กรองกระแส/เป้าหมาย บดขยี้ ไทยรักไทย และ เพื่อไทย กับ การเลือกตั้ง

กรองกระแส

เป้าหมาย บดขยี้ ไทยรักไทย และ เพื่อไทย กับ การเลือกตั้ง

ไม่ว่า “โรดแม็ป” จะเป็นไปตามกำหนดประมาณเดือนสิงหาคม 2561 หรือไม่ ไม่ว่า “โรดแม็ป” จะต้องเลื่อนไปเป็นประมาณปี 2562 ตามความคาดหมายของบางคน บางฝ่ายหรือไม่

แต่ความรู้สึก “ร่วม” ก็คือ ต้องมี “การเลือกตั้ง”

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของพรรคการเมืองซึ่งถูกตัดออกไปจากวงจรนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

หากนับจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เป็นต้นมา รัฐประหารและการเลือกตั้งคือ “วงจร”

หลังรัฐประหารปี 2501 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2512 หลังรัฐประหารปี 2514 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2518

หลังรัฐประหารปี 2519 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2522

หลังรัฐประหารปี 2534 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2535 และหลังรัฐประหารปี 2549 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2550

เมื่อศึกษาระยะเวลาระหว่าง “รัฐประหาร” กับ “การเลือกตั้ง” ก็จะเข้าใจ

ในเบื้องต้นอาจจะยื้อได้ถึง 10 ปี แต่ระยะเวลาก็ร่นสั้นลงเป็นลำดับ เป็น 4 ปี เป็น 3 ปี แล้วก็เป็น 1 ปี

รัฐประหาร 2557

กับ “โรดแม็ป”

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จะไม่ดำเนินไปเหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

คือ ใช้เวลาเตรียมเลือกตั้งมากกว่า 1 ปี

ขณะเดียวกัน รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ไม่เหมือนรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 และก็ไม่เหมือนรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2514

เพราะผ่านระยะเวลาตระเตรียมมาแล้ว 3 ปี และอาจเป็น 4 ปี

แต่จะดำเนินไปเหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 หรือไม่ ยังต้องให้เวลากับ คสช. ที่จะให้คำตอบ

เพราะอย่างน้อย คสช. ก็ยืนยัน “โรดแม็ป” ว่าน่าจะเป็นปลายปี 2561

ยิ่งกว่านั้น “โรดแม็ป” อัน คสช. ใช้เป็นบรรทัดฐานนี้ก็มาจากบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ซึ่ง คสช. มีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนด

“โรดแม็ป” หลังสุดของ คสช. จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูง

แม้ว่า คสช. จะเลื่อนจากปี 2559 มาเป็นปี 2560 และเลื่อนมาเป็นปี 2561 แต่ทุกฝ่ายก็ยังให้โอกาสกับ คสช.

อำนาจ การเมือง

กับการสืบทอด

ประเด็นอันเป็นความมั่นใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอ่านผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ว่าจะอ่านผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ล้วนเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ

โดยพื้นฐานอาจเพื่อเป็นหลักประกันมิให้รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กลายเป็นรัฐประหารเสียของเหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

แล้วอะไรคือจุด “ต่าง” ของรัฐประหาร 2 ครั้ง

1 คือ รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ยอมมอบอำนาจให้ “คนอื่น” เหมือน คมช. หากแต่ คสช. เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง

ขับเคลื่อนประเทศภายใต้หลักการ “แม่น้ำ 5 สาย”

1 คือ เนื้อหาอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเนื้อหาอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์แห่งชาติ

ความล่าช้าของการเลือกตั้งจึงอ่านเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากความล่าช้าในการเตรียมความพร้อมในทางการเมือง

ตีกรอบฝ่ายตรงกันข้าม เสริมความมั่นใจให้กับการสืบทอดอำนาจ

การเมืองในเกม

เป้าคือ เลือกตั้ง

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป้าหมายในการโค่นล้มและทำลายยังไม่แปรเปลี่ยน

นั่นก็คือ ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

ระยะเวลาก่อนการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน ทาง 1 ทำลาย บดขยี้โอกาสทุกโอกาสของไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

ทาง 1 สร้างแนวร่วมกับกลุ่มการเมืองนอกเหนือจากไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

เมื่อกระบวนการ 2 กระบวนการมีความพร้อม การกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนจักต้องปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน

แต่หากยังไม่พร้อม “โรดแม็ป” ก็จะต้องเลื่อนออกไป