พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (4)

จากตอนที่แล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่าการยุบสภาในปี ค.ศ.1918 ภายใต้รัฐบาลที่มี Lloyd George เป็นนายกรัฐมนตรีแตกต่างไปจากประเพณีการยุบสภาที่ดำเนินสืบเนื่องมาก่อนหน้านั้น

และถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒนาการของประเพณีการยุบสภาของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยการถวายคำแนะนำการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์จะมาจากลำพังตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

และในการยุบสภาครั้งนั้น ปรมาจารย์ด้านกฎหมายอีกท่านหนึ่งคือ Macintosh ได้ยืนยันว่าเป็นการกระทำที่มิได้มีการปรึกษาคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

และ Jennings กล่าวสำทับว่า “ไม่มีการยุบสภาใดนับตั้งแต่ 1918 ที่มีการหารือกับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทุกคนนับตั้งแต่ Lloyd George ได้ถือเอาว่า เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ”

แต่ Markesinis ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยประเด็นเรื่องการยุบสภาโดยเฉพาะ ได้กล่าวว่า จริงอยู่ที่ว่า นับตั้งแต่ Lloyd George สิทธิ์ในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาจะเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่กระนั้นในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอก็ย่อมจะไม่ถวายคำแนะนำให้มีการยุบสภาโดยไม่ปรึกษาหารือหรือได้รับความเห็นชอบจากบรรดารัฐมนตรีร่วมคณะส่วนใหญ่

เพราะการตัดสินใจยุบสภาโดยลำพังจริงๆ ย่อมเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสให้คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอาจถูกปฏิเสธโดยพระมหากษัตริย์ที่จะมีพระบรมราชโองการยุบสภาได้

Markesinis ได้วิพากษ์คำกล่าวของ Jennings ที่ว่า “ไม่มีการยุบสภาใดนับตั้งแต่ 1918 ที่มีการหารือกับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทุกคนนับตั้งแต่ Lloyd George ได้ถือเอาว่า เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำ” โดย Markesinis ชี้ว่า ข้อความหลังเป็นจริง

แต่ข้อความแรกนั้น ไม่จริง เพราะในทางปฏิบัติ ยังมีการนำมาหารือภายในคณะรัฐมนตรีอยู่

 

Markesinis ได้ค้นคว้าหาหลักฐานมานำเสนอจากกรณีการยุบสภาทั้งสิ้นจำนวน 10 ครั้ง นั่นคือ การยุบสภา ค.ศ.1922, 1923, 1924, 1929, 1935, 1945, 1949/1950, 1951, 1966 และ 1969 จากข้อมูลที่ Markesinis ได้มา พบว่าในการยุบสภาบางครั้ง มีทั้งที่ไม่หารือและหารือภายในคณะรัฐมนตรี

และก็มีครั้งที่ไม่มีรายงานประชุมคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการเกี่ยวกับการพิจารณาประเด็นเรื่องการยุบสภา แต่มีการหารือแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้น

ผลการหารือทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีทั้งที่เห็นชอบและมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับการเสนอการยุบสภา

แต่ท้ายที่สุด สิทธิ์หรืออำนาจการตัดสินใจในการถวายคำแนะนำการยุบสภาก็เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะหารือเรื่องการยุบสภากับเพื่อนร่วมงานอาวุโสหรือใกล้ชิดเป็นข้อเท็จจริง

แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ เขาไม่ถูกผูกมัดแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีเพื่อการตัดสินที่เป็นทางการ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายและรับผิดชอบต่อการยุบสภาดังกล่าว

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะหารือเรื่องการยุบสภากับเพื่อนร่วมงานอาวุโสหรือใกล้ชิดเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ เขาไม่ถูกผูกมัดแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีเพื่อการตัดสินที่เป็นทางการ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายและรับผิดชอบต่อการยุบสภา

 

นอกจากนี้ Markesinis ได้กล่าวถึงปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ.1969 อันเป็นการยุบสภาครั้งที่ 10 หลังการยุบสภาปี ค.ศ.1918

โดยการยุบสภา ค.ศ.1918 เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการยุบสภาที่เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวที่จะเป็นผู้ถวายคำแนะนำการยุบสภา

แต่การยุบสภาในปี ค.ศ.1969 ได้กลับมามีข้อถกเถียงที่จะให้การถวายคำแนะนำในการยุบสภากลับไปสู่คณะรัฐมนตรีอีก โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือในช่วงสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พรรคแรงงาน) ของนาย Wilson

นั่นคือ ระหว่างปี ค.ศ.1966-1970 มีการขู่ว่าจะยุบสภาอยู่หลายครั้งจากนายกรัฐมนตรี และเป็นการเสนอยุบสภาที่เป็นไปตามแบบแผนที่ปฏิบัติกันมา (established practice) นั่นคือ การยุบสภาเป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว

