E-DUANG : ลักษณะ “เสมอภาค” ของ “กฎแห่งกรรม”

เมื่อนึกถึง “กรรม” ผู้คนอาจนึกถึงสภาพที่ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับ สภาพที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับ

นับแต่รัฐประหาร 2 ครั้ง

นั่นก็คือ จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่มองข้าม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ขณะเดียวกัน ก็มองข้าม นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไปเหมือนกับไม่มีอะไรกระทบ

ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยิ่งมองข้าม

อาจเป็นเพราะ ณ วันนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันสูงส่งร่วมกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ทั้งๆที่ท่านก็หนีไม่รอดจากวงจรแห่ง “กรรม”

 

ถามว่าอะไรคือแรงกระทบและผลสะเทือนอันเนื่องแต่รัฐประหารต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ผู้คนมักมองไปยังตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

แต่ก็ลืมไปว่าเพราะอยู่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” นั้นเองจึงถูกรุกไล่จากกรณีบ้านบน “เขายายเที่ยง”

เป็นการราวีจากคนที่เดินเข้าออกบ้าน “สี่เสา” มาด้วยกัน

ยัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้นเล่า อาจอยู่ในฐานะเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” และต่อมาก็เป็น ส.ส.และเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

แต่ก็ยังถูกนักรัฐประหารรุ่นหลังระบุว่า รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ”

ยิ่ง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยิ่งอ่วมอย่างชนิดอรทัย

 

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสบผลสำเร็จ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ดีใจกับความสำเร็จได้ไม่นาน

ก็ต้องทะเลาะกับ “รองนายกรัฐมนตรี” คนหนึ่ง

และต่อมาขณะนั่งรถตู้ไปบนถนนก็ถูก “ลอบสังหาร” อย่าง เหี้ยมโหดกลางวันแสกๆ

ตราบป่านนี้ยังไม่สามารถจับตัว “มือปืน” ได้

และต่อมาก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกด้วยข้อหาฉ้อโกงจากคดีที่มีกับธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และวันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ยังใช้กรรมอยู่ในเรือนจำ

ทุกอย่างล้วนเป็นไปตาม “กรรม”