โรคมนุษย์ระบาด (1)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

โรคมนุษย์ระบาด (1)

 

ณ วันนี้คุณมีความหวังไหม

เมื่อลองจินตนาการดูว่าชีวิตที่ปราศจากความหวังมีหน้าตาอย่างไร ผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะตื่นมาด้วยความรู้แบบไหนและดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายใด อาจเป็นเพราะสภาวะไม่มีความหวังมักถูกเรียกว่า ‘สิ้นหวัง’ หรือ ‘หมดหวัง’ ด้วยกระมัง จึงทำให้รู้สึกลบไปเสียหมด

ตั้งแต่เมื่อไหร่กันหนอที่ชีวิตคนเราถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวัง กระทั่งมีคำกล่าวและเนื้อเพลงที่ร้องว่า “หากจะต้องสูญเสียทุกอย่าง ความหวังขอให้เป็นสิ่งสุดท้าย” และอะไรอีกมากมายทำนองนี้

ความหวังลากพาอะไรอีกหลายอย่างมาพร้อมกับมัน มันคือสิ่งที่ทำให้เรามองไปข้างหน้า พัฒนาตัวเอง มุ่งสู่ความสำเร็จ และเชื่อว่าชีวิตและโลกใบนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ ได้

ลึกที่สุดแล้วความหวังบอกเราว่า มนุษย์กำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้

ฉะนั้น เราจึงมีความหวังถึงวันพรุ่งนี้อยู่เสมอ ความฝันจึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิต เป้าหมายจึงมีไว้พุ่งชน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ยูโทเปียจึงมีอยู่จริง

หากลองถอยออกมามองค่านิยมต่างๆ ที่ควบคุมบัญชาหรือหล่อเลี้ยงชีวิตของเราอยู่ทุกวี่วันย่อมเห็นว่าล้วนแล้วแต่วางอยู่บนฐานความคิดว่ามนุษย์คือผู้กำหนดชะตากรรมด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อผ่านกาลเวลาและถูกเน้นย้ำซ้ำๆ ความคิดนี้ก็ค่อยๆ กลายร่างเป็นสัจธรรมในใจของสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์’

ในความหมายว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่างจากสัตว์อื่น

 

มนุษย์ค่อยๆ ขยับขยายกระทั่งกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทอย่างมากในโลกใบนี้อย่างทุกวันนี้จนพวกเขาเองมักอธิบายด้วยคำว่า ‘ครองโลก’ ความมั่นอกมั่นใจที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความคิดแบบมนุษยนิยม (humanism) ขึ้นในหมู่มนุษย์

จอห์น เกรย์ อธิบายเอาไว้ใน Straw Dogs ว่ามนุษยนิยมคือความเชื่อในความก้าวหน้า ซึ่งคือการเชื่อว่าอำนาจที่มาจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มพูนขึ้นจะทำให้มนุษย์ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ไม่ต้องถูกตีกรอบชีวิตเหมือนสัตว์อื่นๆ

ความเชื่อนี้กลายเป็นความหวังของผู้คนเกือบทุกคนในปัจจุบัน มนุษย์เชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้และจะรุ่งเรื่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เกรย์ชี้ว่า นี่คือการรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของคริสต์ศาสนาขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ ทางรอดพ้นจากบาปมีให้แก่ทุกคน

ความมั่นอกมั่นใจแบบนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อผลิตได้มากประชากรก็เพิ่มพูน ปี ค.ศ.1700 โลกมีประชากรประมาณหกร้อยล้านคน จากนั้นอีกสามร้อยกว่าปี วันนี้ตัวเลขพุ่งไปเฉียดแปดพันล้านแล้ว ด้วยอัตราขยายตัวเช่นนี้เอง มนุษย์จึงมองว่าตัวเองกำลังครองโลกและกำหนดทิศทางของดาวเคราะห์ดวงนี้

กระนั้น ในมุมมองของโลกและสิ่งมีชีวิตอื่น การขยายเผ่าพันธุ์ของสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ก็มาพร้อมความวินาศสันตะโรของระบบนิเวศด้วย

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยธรรมชาติ หลายพื้นที่อาจจมน้ำ เกิดโรคระบาดใหม่ถี่และแรงขึ้น

สิ่งมีชีวิตจำนวนมากสูญพันธุ์ แหล่งน้ำสะอาดถูกทำลาย และอื่นๆ อีกมากมายที่เราได้ยินข่าวทุกวี่วัน

แต่มนุษย์ยังมองด้วยความหวังว่าความชาญฉลาดของเผ่าพันธุ์เราจะทำให้ผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ในที่สุด

นี่เอง มนุษยนิยม

 

แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ลดลง

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ โรคระบาด ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ เลนาร์ด ซี. ลูวิน ทำนายไว้ว่า ถ้ามนุษย์ยังระบาดไปทั่วโลกแบบนี้อยู่ การล่มสลายของประชากรมนุษย์ส่วนใหญ่น่าจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยปี

และเมื่อถึงปี 2150 ชีวมณฑลจะกลับมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัย คือระดับประชากรก่อนการระบาดของโฮโมเซเปียนส์ คือระหว่างห้าร้อยล้านถึงหนึ่งพันล้านคน

