วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/บางสถานการณ์จาก 14 ตุลา – 6 ตุลา

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บางสถานการณ์จาก 14 ตุลา – 6 ตุลา

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา คนไทย นักการเมือง และสื่อมวลชนต่างมีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนอิสระ เริ่มใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารการเมืองเต็มที่ ขณะที่วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ต่างเพิ่มการนำเสนอข่าวสารมาแทนรายการบันเทิง

ระหว่างนั้น มีนายพันตำรวจคนหนึ่ง คือ พันตำรวจตรีอนันต์ เสนาขันธ์ จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “ดับเทวดา” ขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นมาเล่มหนึ่ง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถึงขนาดที่ร้านขายหนังสือหลายร้านต้องมารอซื้อหนังสือที่หน้าโรงพิมพ์พิฆเณศ อย่างกับจะรับแจกฟรี

เมื่อมีการเลือกตั้ง มีนักการเมืองและพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมาให้เลือกจำนวนมาก ทั้งวิธีการหาเสียงปรับเปลี่ยนไปจากเดิม นักข่าวและหนังสือพิมพ์ต่างเสาะหาข่าวเรื่องการเมืองทั้งด้วยการคาดเดาและวิเคราะห์เจาะลึกว่าพรรคการเมืองใด นักการเมืองคนไหนจะได้รับเลือกตั้ง และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่เริ่มมีฝ่ายมีพวกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเกือบชัดเจน เกิดพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เกิดพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ทั้งฝ่ายนักศึกษาเริ่มก่อตัวศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่เพิ่มความเข้มแข็ง มีนักศึกษาทั้ง “หัวรุนแรง” ทั้ง “หัวการเมือง” และ ฯลฯ ออกมาแสดงบทบาทมากขึ้น กระทั่งหลายคนเป็นนักไฮปาร์ก

จนเรียกกันว่าเป็นนักปลุกระดมมวลชน

ปลายปีนั้น กลุ่มนักหนังสือพิมพ์ มี ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ พิทักษ์ ธวัชชัยนันทน์ และอีกหลายคน ซึ่งเคยทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย มาร่วมกันออกนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ “ประชาชาติ” ซึ่ง ขรรค์ชัย บุนปาน ไปขอประทานชื่อ “ประชาชาติ” มาจากพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ “พระองค์วรรณ” ซึ่งท่านประทานให้และมีจดหมายพร้อมกันนั้น

ประชาชาติรายสัปดาห์นำเสนอข่าวสารบ้านเมืองสรุปในรอบสัปดาห์ มีฉบับหนึ่งขึ้นปกเป็นที่ฮือฮามากคือเหตุการณ์จลาจลที่พลับพลาชัย ภาพตำรวจเตะก้านคอผู้ก่อเหตุคนหนึ่ง

หลังจากนั้น ชาวคณะจึงมาออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันร่วมกับเดอะเนชั่นกระทั่งผู้บริหารเดอะเนชั่นแจ้งผลการดำเนินการว่า “หนังสือพิมพ์ประชาชาติขาดทุน” จึงขอยุติการประกอบการ

แต่กลุ่มผู้ก่อตั้งและกองบรรณาธิการ ซึ่งขณะนั้นมีบรรดานักวิชาการทั้งหนุ่มสาวเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ หลังสำเร็จการศึกษา ล้วนมีไฟประชาธิปไตยแรง บางคนคิดจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคพลังใหม่ บางคนมาร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติในจำนวนนี้มี อากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรม ดิ อิมพิเรียล ซึ่งชื่นชอบการเขียนบทความแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย

เมื่อมีกองบรรณาธิการของตัวเอง มีขรรค์ชัย บุนปาน เป็นผู้จัดการ ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่อาคารพญาไท การเมืองมีความเข้มข้น เริ่มกล่าวหาว่ามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์

ยิ่งเมื่อมีสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมในสภา แนวโน้มการกล่าวหาเริ่มรุนแรงและระบุตัวบุคคลขึ้นมาเป็นบางครั้ง