แต่กระนั้น ก็ยังมีความไม่พอใจเกิดขึ้นกับการที่นาย Wilson จะถวายคำแนะนำในการยุบสภาตามสิทธิ์ของการเป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น จึงเกิดการถกเถียงจากหลากหลายแง่มุมให้มีการทบทวนแบบแผนหรือประเพณีการยุบสภาเกิดขึ้นอีก

โดยเริ่มจากประเด็นอันเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์ในการถวายคำแนะนำในการยุบสภา

 

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มจากเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1969 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับที่ประชุมสหภาพแรงงาน (Trade Union Congress) เกิดความตึงเครียดจนถึงขีดสุดจากสาเหตุการออกกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์

นาย Wilson และนาง Castle มีเสียงสนับสนุนในพรรคหนาแน่นและมีเสียงสาธารณะอยู่ข้างฝ่ายตนด้วย

แต่สหภาพมุ่งมั่นที่จะต่อต้าน พ.ร.บ. นี้ และมีเสียงข้างน้อยในสภาสนับสนุน อันได้แก่ พวกปีกซ้ายของพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยมี นาย Callaghan ให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยให้พวกปีกซ้ายของพรรคแรงงานที่เป็นเสียงข้างน้อยต่อต้านรัฐบาล

การกระทำของนาย Callaghan เป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีร่วมคณะ อีกทั้งยังละเมิดหลักการความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนด้วย

หนังสือพิมพ์ The Times กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดจากการกระทำของนาย Callaghan และ ส.ส. เสียงข้างน้อยในพรรครัฐบาลว่าเป็น “ความพยายามที่ใกล้จะมาถึงที่จะหาทางแทนที่นาย Wilson”

ส่วนหนังสือพิมพ์ The Guardian เห็นว่า การแทนที่ไม่สามารถดำเนินไปได้เพราะขาดความเห็นพ้องว่าใครจะเป็นผู้จะมาแข่งขัน (candidate) ที่จะมารับช่วงต่อจากนาย Wilson

เพราะนาย Wilson ได้ระดมเสียงสนับสนุนจากบรรดารัฐมนตรีที่ยังภักดีต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาอยู่ โดยนาย Crossman นาย Greenwood นาง Hart และคนอื่นๆ ถูกดึงเข้ามาร่วมในศึกครั้งนี้

ที่ Birmingham นาย Crossman ได้ให้ความมั่นใจต่อสาธารณะว่า คณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะรับผิดชอบร่วมกันต่อความมุ่งมั่นของนาย Wilson ที่จะออกกฎหมายที่จำเป็นออกมา

รัฐบาลจะอาศัยมาตรการ “ไม้เรียว” (big stick) นั่นคือ การยุบสภา

ขณะเดียวกัน นาย Mellish ผู้เป็นหัวหน้าวิปของรัฐบาล ได้กล่าวต่อบรรดา ส.ส. ในลักษณะที่ยังไม่แน่นอนว่า หากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง

 

ในวันที่ 6 พฤษภาคม นาย R.T. Paget Q.C. ส.ส. พรรคแรงงานจาก Northampton ได้เขียนถึงหนังสือพิมพ์ The Times และยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับ “ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี” ในการยุบสภา

ขณะเดียวกัน Sir Eric Fletcher ส.ส. พรรคแรงงานจาก Islington North ได้เขียนไปยังหนังสือพิมพ์ The Times ในวันที่ 7 พฤษภาคม โต้แย้งความเห็นของนาย Paget และยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี “เท่านั้น-โดยไม่ต้องปรึกษาคณะรัฐมนตรี มีสิทธิ์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำองค์พระมหากษัตริย์เพื่อให้มีการยุบสภา”

ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม ความเห็นของ Sir Eric ถูกแย้งโดย Lord Shawcross ที่เขียนไปยังหนังสือพิมพ์ The Times เช่นกัน

และในวันที่ 9 พฤษภาคม นาย Paget ได้กลับไปยังประเด็นการยุบสภาและขยายความความเห็นของเขาและยืนยันว่า “ไม่มีใครคัดค้านว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะกราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระราชินีนาถยุบสภาเมื่อไรก็ได้”

แต่เขาสรุปว่า “คณะรัฐมนตรี ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะเห็นด้วยหรือไม่กับการถวายคำแนะนำในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรี แต่จะต้องไม่เห็นด้วยถึงขั้นลาออกทั้งหมด หรือถ้ามีบางคนลาออก ที่พวกเขาจะต้องถูกแทนที่”

Markesinis เห็นว่าการเขียนโต้ตอบในประเด็นผู้มีสิทธิ์ถวายคำแนะนำในการยุบสภาข้างต้นนี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยขึ้นสองประการ

ประเด็นแรกคือ นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์และมีข้อผูกมัดที่จะต้องปรึกษาคณะรัฐมนตรีและเพื่อนร่วมงานอาวุโสก่อนจะยุบสภาหรือไม่?

ประเด็นที่สองคือ ใครคือผู้ตัดสินใจยุบสภาในที่สุด?

(โปรดติดตาม “คำตอบ” ในตอนต่อไป)