็ออกไป”

พล.ต.ท.กิตติ์รัฐกล่าว

 

สําหรับชุดปฏิบัติการ ศปทส.ตร. ภายใต้กำกับดูแลของ พล.ต.อ.รอย มี พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ และ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองผู้อำนวยการ ยังอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาอยู่ในศูนย์ พิจารณาตัวบุคคลที่เป็นคนทำงาน มีความประพฤติที่ดี

โดยทั้ง พล.ต.ท.กิตติ์รัฐและ พล.ต.ท.ประจวบช่วยกันคัดกรอง โดยจะสร้างหัวหน้าชุดขึ้นมา เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญกฎหมายเหล่านี้ หรืออาจพิจารณาจากชุดเดิม สเป๊กคือต้องคัดสรรคนที่ทำงานจริงๆ เข้ามา

ทั้งนี้ “ศปทส.ตร.” เป็น 1 ใน 19 ศูนย์อาชญากรรมพิเศษของ ตร. ที่มีกระบวนการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน เป็นคนที่ผู้บังคับบัญชาไว้ใจ ลงไปทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เพื่อตัดตอนการหาผลประโยชน์ในพื้นที่ มีอำนาจเข้าไปปราบปรามการกระทำผิดต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งยังมีเหลือบไรแอบแฝงเข้ามาสร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กรสีกากี

 

ทว่าเหตุการณ์ข่มขู่รีดเงินจากตำรวจที่อ้างตัวว่าทำงานให้ศูนย์อาชญากรรมพิเศษฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งแรก ยกตัวอย่าง เมื่อ 3 กันยายน 2561 มีผู้อ้างเป็นตำรวจจากศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.) รีดส่วยโรงงานลูกชิ้นหมูยอ 70,000 บาท หลังพบไม่มีใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ให้ถูกดำเนินคดี

12 มิถุนายน 2563 เจ้าของปั๊มใน จ.อ่างทอง ร้องเรียนถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ อ้างมาจากศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) ข่มขู่ตบทรัพย์แลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี หลังใบอนุญาตประกอบกิจการหมดอายุตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้น

คงถึงเวลาผู้กำกับดูแลศูนย์อาชญากรรมพิเศษฯ ควบคุมผู้ปฏิบัติ ให้เลิกหากินบนความเดือดร้อนของประชาชน ขจัดครหา “ชุดเฉพาะกิจ” ที่ภาพลักษณ์คล้าย “ชุดเฉพาะเก็บ” มากกว่า

ใต้ภาพ

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์