กูรูฟันธง 1-2 ปีนี้ทีวีมีตาย(อีก)แน่ หนุนรัฐต้องกำกับดูแลคนทีวีที่หากินสุจริต คุมโอทีทีเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำ

ช่องทีวีมีตาย (อีก) แน่ๆ ภายใน 1-2 ปีนี้ และมีมากกว่า 2 ช่องที่จะต้องปิดกิจการหรือควบรวมช่องอื่น หรือขายเปลี่ยนมือ

อาจารย์พนา ทองมีอาคม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ และอดีตรองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ “ทีวีดิจิตอล”

“ผมว่ามีคนที่อยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าอยู่ (ต่อ) อาจมีการควบรวม-ขายกิจการ เปลี่ยนเจ้าของ ปีสองปีนี้เห็นแน่ๆ เพราะตัวเลขก็บ่งชี้อยู่แล้วว่ามีกำไรแค่ 2 ช่อง อย่าลืมสินค้าด้านสื่อ คือเมื่อคุณออกอากาศไปแล้ว หมายถึงลงทุนแล้วหายไปเลยในอากาศ ยิ่งใครเป็นช่องข่าวออกไปแล้วหมดกันเลย รีรันไม่ได้ ลงทุนไปแล้ว”

อาจารย์พนาเล่าว่า ต้องมองย้อนไปก่อนการปรับมาสู่ระบบดิจิตอล มีการเพิ่มช่องจำนวนเยอะ มีการแข่งขันสูง ไม่ได้เกิดจาก กสทช. ขอย้อนอดีตไปถึงช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 หลายคนเรียกร้อง “ปฏิรูปสื่อ” เพราะมองว่ารัฐผูกขาดโทรทัศน์อย่างมาก ควรให้เอกชนเข้ามาสู่ช่องทางนี้เพื่อการต่อสู้แข่งขันเสรี

จากนั้นมาวันหนึ่งคนในวงการก็เรียกร้องว่ายังมีช่องข่าวน้อยไป มีแต่รายการน้ำเน่า อยากให้มีรายการข่าว เป็นเหตุให้ต้องเพิ่มประเภทช่องข่าว และช่องเด็ก นี่คือแรงผลักดัน

ณ วันนั้นทุกคนมองทีวีเหมือน “แหล่งทองคำ” ที่มีกำไรเยอะ เป็นโอกาสดีมีเสรีแล้ว

แต่พอเอาเข้าจริงๆ ตลาดไม่สามารถรองรับได้หมดทุกคน เพราะทุกคนกระโดดเข้ามาเยอะไปก็ต้องมี “คนล้ม” เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของตลาด

ยังไม่ได้นับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

อาจารย์พนายกตัวอย่างตามหลักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน เมื่อแม่หมูเลี้ยงลูกหมู ได้ (ในอดีต) ห้าตัว ลูกๆ อิ่มหนำสำราญ

มาวันหนึ่งมี 20 ตัวน้ำนมไม่พอ เลี้ยงไม่ทั่วถึงก็ต้องป่วยล้มและตายไป จนกว่าเหลือจำนวนที่แม่หมูจะเลี้ยงไหว

มันเป็นสัจธรรม ระบบเศรษฐกิจและตลาดมันไม่เอื้อต่อการรองรับช่องได้มหาศาลขนาดนั้น

จริงๆ ในวงการต้องมีการทำวิจัยวิเคราะห์ตลาด (แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก) และการพยากรณ์ทางธุรกิจที่ผิดพลาดทำให้เกิดผลพวงตามมาอีกมากเช่นกัน

ฉะนั้น อย่างน้อยๆ พวกเขาถือเป็นหน่วยธุรกิจ มีการจ้างงานคนไทย ทำตามกฎหมาย มีการเสียภาษีถูกต้อง ภาครัฐต้องให้ความเป็นธรรมต่อคนทำมาหากินสุจริตด้วย

ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือความไม่เท่าเทียมกัน เพราะกว่าช่องเหล่านี้จะประมูลได้ใบอนุญาตใช้คลื่น แถมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกปี จ่ายเงินสมทบกองทุน มีเงื่อนไขบังคับสารพัด ผังรายการเนื้อหาประเภทนี้ต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่

แต่วันนี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าคนในวงการคาดไว้

เดี๋ยวนี้คนดูอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ที่ออกอากาศทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้จ่ายเงินสักบาทในการประมูล

หนำซ้ำไม่เสียภาษี ไม่ต้องมีการจัดผังสัดส่วนรายการ เนื้อหาไม่ต้องถูกบังคับข้อระเบียบ ตรงกันข้ามกับทีวีหมดเลย ทีวีต้องถูกควบคุมและเซ็นเซอร์หลายอย่าง

คำถามคือนี่คือการต่อสู้ที่เป็นธรรมหรือไม่?

