นงนุช สิงหเดชะ/ไม่ใช่เวทีคอนเสิร์ต-เวทีหาเสียง เลิกได้หรือยัง “ม็อบการเมือง” หน้าศาล

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ไม่ใช่เวทีคอนเสิร์ต-เวทีหาเสียง

เลิกได้หรือยัง “ม็อบการเมือง” หน้าศาล

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกำหนดจะอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมให้มวลชนไปรวมตัวกันในวันนั้น โดยอ้างว่าเพื่อให้กำลังใจคุณยิ่งลักษณ์

กระทั่งทำให้สังคมเกิดความวิตกว่าบรรยากาศเก่าๆ ทางการเมืองแบบเดียวกับช่วงก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 จะย้อนกลับมาอีก

และจากนั้นการเมืองก็จะกลับไปสู่วังวนเดิม

ความเคลื่อนไหวปลุกระดมนี้เป็นบรรยากาศที่เราคุ้นๆ มาหลายปี จะเห็นว่าเนื้อหาที่นำมาปลุกระดมยังเป็นเนื้อเดิม ทำนองเดิม

นั่นคืออ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

เป็นการพยายามกำจัดเครือข่ายคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งล้วนแต่ต้องการสร้างอารมณ์สะเทือนใจแบบเมโลดราม่าในหมู่ฐานเสียงของตัวเอง

แต่จะพยายามไม่พูดถึงหลักฐานหรือผลการสอบสวนซึ่งเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์และจับต้อง มองเห็นได้

เป็นท่วงทำนองที่พยายามทำให้ฐานเสียงและมวลชนมองข้ามเหตุผลและหลักฐาน

ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มักจะกล่าวอ้างว่าตัวเองเป็นพวกนิยมหลักกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเห็นว่าพวกเขายอมรับกระบวนการยุติธรรมต่อเมื่อเป็นคุณกับตัวเอง

มีการอ้างว่าฝ่ายเผด็จการพยายามใช้คดีจำนำข้าวเพื่อกำจัดคุณยิ่งลักษณ์ ทั้งที่ความจริงปัญหาจำนำข้าวถูกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและองค์กรอิสระหยิบยกขึ้นมาแจ้งเตือนรัฐบาลให้ระงับยับยั้งตั้งแต่ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มตั้งเรื่องหรือดำเนินการหลัง คสช. ยึดอำนาจ

ฝ่ายสนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ พยายามจะย้ำในประเด็นที่ว่าคดีนี้เดินหน้าเร็วหลัง คสช. ยึดอำนาจ แต่สิ่งที่ต้องถามกลับไปเช่นกันก็คือทำไมในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การแก้ไขปัญหาจำนำข้าวที่ส่อไปในทางทุจริตสร้างความเสียหายแก่งบประมาณจึงแทบไม่มีการดำเนินการจริงจัง

เป็นเพราะว่าคิดว่าตัวเองเป็นรัฐบาล และมีอำนาจจึงไม่จำเป็นต้องสนใจการท้วงติงของฝ่ายราชการหรือองค์กรอิสระใช่หรือไม่ เพราะอคติและทิฐิมานะหรือเปล่าจึงเห็นว่าข้าราชการคนใดก็ตามที่ทำงานตรงไปตรงมากล้าแย้งรัฐบาลเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นฝ่ายตรงข้ามตัวเอง

ในเมื่อตอนที่ตัวเองเป็นรัฐบาลก็เกียร์ว่าง ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นมาเป็นรัฐบาลแล้วเดินหน้าคดีจะแปลกตรงไหน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าไม่ทำก็จะถือว่าละเว้นหน้าที่หรือเกี้ยเซียะช่วยเหลือกัน

รัฐบาลไหนที่เกียร์ว่างจนปล่อยให้คนนำระเบิดเอ็ม 79 ไปยิงใส่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

รัฐบาลไหนที่เกียร์ว่างจนปล่อยให้มีการยิงระเบิด ขว้าง-ยิงระเบิดใส่ม็อบฝ่ายตรงข้ามจนบาดเจ็บและเสียชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยจับได้ ซึ่งจะอ้างยังไงก็ค้านสายตากรรมการ

เมื่อ คสช. ยึดอำนาจนั่นแหละ จึงจับคนร้ายเหล่านี้ได้ แต่นั่นก็ไม่วายจะหาว่าเขาจัดฉากใส่ร้ายอีก โดยไม่คิดจะกลับไปตรวจสอบตัวเองว่าทำไมตอนเป็นรัฐบาล มีอำนาจอยู่ในมือ จึงไม่พยายามหรือสนใจจับคนก่อเหตุ

