คลิปสั้น DIY ดูเพลินแต่อาจเกินความจริง/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

คลิปสั้น DIY

ดูเพลินแต่อาจเกินความจริง

 

วิดีโอสั้นๆ ที่ฉายให้เห็นข้าวโพดพร้อมเปลือกที่ถูกวางลงไปในกระทะ ราดด้วยน้ำมันท่วมๆ น้ำตาลหรือเกลืออีกหนึ่งช้อน นำตะหลิวมาเขี่ยๆ ให้ฝักข้าวโพดคลุกเคล้ากับส่วนผสมอื่นๆ ครอบฝาไว้สักครู่ เมื่อเปิดฝาขึ้นมา สิ่งที่ผู้ชมเห็นก็คือป๊อปคอร์นหรือข้าวโพดคั่วเหลืองอร่ามโดยมีเศษเปลือกเหลืออยู่ตรงกึ่งกลางของกระทะ

เป็นหนึ่งในวิดีโอฮาวทูที่ฮิตส่งกันในกรุ๊ปไลน์ โดยเฉพาะกรุ๊ปไลน์ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นญาติผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการเสพคอนเทนต์ประเภทนี้เป็นพิเศษ

ในฐานะของการเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง สิ่งที่ผู้ชมได้รับก็คือความรู้สึกประหลาดใจและอิ่มเอิบใจเล็กๆ ที่ได้เห็นฝักข้าวโพดเปลือกเขียวๆ แปลงร่างกลายเป็นป๊อปคอร์นสีสวยท่วมกระทะ

แต่จะมีสักกี่คนที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า สิ่งที่เห็นในคลิปนั้นทำได้จริงหรือ

ถ้าไม่จริง คนที่อยู่เบื้องหลังการทำคลิปแบบนี้ต้องการอะไรกันแน่

 

คลิปวิดีโอฮาวทูสั้นๆ เป็นคลิปที่คนชื่นชอบดูและมักจะมียอดวิวมหาศาล

บน Facebook เราจะเห็นว่ามีเพจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำคลิปวิดีโอประเภท DIY แบบนี้โดยเฉพาะ อย่างเช่นเพจ Blossom ที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 56 ล้านคน หรือ 5-Minute Crafts ที่มีผู้ติดตามถึง 66 ล้านคน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้คนบนอินเตอร์เน็ตสามารถเสพคอนเทนต์ประเภท DIY สั้นๆ ได้แบบไม่มีสิ้นสุด

และเมื่อแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok เกิดขึ้นก็ยิ่งกลายเป็นแหล่งปล่อยของชั้นดีสำหรับคอนเทนต์ประเภทนี้ เมื่อจำกัดให้วิดีโอสั้น วิดีโอจึงจำเป็นต้องดึงดูดความสนใจของคนได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่มาของวิดีโอการทำป๊อปคอร์นด้วยข้าวโพดทั้งฝักที่ไม่สามารถทำตามได้ในชีวิตจริง

จากประสบการณ์การดูวิดีโอประเภท DIY สั้นๆ มา ฉันคิดว่าเราสามารถแบ่งวิดีโอนี้ออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกก็คือ ทำตามได้จริงและได้ผลดี

กลุ่มที่สอง ทำตามได้จริงแต่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้

และกลุ่มที่สามคือ หลอกลวงล้วนๆ เป็นวิดีโอที่ถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แถมบางอันอาจจะอันตรายด้วย

กลุ่มแรกเราคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงเพราะมันก็อธิบายตัวมันเองได้ดีอยู่แล้ว

แต่ฉันว่ากลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามนี่แหละที่น่าสนใจ

วิดีโอ DIY ประเภทที่ดูเสร็จแล้วเกิดคำถามว่าเราจะทำแบบนี้ไปเพื่ออะไรกันมีให้เห็นเกลื่อนอินเตอร์เน็ต

