‘รถเล็ก’ ให้ใช้ ‘ไฟฟ้า’ แต่ถ้า ‘รถใหญ่’ ต้อง ‘ไฮโดรเจน’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘รถเล็ก’ ให้ใช้ ‘ไฟฟ้า’

แต่ถ้า ‘รถใหญ่’ ต้อง ‘ไฮโดรเจน’

 

สัปดาห์นี้ขออนุญาตต่อยอดจากข้อเขียน “ระหว่างรอ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” เราไป EV Conversion กันก่อน” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้สักตอนนะครับ

เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในการเดินทาง สนับสนุนการใช้ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ในแวดวงยานยนต์โลกในขณะนี้

ดังนั้น หลังจากที่ผมได้นำเสนอเรื่องราวของ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ที่เราควรเริ่มต้นกันที่ EV Conversion หรือการปรับแปลง “รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล” ให้กลายเป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งถือเป็น “รถเล็ก” กันไปแล้ว

ในครั้งนี้ เราจะไปกันที่ “รถใหญ่” คือ “รถบรรทุก” ที่ทุกวันนี้ มีการใช้ “พลังงานไฮโดรเจน” กันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

 

ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า การใช้ “พลังงานไฮโดรเจน” หรือ “พลังงานน้ำ” ในการขับเคลื่อนยานยนต์ กำลังได้รับความสนใจอย่างมากไม่แพ้ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า”

ด้วยความคาดหวังที่ว่า การเกิดขึ้นของ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” และ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก “รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่ปัจจุบันมีมากถึงกว่า 1,000 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ ที่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ดังจะเห็นได้จากค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั้ง “รถเล็ก” และ “รถใหญ่” ได้พากันทยอยยกเลิกสายการผลิต “รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล” เปลี่ยนมาเป็น “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” กันยกใหญ่

รวมถึงผู้ผลิตเครื่องบิน รถไฟ รถเมล์ เรือโดยสาร ไปจนกระทั่งจักรยาน อีกจำนวนหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน”

“รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” คือการนำ “น้ำ” มาผ่านกระบวนการทำให้เป็น “ไฮโดรเจน” เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในแผงเซลล์เชื้อเพลิงก็จะได้เป็นพลังงานไฟฟ้าไปจัดเก็บในแบตเตอรี่ซึ่งใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์นั่นเองครับ

ไอเสียของ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ที่มีเพียงไอน้ำเท่านั้น มลพิษที่ออกมาจึงเป็น “ศูนย์” หรือ Zero Emission

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจึงคิดเห็นตรงกันว่า หากเราสามารถผลิตเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของปรากฏการณ์เรือนกระจก และช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนได้

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวอีกด้านหนึ่ง มีข้อโต้แย้งว่า การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในปัจจุบันนั้น กระบวนการผลิตส่วนใหญ่ยังคงอาศัยถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติกันอยู่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cornell และมหาวิทยาลัย Stanford ชี้ว่า ทุกวันนี้ กระบวนการผลิตพลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บลูไฮโดรเจน” หรือการสกัดไฮโดรเจนจากก๊าซธรรมชาติ ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่มากกว่า “รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล”

ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” กับ “รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล” รถยนต์แบบไหนทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน?

 

แปลไทยเป็นไทยก็คือ เราอาจยังไม่สามารถพูดได้ว่าเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดจริงๆ

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนการเทคโนโลยีเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน ยังคงมีความเชื่อที่แรงกล้า ว่าพลังงานทางเลือกชนิดนี้ จะปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีนวัตกรรมการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาดมีมากขึ้น และมีราคาถูกลง

ทุกวันนี้ ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของสหรัฐอเมริกา มี “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ประมาณเกือบ 8,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฮโดรเจนยี่ห้อ Toyota, Honda และ Hyundai โดยส่วนมากวิ่งกันอยู่ในรัฐ California ซึ่งมีสถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั้งหมดเกือบ 50 ปั๊ม

อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถบรรทุก มีการใช้เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนมากกว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็ก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สถานีขนส่งมวลชนเมือง Canton รัฐ Ohio ในทุกๆ เช้า จะมีรถโดยสารประจำทางเกือบ 20 คัน มาจอดรอเข้าแถวรอเติมเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน ก่อนที่จะออกไปตระเวนให้บริการประชาชนตลอดทั้งวัน