แน่นอนอินเตอร์เน็ตมีเสรีภาพ โซเชียลมีเดียมันเป็นของต่างประเทศ กฎหมายในการกำกับมันเอื้อมไปไม่ถึง

“ผมว่ารัฐต้องคิดและทบทวนเรื่องนี้ ซึ่งผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะไปช่วยพยุงทีวี แต่อย่างน้อยๆ รัฐต้องให้ความเป็นธรรมเขา เพราะเขาเสียภาษีและทำสุจริตถูกต้อง ซึ่ง กสทช. ต้องคิดหามาตรการที่เหมาะสมกับบ้านเรามาใช้กำกับ ที่สำคัญคือ อย่าทำการอันใดเป็นการเพิ่มภาระให้เขาเด็ดขาด โดยที่ต้องไม่ปล่อยพวกลักเล็กขโมยน้อยแย่งตลาด ต้องคุ้มครองสุจริตชน”

“ขณะเดียวกัน ปัญหานี้ต้องควบคู่ไปกับการที่ทีวีต้องปรับตัว ผมยกตัวอย่างอดีตบริษัทเช่าเทปที่ต่างประเทศไปไม่ไหวเมื่อซีดีเข้ามา เขาก็เปลี่ยนไปทำด้านซีดี ดีวีดี แต่ไม่ทันไร ทุกคนมาดูบนอินเตอร์เน็ต ฉะนั้น ใครปรับตัวทันก็อยู่รอด”

ในอนาคตทีวีจะตายไปเลยหรือไม่?

อาจารย์พนาบอกว่า ในอดีตเมื่อก่อนการบอกข่าวสารเราใช้วิธีตีฆ้องร้องป่าว ตีปี๊บหน้าโรงหนัง มาสู่การมีใบปิดประกาศ ต่อมามีหนังสือพิมพ์ และตามมาด้วยยุคของวิทยุ คนในสมัยนั้นก็คิดว่าหนังสือพิมพ์ไม่รอด ไปๆ มาๆ นสพ. ก็ยังอยู่ ต่อมามีทีวี ทุกคนก็คิดว่าจะฆ่าทั้งหมด แต่ นสพ. ยังอยู่ วิทยุก็ยังอยู่ คือมองว่าในที่สุดมันจะมีทิศทางที่จะต้องปรับตัวของมัน

เรามายุคนี้หลายช่องก็ปรับตัวสู่การทำอินเตอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นก็ปรับตัวแล้วหลายเจ้า ทำมัลติแพลตฟอร์ม ทำทีเดียวออกไปหลายช่องทางเข้าถึงคนได้หลายแบบจำนวนมาก

เมื่อมีทีวีในอินเตอร์เน็ต คนบางคนไม่ต้องรอดูในเวลาที่ออกอากาศ แต่หลายครอบครัวยังนั่งดูละครกันที่บ้านดูกันหลายๆ คนเพื่ออรรถรส ดูข่าวร่วมกันสดๆ เชียร์กีฬาร่วมกัน มันยังไม่หายไป

“ผมมองว่าถ้าอนาคตมีไฟเบอร์ มีระบบอินเตอร์เน็ตที่เร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่มากกว่านี่สิ ทีวีจะหายไปยิ่งกว่านี้”

“หนังสือก็เช่นเดียวกัน คนยังต้องอ่านจากเล่มอยู่ เพราะคุณค่าในการจับต้องมันมี ผมเปรียบให้เห็นภาพ เช่น เมื่อก่อนลิเกฮิตมาก คนไปดูเพราะต้องการความบันเทิง ยังไงคนก็ต้องการความบันเทิง แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบไปตามสมัย เปลี่ยนโชว์เป็นอย่างอื่น ต้องปรับตัว” อาจารย์พนาย้ำ

มุมมองต่อเรื่อง “โอทีที”

“ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้ กสทช. จัดการเรื่องโอทีที ถ้าเราปล่อยไปจะหนัก จะวิกฤตกว่านี้ ผมเชียร์ให้ กสทช. กำกับในเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรม แน่นอนโอทีทีคือโอกาสในอนาคต และใช้ต้นทุนถูกกว่า ฉะนั้น อย่าปล่อยให้มีมิจฉาชีพใช้ช่องทางลักลอบ หรือปล่อยให้มีเรื่องขัดศีลธรรม ทำสิ่งที่ส่อผิดกฎหมายมากมาย ยังไม่นับรวมคนฉวยโอกาสลงเรื่องผิดๆ มั่วๆ ลงเรื่องความรุนแรงต่างๆ โดยเปิดหน้าและข้อมูลผู้เสียหายทั้งหมด”