อันที่ฉันคิดว่าประหลาดที่สุดเท่าที่เคยดูมาก็คือวิดีโอที่เริ่มด้วยการนำไข่หนึ่งใบหย่อนลงไปในแก้วไวน์ เทน้ำส้มสายชูตามลงไป ปล่อยแช่เอาไว้แบบนั้น 1 วัน ตักไข่ที่แปลงสภาพกลายเป็นสีเหลืองอมส้มและมีเนื้อหยุ่นๆ ไปวางไว้ข้างๆ ไข่ปกติ แล้วเขียนกำกับภาพว่า “ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม” นำไฟฉายมาส่องรอบๆ ไข่ใบที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แล้วนำไข่ใบนั้นใส่เข้าไปในแก้วอีกใบ คราวนี้เทเมเปิลไซรัปลงไป รออีก 1 วันเต็ม ล้วงลงไปหยิบไข่สีอมน้ำตาลออกมา

ควรจะจบแค่นี้ แต่ยังค่ะ คราวนี้รินน้ำเปล่าลงไป หยดสีน้ำเงินลงไปในน้ำ และแน่นอน รออีก 1 วัน ก็จะได้ไข่สีน้ำเงินเข้มเด้งดึ๋งได้ที่เมื่อนำมาวางเทียบกับไข่แช่น้ำส้มสายชูและไข่ปกติแล้ว ไข่ใบสุดท้ายจะมีขนาดใหญ่ที่สุด

หรือ “ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง”

ฉันคิดว่าคงไม่มีใครที่ว่างพอหรืออยากฆ่าเวลามากพอที่จะมาทำตามคลิป DIY นี้แบบทีละขั้นๆ เพราะเมื่อดูจบแล้วก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย ไข่ใหญ่ขึ้นแล้วไง?

ไข่กลายเป็นสีน้ำเงินแล้วไง?

ไข่เด้งดึ๋งได้แล้วไง?

คนที่ดูคลิปนี้จบน่าจะต้องถามตัวเองแน่ๆ ว่า “ฉันเพิ่งจะดูอะไรจบไปเนี่ย”

แต่คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้ ก็คือคำว่า “ดูจบ” นี่แหละค่ะ การที่เราดูวิดีโอนี้จนจบก็แปลว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการทำวิดีโอคลิปนี้ขึ้นมาได้รับเงินส่วนแบ่งจากแพลตฟอร์มไปแล้วเรียบร้อย

ฉากหน้าของวิดีโอประเภทนี้หลอกให้เราเข้าใจว่าเป็นวิดีโอ DIY ที่เมื่อดูแล้วเราจะมีความรู้ประเภท “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” เพิ่มเข้ามาในสมอง แต่อันที่จริงมันคือคอนเทนต์ไม่มีประโยชน์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ทางด้านการเงินให้กับคนทำเท่านั้น

ถ้าหากประเภทที่สองแค่ทำให้เราเสียเวลา ประเภทที่สามก็จะแย่กว่านั้น เพราะเป็นคลิป DIY ผิดๆ ที่หลอกให้เราหลงเชื่อ

และหากลงมือทำตามจริงก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย

 

หนึ่งในตัวอย่างคลิป DIY ที่หลอกให้คนหลงเชื่ออย่างได้ผลก็คือคลิปที่บอกว่าเราสามารถชาร์จ iPhone ของเราในไมโครเวฟได้!

คลิปนี้ต่อยอดมาจากภาพโฆษณาปลอมเมื่อหลายปีก่อนที่แอบอ้างว่าเป็นของ Apple เอง โดยแนะนำว่าผู้ใช้งานสามารถนำ iPhone ใส่เข้าไปในไมโครเวฟแล้วจะได้เปอร์เซ็นต์ของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นมา

ด้วยคอมมอนเซนส์แล้วการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไปในไมโครโวฟไม่น่าจะเป็นเรื่องที่มีจุดจบที่ดีแน่ๆ

แต่เมื่อถูกหยิบมาห่อด้วยโปรดักชั่นวิดีโอและการตัดต่อที่แนบเนียน การใส่ iPhone เข้าไปในไมโครเวฟก็กลายเป็นเรื่องที่น่าจะเชื่อถือได้ขึ้นมาทันที