เหมือนที่เราเคยเห็นรถใหญ่จำนวนมากเข้าคิวเติม NGV ในเมืองไทย

 

รถโดยสารดังกล่าว ถือเป็นยานพาหนะต้นแบบที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนแทนการใช้น้ำมันดีเซล โดยในปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะจำนวนครึ่งหนึ่งของเมือง Canton รัฐ Ohio ใช้พลังงานสะอาดคือไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

เริ่มจาก 3 คันเมื่อ 5 ปีก่อน มาเป็น 18 คัน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าในปัจจุบัน โดยในช่วงที่ผ่านมารถบัสเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เรายังสามารถนำพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้งานได้จริง และพลังงานไฮโดรเจนสามารถเป็นพลังงานทางเลือกที่พึ่งพาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหตุผลด้านต้นทุนที่ต่ำ

นอกจากเมือง Canton รัฐ Ohio แล้ว ระบบขนส่งมวลชนในเขต Oakland และเขต Riverside รัฐ California ได้มีการนำรถโดยสารสาธารณะ หรือ “รถเมล์พลังงานไฮโดรเจน” มาให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังไฮโดรเจน เป็นส่วนหนึ่งในแผนพลังงาน ทางเลือกใหม่หรือพลังงานสะอาดของสหรัฐอเมริกา เป้าหมายเพื่อลดมลพิษจากการคมนาคมขนส่งลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ.2030

โดยมีการจัดสรรงบประมาณเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ในร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านการรับรองของวุฒิสภา เพื่อใช้ในงานวิจัยการลดต้นทุนการผลิต และสร้างฐานการผลิตเชื้อเพลิงจากพลังงานไฮโดรเจน

 

นอกเหนือจากวงการรถบรรทุก และรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ หรือรถเมล์ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ที่เยอรมนี ได้มีการผลิตรถไฟพลังงานไฮโดรเจน และเปิดวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2018

ขณะที่บริษัทเครื่องบิน Airbus ของฝรั่งเศสกำลังผลิตเครื่องยนต์เพื่อรองรับเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ส่วนในสหราชอาณาจักรก็มีการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้กับรถโฟล์กลิฟต์เกือบ 40,000 คัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางไกลในประเทศอื่นๆ ของยุโรป ต่างก็ใช้รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทางที่ไกลกว่าพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดีกว่า

และเติมเชื้อเพลิงได้รวดเร็วกว่ารถบรรทุกที่ใช้วิธีการชาร์จพลังงานในแบตเตอรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

 

หากเราไม่นับรถไฟ และเรือบิน นอกจาก “รถใหญ่” อย่างรถบรรทุก และ “รถเล็ก” อย่างรถเก๋งแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการผลิต “จักรยานพลังงานไฮโดรเจน” เทรนด์ใหม่มาแรงของชาว Gen Z อีกด้วย

ต้องยอมรับว่า ในห้วงเวลานี้ บรรดาผู้ผลิตยานพาหนะระดับโลกจำนวนมากจากหลากหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น General Motors หรือ GM, Navistar และ J.B. Hunt ได้มีแผนการลงทุนสร้างสถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้

ในขณะที่ Toyota, Volvo Trucks, Daimler Trucks AG, Kenworth และบริษัทรถบรรทุกอีกหลากหลายยี่ห้อ ได้มีการเริ่มทดสอบการใช้งานรถบรรทุกพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และบริษัทรถบรรทุกอีกหลาย Brand ก็กำลังจะประกาศการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน

ที่แม้จะยังคงมีคำถามตัวโตๆ ตามมาติดๆ ว่า “พลังงานน้ำ” หรือ “พลังงานไฮโดรเจน” เช่นนี้ จะสามารถกลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ได้จริงหรือไม่ก็ตาม?

อย่างไรก็ดี เหล่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์ชั้นนำของโลก ต่างพากันเชื่อว่า อนาคตของยานยนต์พลังงานสะอาด มีแนวโน้มที่หันเหทิศทางไปยัง “พลังงานไฟฟ้า” มากกว่า “พลังงานไฮโดรเจน”

เพราะ “พลังงานไฟฟ้า” มีต้นทุนที่ถูกกว่า “พลังงานไฮโดรเจน” นั่นเองครับ