โรค ‘มนุษย์ระบาด’ มีที่มาจากเจมส์ เลิฟล็อก ซึ่งเขียนไว้ว่า

“พฤติกรรมของมนุษย์บนโลกมีความละม้ายคล้ายพวกสิ่งมีชีวิตที่ก่อโรคหรือเหมือนเซลล์ก้อนเนื้องอก เราได้เพิ่มจำนวนและสร้างความปั่นป่วนให้กับกาย่า (ระบบนิเวศของโลกที่ผสานเป็นกายขนาดใหญ่) มากขึ้นจนถึงจุดที่การมีอยู่ของเราเป็นภัยรบกวนอย่างเห็นได้ชัด…สปีชีส์มนุษย์แพร่พันธุ์มากถึงขั้นที่กลายเป็นโรคร้ายแรงของดาวเคราะห์นี้…ซึ่งก็คือโรคมนุษย์ระบาดนั่นเอง”

 

ใน Straw Dogs จอห์น เกรย์ ชวนคิดว่าการเกิดเมืองของมนุษย์ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ต่างอะไรกับรังผึ้ง อินเตอร์เน็ตเป็นธรรมชาติไม่ต่างจากใยแมงมุม มนุษย์เราเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยชุมชนแบคทีเรียโบราณเพื่อเป้าหมายในการอยู่รอดทางพันธุกรรมของมัน พูดให้เห็นภาพสักหน่อยคือ การเกิดขึ้นของมนุษย์ผ่านกาลเวลายาวนานนั้นเป็นไปโดยธรรมชาติเพราะแบคทีเรียจะได้มี ‘เมือง’ ที่มันได้อาศัยและหากิน ความฉลาดของเราไม่ได้เป็นของเราโดยเฉพาะ แต่เป็นของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ผมลองคิดต่อไปว่า หากยืดเส้นเวลาออกไปอีกยาวนาน มนุษย์ก็เป็นเพียงหนึ่งเผ่าพันธุ์เล็กๆ ในเส้นเวลาที่สุดท้ายแล้วก็จะหายไปหรือแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเพื่อให้ ‘ชีวิต’ ทั้งมวลได้ขับเคลื่อนต่อไป

จอห์น เกรย์ จึงบอกว่า การมองว่ามนุษย์สามารถควบคุมชะตากรรมตนเองได้นั้นเป็นความมั่นใจผิดๆ ในทางตรงกันข้าม การเชื่อว่ามนุษย์จะกลายเป็นผู้พิทักษ์โลกใบนี้ไว้ด้วยฝีมือมนุษย์ก็เป็นเรื่องไร้สาระ

เพราะโลกไม่ได้อยู่ในกำมือมนุษย์เลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงคือห้วงเวลาที่มนุษยชาติจะหมดความสำคัญไปเท่านั้นเอง

 

มาถึงเรื่องวิทยาศาสตร์กันบ้าง

จอห์น เกรย์ แย้งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าวิทยาศาสตร์เอาชนะความเชื่อเดิมทางศาสนาได้เพราะเป็นศาสตร์แห่งการค้นหาความจริงอย่างมีเหตุผล

แต่ที่จริงแล้วในช่วงต้นนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็มีความเชื่อทางศาสนาหรือความลี้ลับเหนือธรรมชาติด้วยเช่นกัน

กาลิเลโอมองว่าตัวเขาเป็นผู้พิทักษ์เทววิทยาไม่ใช่ศัตรูของศาสนา

นิวตันเชื่อในระบบระเบียบที่พระเจ้ารังสรรค์ขึ้น โดยอธิบายปรากฏการณ์ผิดธรรมดาว่าเป็นร่องรอยที่พระเจ้าทิ้งไว้

เคปเลอร์อธิบายสิ่งผิดปกติในดาราศาสตร์ว่าเป็นปฏิกิริยาจาก ‘วิญญาณของโลก’

แต่เมื่อวิทยาศาสตร์แข็งแกร่งขึ้น มันกลับกลายเป็นเหมือนสิ่งเดียวที่มีอำนาจในการพิสูจน์ว่าอะไรจริง-ไม่จริงและจัดการกับพวกนอกรีต

แต่ในอีกมุม วิทยาศาสตร์อย่างกลศาสตร์ควอนตัมก็ทำให้มนุษย์อึดอัดเมื่อพบว่าไม่สามารถหา ‘ระเบียบ’ เพื่อทำความเข้าใจบางสิ่งได้

เมื่อฟิสิกส์สมัยใหม่อธิบายว่าอนุภาคทุกชนิดมีคุณสมบัติเป็นทั้งคลื่นและอนุภาค ในทางกลับกัน คลื่นก็มีคุณสมบัติทั้งสองแบบด้วยขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้สังเกต

สิ่งนี้ขัดกับหลักเหตุผลและคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวของมนุษย์ มันเผยให้เห็นโลกที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ หรือแม้แต่จะเข้าใจมันได้โดยสมบูรณ์ (อย่างน้อยก็ ณ วันนี้)

แล้วถ้าเป็นแบบนี้ ‘ความจริง’ ในวินาทีนั้นคืออะไรกันแน่ เมื่อคำตอบเป็นไปได้หลายรูปแบบ