“แต่ถามว่าให้กำกับดูแลแค่ไหน ผมมองว่าใช้เท่าที่จำเป็น ผมไม่เคยเชื่อว่าการกำกับอย่างเข้มจะได้ผล ต้องทำเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม”

“เราต้องเข้าใจด้วยว่าโอทีทีมีหลายรูปแบบ จะใช้กติกาเดียวกำกับทุกรูปแบบไม่ได้ บางธุรกิจแม้ไม่จดแจ้งในไทย ต้องมีตัวแทนคนรับผิดชอบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ เหมือนสถานีโทรทัศน์เรามีนายสถานี (ซึ่งไม่ใช่เจ้าของ) เพื่อรับผิดชอบ เหมือน บ.ก.ข่าว มาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเจ้าไหนที่มีการค้าขายก็ไปดูเรื่องภาษี ที่สำคัญรัฐก็ต้องจัดการพวกละเมิดสิทธิ์และพวกชอบก๊อบปี้คอนเทนต์ด้วย”

“ถามว่าที่ผ่านมาทำอะไรไม่ได้เลย ผมอยากถามว่า ถ้าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายแล้ว กฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ด้วยหรือไม่? เราต้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ด้วย ถึงจะอยู่ได้ ให้เขามีขวัญกำลังใจ และเจ้าหน้าที่ก็ต้องปรับวิธีตามสถานการณ์ ตามสภาพ ทันเทคโนโลยี จะยอมปล่อยเพราะทำไม่ได้มันไม่ใช่ เหมือนปัญหาวิน จยย.เถื่อนมีคนไม่ลงทะเบียน ไม่ทำให้ถูกต้อง แต่ออกมาทำมาหากิน ในขณะที่คนทำสุจริตเขาต้องเสียหลายอย่าง ฉะนั้น มันอยู่ที่เจ้าหน้าที่ในการ “ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย” ไม่งั้นปัญหาอื่นมันตามมาอีกเยอะ”

“ที่สำคัญรัฐต้องมีกลไกเฝ้าระวัง ตรวจจับ ในการที่ปล่อยให้มีตลาดเสรี แต่ใครทำผิดกฎหมายต้องจัดการได้ ถ้าทำแบบจับบ้างไม่จับบ้าง เหมือนคนไม่ข้ามถนนทางม้าลาย ซึ่งผิดกฎหมายนะ แต่ทำไมตำรวจไม่จับก็ไม่รู้เหมือนกัน เจ้าพนักงานเขาปล่อยปะละเลย แต่เรากลับได้เห็นเขายังเจริญก้าวหน้าทางราชการด้วยซ้ำไป! ฉะนั้น กฎหมายยังมีอยู่ ไม่ได้ยกเลิก แต่ไม่ได้บังคับในทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น”

อาจารย์พนายกตัวอย่าง

อาชีพนักข่าวจะตายไหม

ในยุคที่ใครก็นำเสนอได้?

การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

“ผมมองว่าไม่ตาย ผมเชื่อว่าทุกอาชีพจะลำบากหมดในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปมาก สื่อสารมวลชนก็ปรับตัวอยู่ตลอด คนทำสื่อปรับตัวเสมอ ยังไงคนยังต้องดูข่าวอยู่ แต่รูปแบบมันจะปรับไปตามเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ข่าวก็ยังเป็นข่าว” อาจารย์พนายืนยัน

“เพียงแต่การทำข่าวในอดีตที่ในทีมมีรถคันหนึ่ง มีคนขับรถ มีช่างภาพ ก็ย่อขนาดลง เดี๋ยวนี้คนมีรถเยอะ นักข่าวมีรถ ก็ช่วยจ่ายค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมันให้ ที่สำคัญทุกคนมีมือถือ ซึ่งสมัยนี้การถ่ายภาพมีคุณภาพดีด้วย ถ่ายเอง แทนช่างภาพ มันก็เป็นแบบนี้ นักข่าวยังอยู่ แต่นักข่าวต้องทำได้หมด มองว่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่า”

“ยังไงวิชาชีพทางนิเทศศาสตร์จะยังคงอยู่ เพียงแต่จะเรียกชื่อเหมือนเดิมหรือไม่ ไม่รู้ รูปแบบการทำเปลี่ยนไป แต่ไม่ตาย ยังไงคนมีฝีมือปรับตัวยังอยู่ได้” อาจารย์พนาทิ้งท้าย