คดีจำนำข้าวนี้ ฝ่ายสนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์มีการสร้างวาทกรรมดราม่าว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย (คุ้นๆ จนเบื่อ)

ซึ่งการสรุปเช่นนี้ออกจะดูง่ายและทึกทักมากไปหน่อย และเห็นชัดว่าเป็นการพยายามเอาคำว่า “เผด็จการ” มาเป็นข้ออ้างลบล้างความผิด ทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน

การยึดอำนาจโดยฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเผด็จการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การทำผิดกฎหมายของฝ่ายที่มโนว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เนื้อแท้ที่เป็นแก่นของเรื่องที่ต้องพิจารณาคือมีการทำผิดหรือทำถูกกฎหมาย มีการทุจริตการจำนำข้าวหรือไม่และมีการปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายหรือไม่

มันจะเป็นตรรกะวิบัติโดยแท้ หากจะสรุปว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วทำผิด แล้วความผิดนั้นถูกดำเนินคดีหรือมีความคืบหน้าของคดีในช่วงของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (แม้คดีนั้นเป็นคดีต่อเนื่อง) ก็จะถือว่าเป็นการกลั่นแกล้ง

ในโลกนี้มีประธานาธิบดีหลายคนที่ถูกดำเนินคดีหรือติดคุกหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว เพราะบางประเทศก็ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ให้ถูกดำเนินคดีระหว่างดำรงตำแหน่ง

แต่หลายกรณีก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่แทบจะไม่มีผู้นำคนใดดำเนินคดีกับตัวเองหรือคนใกล้ชิดของตัวเองตราบเท่าที่ยังมีอำนาจในมือ

ด้วยเหตุนั้นผู้นำหลายคนจึงพยายามยื้ออยู่ในอำนาจต่อไปหลายๆ ปี เพราะถ้าลุกขึ้นเมื่อไหร่ ประชาชนก็จะมองเห็นอึที่ตัวเองนั่งทับไว้เพราะนักการเมืองโกงหลายคนเข้าใจสัจธรรมดีว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายก็จริง แต่เคล็ดลับคือทำอย่างไรจะปกปิดความจริงให้นานที่สุด”

คดีจำนำข้าวนี้เห็นชัดว่ายังมีการใช้วิธีเดิมๆ คือระดมมวลชนมารวมตัวกันที่ศาลทุกนัดที่มีการพิจารณาคดีหรือสืบพยาน อ้างว่ามาให้กำลังใจจำเลย ซึ่งแม้จะอ้างว่าไม่ได้กดดันก็ย่อมฟังไม่ขึ้น แต่ที่ยังไม่กล้าล้ำเส้นเพราะอยู่ในยุค คสช. เท่านั้น

ซึ่งประเด็นขนม็อบมาเชียร์นี้ก็น่าคิดว่าต่อไปควรมีการอนุญาตหรือไม่ เพราะภาพที่เกิดขึ้นนั้นราวกับว่าบริเวณศาลเป็นเวทีคอนเสิร์ตหรือเวทีปราศรัยเลือกตั้ง เพราะแต่ละรอบมีคนนับพันมาคอยมอบดอกกุหลาบให้จำเลย

ถึงเวลาหรือยังที่จะออกระเบียบใหม่ห้ามมวลชนไม่ว่าฝ่ายของโจทก์หรือจำเลยแห่แหนกันมาให้กำลังใจโดยรอบบริเวณศาล ควรอนุญาตให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือญาติใกล้ชิดเท่านั้นมาอยู่ในบริเวณนั้น

ต่อไปถ้าหมดยุค คสช. หรือไม่มีกฎหมายพิเศษแล้ว หากปล่อยให้มีการขนม็อบมาหน้าศาลในคดีการเมืองทุกครั้ง จะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมและเกิดความตึงเครียด (ดังจะเห็นได้จากการโห่ใส่พยานที่เป็นฝ่ายตรงข้ามตัวเองในวันสืบพยาน) ต่อพยาน

หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษาเองก็อาจรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าตำรวจ-ทหารที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตกไปอยู่ในมือและอำนาจของฝ่ายการเมืองที่นิยมความรุนแรง ชอบใช้กฎหมู่กดดันศาลซึ่งพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วในอดีต

อย่าลืมว่าศาลเคยถูกพวกคลั่งการเมืองยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่มาแล้ว ซึ่งไม่เคยมีศาลในรัฐบาลยุคใดถูกกระทำเช่นนี้มาก่อน