มนัส สัตยารักษ์ : ลงทุนส่วนล่างของตำรวจ

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันแหละว่าไปเอาความคิดมาจากไหน ถึงบังอาจมาเขียนเรื่ององค์กรตำรวจและงานสอบสวน ด้วยว่าความคิดของผมตรงกันข้ามกับความคิดของคนผู้เป็นอาจารย์ และเห็นแย้งกับนักวิชาการระดับปริญญาเอก และไม่เห็นด้วยกับอดีต สปช. คนดัง

ทั้งหมดทำให้ผมต้อง “ข้ามรุ่น” เหมือนไปชนกับพลตำรวจเอก หรือขัดแย้งกับด๊อกเตอร์ รวมไปถึงคนดัง

เปิดเผยชื่อได้ครับ ไม่ถือเป็นความลับ

อาจารย์ที่ผมเคารพนับถือคือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีต รอง อ.ตร.

ส่วนนักวิชาการระดับด๊อกเตอร์ คือ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้มีชื่อเสียง

ผมทิ้งความเป็นนักเขียนเสียกว่า 10 ปี นั่นยังพอเรียกคืนมาได้เพราะยังอ่านของคนอื่นที่เขาเขียนดีมีคุณค่าอยู่เรื่อยๆ จนซึมซับเข้าไปในความคิด

แต่งานสอบสวนนี่ทิ้งเสียกว่า 20 ปีนับแต่เกษียณอายุ หรือกล่าวให้ตรงและชัดก็คือกว่า 30 ปีนับแต่ก้าวออกจากโรงพักโดยไม่ได้หวนกลับไปอีก และโดยไม่ต้องไปห่วงไปกังวลอะไรแม้แต่น้อย ด้วยความเชื่อมั่นว่าองค์กรตำรวจมีคนดีมากมายที่พร้อมจะพัฒนางานสอบสวนให้ก้าวทันสถานการณ์อาชญากรรม

ผมจำต้องยอมรับตรงๆ ว่าที่หาญข้ามรุ่นเขียนขัดแย้งกับท่านทั้งหลายนั้น เป็นเพราะรู้สึกหงุดหงิดจนรับไม่ได้กับความคิดและข้อเสนอที่มาจากความเกลียดชังตำรวจ แล้วผมก็ผลีผลามเขียนแย้งไปโดยที่ไม่มั่นใจนักว่าตัวเองรู้จริงและรอบด้าน และคิดถูกหรือเปล่า

เสียดายที่ผมไม่มีความรู้มากพอ มีแค่ “ความรู้สึก” ที่มากจนล้น

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยผลงานเขียนมากมาย รับราชการตำรวจตำแหน่งสำคัญคือหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก ตำแหน่งสุดท้ายเป็น รอง อ.ตร. (ฝ่ายกิจการพิเศษ) ต่อมาลาอออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนายตำรวจตงฉินในยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์

ในยุคสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์วสิษฐได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ประเด็นหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือ “เปลี่ยนโครงสร้างกรมตำรวจ” แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรก็หมดเวลาเสียก่อน

ต่อมาในยุคสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์วสิษฐก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ คาดหวังว่าจะได้อาศัยแนวทางของคณะกรรมการชุดก่อนมาพิจารณา แต่ก็ไม่ทัน

ผมเห็นด้วยกับข้อเขียนรวมทั้งความเห็นของท่านเกือบทั้งหมด มีที่ไม่เห็นด้วยก็เพียงบางประเด็นของการเปลี่ยนโครงสร้างกรมตำรวจ

ส่วนที่ผมไม่เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ มาตลอด 60 ปีก็คือความคิดในการแก้ปัญหาของตำรวจด้วยการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรองประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล ม.ราชภัฏจันทรเกษม และผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง ม.รังสิต

ดูตามโปรไฟล์แล้วน่าแปลกใจที่ได้รับการแต่งตั้งมากมาย เมื่อปี 2551 ดร.สังศิตเคยได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร (โดย พล.ต.สนั่น ขจรประสาศน์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อื้อฉาว เป็นผู้ดึงตัวมา) จึงถูกกลุ่มเกษตรกรต่อต้านและกดดันขับไล่

ดร.สังศิตเคยถูกสำนักงาน ปปง. (ซึ่งตนเองเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) ออกแถลงการณ์ว่า “มั่วข้อมูล” ครั้งที่ให้สัมภาษณ์ดิสเครดิตผลงาน ปปง.

ในประเด็นปฎิรูปตำรวจก็เช่นกัน ดร.สังศิตเคยมั่วข้อมูลดิสเครดิตว่า นายตำรวจที่จบจาก รร.นรต. ไม่มีวุฒิภาวะ เพราะเอาเด็กอายุ 10 ขวบมาฝึกแบบทหาร

ความคิดเห็นที่นำเสนอก็เป็นความคิดของเก่าที่เคยเสนอมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน สรุปว่าองค์กรตำรวจไม่มีประโยชน์

ผมคิดว่าความเห็นที่มั่วข้อมูลอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.สรรหา) นักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองชื่อดัง

บทบาทของ ส.ว.ประสารครั้งเป็นกลุ่ม 40 ส.ว. รักษาผลประโยชน์ชาติเข้มข้น เกาะติดอย่างไม่ยอมปล่อย เป็นที่ประทับใจผมและชาวประชาอย่างยิ่ง

เมื่อมีผู้แนะนำให้เรารู้จักกัน ผมเอ่ยคำขอบคุณในการต่อสู้ของเขา แต่ “กั๊ก” ไว้หน่อยตามประสาคนไม่มีสีว่า “ผมเห็นด้วยกับท่านเกือบทุกเรื่อง มีบางเรื่องเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย”

ในบทบาทของ สปช. นายประสารให้สัมภาษณ์ว่า “การจับกุมและการสอบสวนที่เป็นหนึ่งเดียวกันมาโดยตลอด เป็นที่มาของเงิน อำนาจ อิทธิพลและเครือข่ายความชั่วร้าย”

ผมไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์นี้ ได้เขียนแสดงความคิดเห็นเป็นตรงกันข้ามในคอลัมน์นี้ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1814 วันที่ 22-28 พฤษภาคม 2558)

เสียดายที่ผมไม่มีความรู้มากพอ มีแค่ “ความรู้สึก” ที่มากจนล้น ทำให้ต้องย้อนกลับไปอ่านความคิดและความเห็นของผู้รู้ทั้งหลายแหล่ที่แตกต่างกัน แล้วหยิบมาวางไว้เพื่อพิจารณา

“อย่าเพิ่มนายให้พนักงานสอบสวนอีก” ผู้พิพากษา อดีตพนักงานสอบสวนพูด

“งานตำรวจเป็นงานที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ไม่มีใครจัดทำเอกสารให้มาก่อน และต้องทำงานตามลำพัง ไม่มีผู้ช่วยหรือนิติกร ต้องทำงานด้วยตนเองทั้งกระบวนการ การทำงานของตำรวจเป็นภาระเวรที่ถือเป็นงานในหน้าที่ ไม่มีค่าเวรหรือค่าตอบแทนจากการทำงานพิเศษนอกจากเงินเดือนปกติ…งานร้อยเวรจะมีการบ้านตลอดเวลา สะสมต่อเนื่อง…ปัจจุบันมีคดีเกิดประมาณ 600,000 คดีต่อปี มีสถานีตำรวจราว 1,600 แห่ง และมีพนักงานสอบสวนประมาณ 10,000 คน ฯลฯ…” พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ บรรยายพิเศษในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 66

“ลองเอาพวกที่พูดดี มีหลักการและทฤษฎี มาเข้าเวรสอบสวนสักระยะหนึ่ง”

“ลงทุนน้อยกับตำรวจ ก็ได้แค่นี้แหละ”

สองประโยคหลังผมลืมไปแล้วว่าใครพูด แต่ตระหนักดีว่ามันเป็นความจริงที่สำคัญ!

ในส่วนตัวของผม ผมอาจจะโบราณไปหน่อยที่เห็นว่าระบบตำรวจไทยไม่ได้แปลกประหลาดพิสดารไปกว่าประเทศอื่นใดในโลก ปัญหาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน

เพียงแต่ว่าเราหัวโตและขาลีบเกินไปเท่านั้น!

ลงทุนให้มากกับส่วนล่างของตำรวจก็เรียกว่าปฏิรูปสำเร็จแล้ว