เพราะคนในคลิปวิดีโอ “ทดลองทำ” ให้ดูแล้ว และเขาก็ชาร์จแบตเตอรี่ด้วยวิธีนี้ให้เราได้เห็นกับตาจริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นก็คือผู้ประสบภัย iPhone ลุกไหม้ในไมโครเวฟซึ่งเกิดขึ้นหลายเคสจนหน่วยงานดับเพลิงของสหรัฐต้องออกคำเตือน

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ใช้งานเหล่านี้ยังโพสต์โซเชียลมีเดียตำหนิ Apple ว่าให้คำแนะนำอะไรออกมาไม่ได้เรื่องเอาเสียเลยอีกต่างหาก

 

อีกหนึ่งรูปแบบวิดีโอ DIY ที่หลอกกันในระดับที่เสียหายน้อยกว่านี้แต่พื้นฐานก็คือการโกหกเหมือนกัน ก็คือ DIY วิธีการทำอาหารและขนม หรือที่เรียกรวมๆ ว่า kitchen hacks

วิดีโอประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำอาหารหรืออบขนมด้วยทริกแบบแปลกใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

อย่างการทำขนมด้วยการใส่ส่วมผสมเข้าไปในกล่องนมแล้วนำไปเข้าไมโครเวฟ (อีกแล้ว!) เพื่อให้ออกมาเป็นก้อนคัสตาร์ดเด้งดึ๋ง

การนำกัมมี่แบร์ไปละลายแล้วเปลี่ยนให้เป็นขนมหวานเยลลี่นุ่มหยุ่น

การเทคาราเมลเหลวลงไปบนเครื่องตีไข่ที่กำลังหมุนอยู่เพื่อให้ออกมาเป็นเส้นบางๆ ฝอยๆ ที่เราสามารถนำไปแต่งหน้าขนมได้

ทั้งหมดนี้เป็นวิดีโอ DIY ที่ดูแล้วแสนจะเพลิดเพลิน แต่หากตั้งใจลองทำตามขึ้นมาจะพบว่าไม่มีความจริงอยู่ในนั้นเลย

เชฟมืออาชีพยืนยันว่าตามหลักการวิทยาศาสตร์ของอาหารแล้วสิ่งที่เห็นในคลิปไม่มีวันทำได้จริง และได้ลงมือพิสูจน์ให้เห็นชัดๆ พบว่ากัมมี่แบร์ละลายแล้วจะแข็งจนช้อนแทบหัก

หรือคาราเมลเหลวที่ร้อนจัดจะพุ่งไปทุกทิศทุกทางแบบที่ไม่สามารถจัดรูปได้

 

คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะเห็นต่างว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย ถึงจะทำตามจริงไม่ได้ แต่แค่ได้ดูเพลินๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วไม่ใช่เหรอ

อย่าลืมนะคะว่าเราไม่ได้เสียเพียงแค่เวลาอย่างเดียว แต่หลายๆ อย่างที่เราดูมันเข้าไปสั่งสมวิธีคิดและความเข้าใจผิดๆ ที่อาจจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

เราดูวิดีโอไข่ที่ใหญ่ขึ้น เราอาจจะเสียแค่เวลา แต่ถ้าวันหนึ่งเราเกิดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการชาร์จแบตเตอรี่อย่างเร่งด่วนแล้วเราเกิดนึกขึ้นได้ว่าเราชาร์จแบตในไมโครโวฟก็ได้นี่ เมื่อนั้นความบรรลัยก็จะมาเยือนทันที

ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีคนส่งวิดีโอ DIY สั้นๆ ดูเพลินๆ มาให้เรา ก่อนที่จะส่งต่อ ลองถามตัวเองดูสักหน่อยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวิดีโอมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน มันจำเป็นไหม น่าจะอันตรายหรือเปล่า

ทำบ่อยๆ แล้วเราจะเริ่มแยกแยะได้ว่าวิดีโอ DIY อันไหนดี อันไหนแย่ ในที่สุดค่ะ