สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (6) Show and Share ครูพม่าสอนอังกฤษ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 วันแรก ภาคบ่ายช่วงท้ายปรับรูปแบบจากการอภิปรายเป็นสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Show and Share ให้คุณครูผู้ได้รับรางวัลนำเสนอประสบการณ์ชีวิตและการปฏิบัติงานด้านการศึกษาของแต่ละท่าน ล้วนสะท้อนแนวคิด วิธีปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน การอบรมพฤตินิสัยของเด็ก อย่างน่าติดตาม นำมาเป็นบทเรียน

เริ่มจากครูยี มอน โซ (Yee Mon Soe) จากประเทศเมียนมา อายุ 34 ปี ปัจจุบันเป็นครูโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ตำแหน่ง Senior Teacher Basic Education High School, Hlaingtharyar เมียนมา ได้ทุนพระราชทานเรียนปริญญาโท ขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย

เรื่องราวที่ครูเล่าจากประสบการณ์จริง สะท้อนถึงเทคนิคการจัดการเรียนการสอน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ น่าสนใจยิ่ง

 

ครู Yee Mon Soe ยกตัวอย่างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษของห้องเรียนที่สอนจริง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-4 ประมาณ 15-20 คน โดยแสดงตัวอย่างการสอน เรื่อง Calendar และ Robot ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1. Pre reading เป็นขั้นตอนในการตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียนว่ามีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่จะเรียนมากน้อยเพียงใด

2. While reading เป็นขั้นตอนระหว่างการศึกษาข้อมูล ซึ่งจะให้เวลานักเรียนได้ศึกษาเป็นรายบุคคล

3. Post reading เป็นขั้นตอนหลังจากศึกษาข้อมูลเรียบร้อยแล้ว โดยในขั้นตอนนี้นักเรียนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แนะนำ

นอกจากนั้น ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อดี-ข้อเสียของการจัดการเรียนรู้ใน 2 รูปแบบ คือ

1. ครูเป็นศูนย์กลาง

และ 2. นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งสองรูปแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน

 

เธอจำลองสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในวิชาภาษาอังกฤษ เรื่อง Moon and Earth โดยขออาสาสมัครซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนาในห้องประชุม จำนวน 16 คน แสดงบทบาทเป็นนักเรียน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจวิธีการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

และเล่าถึงมีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้

1. แบ่งกลุ่มอาสาสมัคร เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน

2. ฉายวิดีทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว โลก และดวงจันทร์ และตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เช่น คุณสังเกตเห็นอะไรหรือได้เรียนรู้อะไรจากวิดีทัศน์บ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้จะหลากหลายมาก เช่น ดวงจันทร์ อวกาศ นักบินอวกาศ กาแล็กซี่ คุณคิดว่าเคยมีคนไปดวงจันทร์ไหม ถ้าไป ไปเมื่อใด (คำตอบคือ นีลล์ อาร์มสตรอง ไปในปี พ.ศ.2512) ดวงจันทร์และโลก มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร (คำตอบคือ ไม่เหมือนกัน ดวงจันทร์ไม่มีแสงสว่าง มีอุณหภูมิสูงกว่าโลก) คุณอยากจะไปดวงจันทร์หรือไม่ (คำตอบมีทั้งอยากไปและไม่อยากไป) เป็นต้น

3. อภิปรายในหัวข้อ “The moon : a nice place to visit ?” และเริ่มกิจกรรมตามลำดับ

3.1 แนะนำคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่อง The moon : a nice place to visit? โดยให้ทุกคนเปล่งเสียงตาม เช่น Escape, Environment, Gravity, Cosmic rays, Atmosphere, Rotate, Revolve, Lunar sky, Lunar eclipse เป็นต้น

3.2 อธิบายความหมายของคำศัพท์ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมภาพประกอบ เช่น “Satellite” มี 2 ความหมาย คือ ดาวเทียม และวัตถุที่หมุนรอบสิ่งอื่น และอธิบายความต่างระหว่างคำว่า “Rotate” และ “Revolve” โดยยกตัวอย่าง คือ Rotate เป็นการหมุนรอบตัวเอง เช่น โลกและดวงจันทร์ ส่วน Revolve เป็นการหมุน/โคจรรอบวัตถุอื่น เป็นต้น

3.3 ให้อาสาสมัคร 16 คน ยืนล้อมเป็นวงกลม และแจกการ์ดคำศัพท์ จากนั้นให้ส่งการ์ดคำศัพท์พร้อมบอกความหมายของคำศัพท์นั้นแก่เพื่อนที่อยู่ด้านข้าง จนครบทุกคำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้นได้ง่ายและชัดเจน รวมทั้งสามารถจดจำได้นาน เนื่องจากมีการพูดและอธิบายคำนั้นตามความเข้าใจ

3.4 กิจกรรมกลุ่ม โดยแจกบทความย่อยเรื่อง “The moon : a nice place to visit?” ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกันให้กับแต่ละกลุ่ม และให้เวลา 3 นาที เพื่ออภิปรายในกลุ่ม จากนั้นให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอความเข้าใจในบทความย่อยนั้น

3.5 ให้ผู้เรียนอ่านบทความฉบับเต็ม ซึ่งเป็นการรวมบทความย่อยในกิจกรรมก่อนหน้า เรื่อง “The moon : a nice place to visit?” พร้อมถามความเข้าใจในบทความนั้น โดยใช้คำถาม เช่น “ทำไมบนดวงจันทร์ถึงไม่มีน้ำ” คำตอบที่ได้ คือ บนดวงจันทร์ไม่มีน้ำเนื่องจากมีพื้นผิวคล้ายทวีปแอฟริกา เป็นต้น

3.6 กิจกรรม Earth & Moon เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการเรียน/การทำกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ โดยครู Yee Mon Soe แจกบัตรคำภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียนแล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่ม ร่วมกันคัดเลือกคำศัพท์ว่า คำศัพท์ที่กำหนดให้นั้นเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์หรือโลก และให้นำไปติดบนกระดานกระดาษ

3.7 ครูตรวจสอบคำตอบของแต่ละกลุ่ม พร้อมเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง

 

การจัดห้องเรียนจำลองของครู Yee Mon Soe ช่วยให้เห็นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจากการทดลองจริง เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน ซึ่งช่วยนักเรียนเพิ่มทักษะการสื่อสารและทักษะการเรียนรู้ร่วมกันสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเกิดความสนใจในกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดเสียงดัง และมีความวุ่นวาย ยากต่อการควบคุม และในบางสถานการณ์อาจเกิดปัญหา เช่น กรณีที่นักเรียนชอบเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าทำกิจกรรมกลุ่มอาจทำให้ผู้เรียนเกิดความอึดอัด ลำบากใจ หรือเรียนตามเพื่อนไม่ทัน เป็นต้น

ครับ อ่านแล้ว เพื่อนครูจะนำประสบการณ์ของเธอไปลองปฏิบัติดูบ้าง เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและคุณภาพของนักเรียน เธอคงยินดี ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกัน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าครูในอาเซียนหรือครูผู้มีจิตวิญญาณที่ไหนๆ ก็ตาม