เมื่อเกิดเหตุสังหารผู้นำชาวนา ต่อมารุนแรงถึงขนาดสังหารหัวหน้าพรรคสังคมนิยม คือ อาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน กลางดึก ด้วยการยิงจากรถบรรทุก ขณะที่อาจารย์บุญสนองขับรถกลับเข้าซอยบ้านถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ผมกับเพื่อนนักข่าวบางคนยังนั่งสังสรรค์ที่ร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งไม่ไกลจากสำนักงานนั้น เมื่อทราบข่าว แต่ไปเปลี่ยนข่าวไม่ทันจึงมีการสั่งงานกันว่าเช้าใครจะไปไหน ทำอะไร และเตรียมข่าวกันอย่างไร

ผมกับเพื่อนนักข่าวสองสามคนต้องไปบ้านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีที่ซอยสวนพลู เช้ามืดวันนั้น ไปถึงมีเพื่อนนักข่าวหลายคนรออยู่บ้างแล้ว

อาจารย์คึกฤทธิ์ถูกปลุกขึ้นมาตอนเช้ามืด แต่งตัวแบบลำลองลงมานั่งบริเวณใต้ถุนบ้าน เรียกคนทำงานบ้านคั้นน้ำส้มสดมาให้ดื่ม แล้วจึงเริ่มให้สัมภาษณ์ ประโยคแรกที่ออกจากปากนายกรัฐมนตรีคือ ทำไมต้องทำกันรุนแรงขนาดนี้ เสียดายอาจารย์บุญสนอง ท่านเป็นคนเก่งเป็นคนดี

หลายคนที่รู้จักอาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน ต่างทราบดีว่า อาจารย์เป็นผู้ที่นิยมแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย และมีความพยายามต่อสู้ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภา แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับเห็นว่าอาจารย์นิยมคอมมิวนิสต์ และเป็นศัตรูกับประเทศไทย

ยิ่งมีการเข่นฆ่าผู้นำ ทำร้ายผู้นำทั้งทางการเมือง ชาวนา นิสิตนักศึกษา ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ยิ่งนำเสนอแง่มุมออกไปสู่ประชาชน การแสดงความคิดเห็นในบทความผ่านหนังสือพิมพ์ถูกกล่าวหาว่ายั่วยุท้าทาย และปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการ และสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย

เป็นขณะเดียวกันที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเริ่มเบี่ยงเบนไปนำเสนอข่าว “ฝ่ายขวา” ทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นออกมาในหลายแนวทาง

ก่อนเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” จะเกิดขึ้น มีการเรียกร้องให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยึดอำนาจตัวเองเมื่อกลางปี 2512 ให้จัดยกร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งจากคณะนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ทั้งก่อนหน้านั้นยังมีเหตุเฮลิคอปเตอร์ทหารที่บรรทุกเนื้อกวางเนื้อเก้งที่กลุ่ม พันเอกณรงค์ กิตติขจร ไปล่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเหตุให้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกับพวกกลุ่มหนึ่งคัดค้านด้วยการออกหนังสือ

เป็นเหตุให้นักศึกษากลุ่มนี้มี นายวิสา คัญทัพ กับพวกถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย สถานการณ์ทางด้านนิสิตนักศึกษาจึงเริ่มก่อตัว มีเหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์หลังจากนั้น เช่น ขับไล่ฐานทัพอเมริกัน ปาระเบิดใส่กลุ่มนิสิตนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนผ่านบริเวณสยามสแควร์

ที่สุดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งจากกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการ ที่ออกหารายชื่อผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน ผมขณะนั้นทำงานที่โรงพิมพ์พิฆเณศ และเป็นผู้ที่ได้ร่วมลงชื่อด้วย

เมื่อการจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงปิดมหาวิทยาลัยขณะที่นักศึกษาสอบ สถานการณ์จึงบานปลายไปเป็นการการเดินขบวนใหญ่ขับไล่จอมพลถนอมกับพวก มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม ดังทราบดีในเหตุการณ์ครั้งนั้น

ในกลุ่มนิสิตนักศึกษามีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และกลุ่มนักศึกษาอาชีวศึกษาซึ่งเป็นกำลังสำคัญสองสามกลุ่ม เช่น กนก 50 เป็นต้น

กลุ่มอาชีวศึกษาบางกลุ่มปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่ม “กระทิงแดง” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือตัวการสำคัญที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง