คติการทำพระพุทธรูปประธานคู่ ทรงนิรมิตกายเนื้อเพื่อ “ปุจฉา-วิสัชนา” ฤๅองค์แทนพระพุทธเจ้าโลกนี้-โลกหน้า?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปกติการทำพระพุทธรูปประธานภายในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ที่รับสืบทอดคติมาจากอินเดียนั้น มักนิยมการทำเป็นเลขคี่ ดังนี้

พระประธาน 1 องค์ หมายถึงพระโคตมะ หรือพระศรีศากยมุนี

พระประธาน 3 องค์ หมายถึงคติ “ตรีกาย” ของฝ่ายมหายาน (องค์กลางเป็นพระนาคปรก สองข้างเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตา)

และพระประธาน 5 องค์ หมายถึงพระเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัป ได้แก่ กกุสันโธ โกนาคมน์ กัสสปะ ศากยมุนี และศรีอาริยเมตไตรย

สำหรับพระประธาน 4 องค์เรียงเป็นแถวหน้ากระดานนั้นไม่เคยพบ พบแต่สี่องค์หันหลังชนกันแบบจัตุรมุข เช่น ที่วัดภูมินทร์ เมืองน่าน ซึ่งก็หนีไม่พ้นคติพระเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัปเช่นเดียวกัน โดยหมายเอาว่าต้นโพธิพฤกษ์ตอนบนนั้นเองเป็นตัวแทนของพระศรีอาริยเมตไตรย (เพราะยังไม่ถึงเวลาจุติ)

ส่วนการทำพระประธาน 2 องค์วางบนฐานชุกชีเดียวกัน มีขนาดสัดส่วนเท่ากัน จัดสร้างในยุคสมัยเดียวกันนั้น จะมีคติความเชื่ออย่างไร เป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีการเปิดประเด็นถกเถียงในวงกว้างมากนัก

 

พระประธานคู่ คือการนิรมิตกายเนื้อ
เพื่อปุจฉา-วิสัชนาธรรม?

การที่ดิฉันเปิดประเด็นเรื่อง “คติการทำพระพุทธรูปประธานคู่” ว่าหมายถึงอะไรนั้น ก็เนื่องมาจากได้ไปทัศนศึกษาโบราณสถานที่วัดพระแก้ว ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมา รู้สึกฉงนที่ได้พบซากวิหารหลังหนึ่ง มี “พระประธานคู่” ตั้งอยู่

นอกจากนี้แล้ว ในอุทยานแห่งเดียวกัน ภายในเขตอรัญญิก ยังมี “วัดเตาหม้อ” อีกหนึ่งแห่งที่มีการทำ “พระประธานคู่” อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน

จุดประกายให้ดิฉันรำลึกถึงภาพถ่ายเก่าของพระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน หลังเดิมก่อนที่จะมีพายุถล่ม

พบว่ามีการทำพระพุทธรูปคู่เหมือนกัน ซึ่งยังเป็นองค์ที่อยู่ในพระวิหารหลวงหลังปัจจุบัน

เพียงแต่ว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยเมื่อครั้งบูรณะวิหารปี 2463 ได้สร้างองค์กลางขนาดใหญ่เพิ่มมาอีกหนึ่ง ทำให้มีสามองค์

ดิฉันได้ถาม คุณภาคภูมิ อยู่พูล นักโบราณคดีชำนาญการ ประจำอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ว่า คติการทำพระพุทธรูปประธานคู่นั้นหมายถึงอะไร

คุณภาคภูมิอธิบาย โดยได้ทิศทางมาจากการสันนิษฐานของ ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีกรมศิลปากร ที่เคยอธิบายไว้ถึงคติการทำพระพุทธรูปคู่สององค์ขนาดเท่ากัน ซึ่งพบในกรุเจดีย์ราย วัดมหาธาตุ สุโขทัย ปัจจุบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย (ซึ่งในกรุนั้นเป็นการวางองค์พระหันหน้าหากัน)

ว่าหมายถึง การที่พระพุทธเจ้าได้จำแลงนิรมิตกายเนื้อขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง เพื่อทำการ “ปุจฉา-วิสัชนา” หรือถามตอบข้อธรรมะระหว่างพระองค์เอง อันเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรมต่อสรรพสัตว์

 

“พระสองพี่น้อง” พบที่ไหนบ้าง

การทำพระประธานคู่เช่นนี้ คนทั่วไปมักเรียกแบบภาษาบ้านๆ ว่า “พระสองพี่น้อง” นอกจากจะพบสองแห่งดังที่กล่าวมาแล้ว (กำแพงเพชร และลำพูน) ยังพบตามวัดอื่นๆ อีกทั่วราชอาณาจักร เท่าที่พอจะประมวลรวบรวมมาได้ มีดังนี้ (แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า แต่ละแห่งจะสร้างขึ้นด้วยเจตนาอย่างเดียวกันหรือไม่)

ในเขตล้านนาที่เด่นชัดมีวิหารวัดหมื่นตูม จ.เชียงใหม่ ประวัติบอกว่า เศรษฐีสร้างกันคนละองค์ แล้วนิมิตฝันให้เอามาไว้วัดเดียวกัน นอกจากนี้ มีที่วัดพระเจ้าสององค์ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ วัดร้องกวาง จ.แพร่ วัดป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย

ที่เชียงแสน จ.เชียงราย วัดศรีคองแมน มีพระประธานคู่แต่หันหลังชนกัน ไม่ได้สร้างคู่แบบซ้าย-ขวา

ที่ภาคกลางมีพระประธานคู่เช่นกัน เช่น วัดหนองโนเหนือ จ.สระบุรี แต่ตามประวัติกล่าวว่ามีการนำพระประธานของวัดร้าง 2 แห่งมารวมกันเป็นวัดเดียว โดยผนวกเข้ากับเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ว่าพระพุทธรูปจะมีฤทธิ์มากต้องนำมาไว้เคียงคู่กัน

ส่วนภาคอีสานมีตัวอย่างที่วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม ก็มีพระประธานคู่

เหลียวมองไปยังอินเดียประเทศแม่ของงานพุทธศิลป์ ก็ไม่เคยพบคติดังกล่าว ถ้าเช่นนั้นลองหันไปรอบๆ อุษาคเนย์ ก็พอจะมีอยู่บ้างที่เจดีย์ธรรมยังจี พุกาม ประเทศพม่า อายุไม่ได้เก่ามากนัก สร้างขึ้นในสมัยนยองยาน-คองบองแล้ว

หลักฐานพระประธานคู่ชิ้นเก่าแก่ที่สุดกลับพบในประเทศจีน สร้างสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ ทำขึ้นในนิกายมหายาน เป็นคติว่าหมายถึง “พระศากยมุนี” ปุจฉากับ “พระประภูตรัตน์” (พระพุทธเจ้าประภูติรัตนะ) บ้างว่าเป็นการปุจฉา-วิสัชนาหรือการสนทนาธรรมของทางฝ่ายมหายานของจีน ระหว่าง “พระอมิตาภะ” กับ “พระมัญชุศรี”

 

ถอดรหัสพุทธนิมิต
พระศากมุนี-พระประภูตรัตน์
หรือพระพุทธเจ้าโลกนี้-โลกหน้า

การที่พระพุทธองค์ทรงเนรมิตกายหรือที่เรียกว่า “พระพุทธนิมิต” ขึ้นมานั้น ในงานพุทธศิลป์ฝ่ายอินเดียทั้งเถรวาทและมหายานปรากฏอยู่ในประติมาณวิทยาตอน “ยมกปาฏิหาริย์” (ยมก แปลว่าคู่, ปาฏิหาริย์ แปลว่าการแสดงสิ่งพิสดารให้เป็นที่ประจักษ์)

เรื่องราวตอนนี้มีอยู่จริงใน “ธรรมบทขุทฺทกนิกายธมฺมปทคาถา” มีวัตถุประสงค์เพื่อข่มปราบเดียรถีร์ที่มีมิจฉาทิฐิ พระองค์จึงทรงเนรมิตกาย (เรียกพุทธนิมิต) ให้มีพุทธาการคนละอย่างกับพระองค์จริง เช่น พระพุทธองค์ทรงนั่ง แต่พระพุทธนิมิตทรงอยู่ในท่ายืน เดิน นอน เป็นต้น

อันเกี่ยวข้องกับการทำพระพุทธรูป “สี่อิริยาบถ” พระพุทธองค์ตรัสถึงร่างกายนี้ว่า ขันธ์อันมีจักร 4 อันมีทวารทั้ง 9 อันบุคคลพึงบริหารอยู่เป็นนิจ

คำว่าจักร 4 คือหมุนเวียน 4 อย่าง หมายถึง อิริยาบถ 4 นั่นเอง

ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากวัดพระแก้ว กำแพงเพชร นอกเหนือไปจากการทำพระประธานคู่ปางมารวิชัยแล้ว ยังมีพระนอนอยู่เบื้องหน้าอีกด้วย บางทีอาจมีความเกี่ยวข้องกันในฐานะเป็นภาพสะท้อนของการ ยมกปาฏิหาริย์ ให้เป็นสี่อิริยาบถ

อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าการทำพระพุทธรูปคู่ เป็นสัญลักษณ์ของการสนทนาธรรมระหว่างพระพุทธเจ้ากับพุทธนิมิต ปางหรือกิริยาที่แสดงออก ควรมีการยกไม้ยกมือทำท่าสงสัยคล้ายกับกำลังปุจฉา-วิสัชนากันอยู่ แบบพระพุทธรูปคู่ของจีนหรือไม่

แล้วไฉน การทำปางพระพุทธรูปคู่ ของทั้งในวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน และที่วัดพระแก้ว กำแพงเพชร ทั้งหมดล้วนเป็นปางมารวิชัยทั้งสิ้น

หรือว่าควรเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน กับพระอนาคตพุทธเจ้าได้หรือไม่ คือให้ความสำคัญเฉพาะโลกนี้ โลกหน้า แค่พระศากยมุนี กับพระศรีอาริยเมตรไตรย เท่านั้น ไม่เพ่งเล็งอดีต และไม่เกี่ยวกับคติมหายานของจีน

หรือขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สร้างอุทิศถวาย

อีกทฤษฎีหนึ่ง มีบางท่านเชื่อว่า การสร้างพระพุทธรูปคู่ อาจไม่เกี่ยวข้องกับปริศนาธรรม หรือคติใดๆ ในทางพระพุทธศาสนาเลยก็เป็นได้

แค่เป็นความปรารถนาของคนสองคนที่ต้องการสร้าง “สัญลักษณ์คู่” ถวายวัดไว้ด้วยกัน เจ้าภาพผู้สร้างอาจเป็นพ่อกับลูก พี่กับน้อง สามีกับภรรยา ก็เป็นได้

เช่น มีจารึกหลายหลักที่กล่าวถึง กษัตริย์และมเหสีได้สร้างเจดีย์ขึ้นคู่กัน เพราะขึ้นชื่อว่า “ประธาน” ย่อมหมายถึงสิ่งที่เป็นใหญ่สุดในที่ประชุม ถ้าจะใหญ่ถึง 2 องค์ได้ ก็ต้องมีความสำคัญเสมอกัน

ประเด็น “กษัตริย์-มเหสี” เป็นอีกเรื่องที่มิอาจมองข้ามไปได้ เพราะวัดพระธาตุหริภุญชัย แทบจะเป็นวัดเดียวในแถบลำพูนที่มีพระเจดีย์สององค์ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้วของพุทธาวาส นั่นคือเจดีย์ประธาน พระบรมธาตุหริภุญไชยอยู่กึ่งกลางวัด และเจดีย์ปทุมวดี (สุวรรณเจดีย์) ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ยังอยู่ภายในกำแพงแก้ว ผู้สร้างเป็นมเหสีของพระญาอาทิตยราช

แม้ว่าพระประธานจะเป็นศิลปะยุคล้านนาแล้วก็ตาม แต่วัดนี้เป็นวัดเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ยุคหริภุญไชย บางทีพระประธานอาจได้รับการบูรณะใหม่ยุคล้านนา

หรือมิเช่นนั้น เมื่ออ่านตำนานมูลศาสนา มีการกล่าวถึงพระญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 3 สมัยเป็นพระยุพราช ได้มาประทับที่เมืองลำพูน 2 ปี ตำนานระบุว่าพระองค์ได้หล่อพระพุทธรูปสำริดสององค์ ถวายแด่พระนางจามเทวี (ปฐมกษัตรีย์แห่งราชวงศ์หริภุญไชย) ก็เป็นประเด็นที่มิอาจมองข้ามได้อีกเช่นกัน

คือองค์หนึ่งใช้เป็นพระพุทธปฏิมาแทนผู้สร้าง (พระญาแสนภู) ส่วนอีกองค์หนึ่งใช้เป็นพระพุทธปฏิมาแทนผู้ต้องการอุทิศให้ (พระนางจามเทวี)

เหตุที่วัดพระธาตุหริภุญชัยจัดวางพระประธานคู่เช่นนี้ คนเฒ่าคนแก่กลับอธิบายว่า เพื่อไม่ให้บดบังองค์พระบรมธาตุที่ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลาง เมื่อมองจากพระวิหาร ซึ่งสมัยก่อนเป็นวิหารโถงเปิดผนังโล่ง 4 ด้าน สามารถเห็นองค์พระบรมธาตุได้

บทสรุป การศึกษาเรื่องพระประธานคู่ ยังหาข้อสรุปตายตัวแน่ชัดนักไม่ได้ จุดเริ่มต้นอาจเกิดจากเจตจำนงของเจ้าภาพผู้สร้างที่ต้องการให้เกียรติคู่ชีวิต ต้องการประกาศพลานุภาพของกษัตริย์-มเหสี

แต่สุดท้ายหากนำเรื่องจุดมุ่งหมายในการสร้างของเจ้าภาพไปอธิบายเช่นนั้น ก็อาจทำให้ผู้เคารพกราบไหว้ไม่บังเกิดความเลื่อมใสนัก จึงพยายามหาคำอธิบายกลบเกลื่อนเพื่อเพิ่มศรัทธาหรือคุณค่าในทางปริศนาธรรมเพิ่มขึ้นภายหลังก็เป็นได้