คุยกับทูต เยฟกินี โทมิคิน 125 ปีสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต เยฟกินี โทมิคิน

125 ปีสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย (ตอนจบ)

 

“ความสัมพันธ์รัสเซีย-ไทยมีความหลากหลาย ผมจะขอพูดแต่เพียงประเด็นหลักเท่านั้น เพราะไม่มีเรื่องทางการเมืองใดๆ ที่เป็นปัญหาระหว่างประเทศของเรา และที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียและไทยก็ได้พบกันบ่อยครั้ง ความร่วมมือระหว่างรัฐสภาก็พัฒนากันอย่างแข็งขันเช่นกัน เนื่องจากเรามีกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-รัสเซีย ทั้งมีปฏิสัมพันธ์ในคณะมนตรีความมั่นคงด้วย”

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ได้แก่

ความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime)

“ทางการรัสเซียและไทยกำลังเจรจากันในเรื่องความร่วมมือด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้รัสเซียได้ส่งร่างอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมต่อสหประชาชาติ เราคิดว่าหลังจากการปรับใช้กลไกดังกล่าวจึงสามารถนำมาใช้เป็นรากฐานที่มั่นคง รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทวิภาคีทั้งในการต่อสู้กับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์และสร้างแรงบันดาลใจที่จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยคำนึงถึงวิทยาศาสตร์และศักยภาพทางเทคโนโลยี”

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Economic issues)

“เรื่องนี้เป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญของวาระทวิภาคีที่เราวางไว้ เป้าหมายคือทำให้การค้าทวิภาคีมีมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2023”

“เราได้แลเห็นศักยภาพการเติบโตในด้านต่างๆ เช่น ในส่วนของการค้าขายสินค้าการเกษตรระหว่างกัน”

 

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

 

ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and technology)

“ทางการรัสเซียและไทยที่รับผิดชอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังดำเนินการกับเอกสารสำคัญหลายฉบับ”

“ผมขอเน้นว่า รัฐบาลรัสเซียมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนต่างชาติจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักเรียนไทย ในทุกปี ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยในราชอาณาจักรไทยมีโอกาสสมัครทุนรัฐบาลรัสเซียและศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในรัสเซีย ทุนการศึกษาครอบคลุมค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลาการศึกษา ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-5 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของปริญญาที่ไปศึกษา”

“แม้จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่เรายังคงทำงานเพื่อคัดเลือกนักเรียนไทยและมอบทุนรัฐบาลรัสเซียให้ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของประเทศรัสเซียอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ปีนี้โควต้าได้เพิ่มเป็น 50 คน นักศึกษาไทยได้สมัครเรียนในสาขาวิชาต่างๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาษาศาสตร์ จิตวิทยาและการแพทย์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและในโซเชียลมีเดียสำหรับการอัพเดตและประกาศที่เกี่ยวข้อง”

คณะผู้แทนจาก​หน่วยงานคณะกรรมการเลือกตั้งได้เข้าเยี่ยมสถานเอกอัครราชทูต​รัสเซีย​ประ​จำ​ประเทศไทยเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศ

“การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกันนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้พัฒนาต่อไป ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นักเรียนสามคนจากประเทศไทยซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสโกลโกโว (Skolkovo Institute of Science and Technology : Skoltech) ที่มีชื่อเสียงใกล้กรุงมอสโกอีกด้วย”

คณะผู้แทนจาก​หน่วยงานคณะกรรมการเลือกตั้งได้เข้าเยี่ยมสถานเอกอัครราชทูต​รัสเซีย​ประ​จำ​ประเทศไทยเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศ

“ผมมีความภูมิใจที่จะแจ้งให้ทราบว่าวันที่ 1-5 มีนาคมที่ผ่านมา ความพยายามร่วมกับเพื่อนชาวไทยในการจัดงาน Rectors Forum of Russia and Thailand ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ ‘Education in Russian and Thailand : Dialogue with the Digital Society’ ในรูปแบบการประชุมทางไกล”

“การประชุมระดับสูงนี้เป็นการรวมตัวของอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของทั้งสองประเทศ และให้พื้นที่ในการประชุมอย่างกว้างขวางเพื่อหารือในด้านความร่วมมือ แลกเปลี่ยนนักศึกษาและวิทยาศาสตร์ โครงการฝึกอบรม ตลอดจนโครงการที่มุ่งส่งเสริมภาษารัสเซียและไทยอีกด้วย”

 

ด้านการป้องกันสถานการณ์ฉุกเฉิน และการกำจัดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ (Emergency and Disaster Management)

“ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางการของทั้งสองประเทศกำลังเจรจาหารือกันในประเด็นการพัฒนากลไกในระดับทวิภาคีที่เหมาะสมสำหรับการประสานความร่วมมือดังกล่าว”

“เฮลิคอปเตอร์รัสเซีย ‘Ka-32’ ที่ส่งมายังประเทศไทยตอนนี้สามารถดับไฟธรรมชาติและไฟที่มนุษย์สร้างขึ้นในประเทศได้สำเร็จ ในขณะที่ ‘Mi-17’ ที่ประจำการในกองทัพบกใช้สำหรับขนส่งผู้ป่วยวิกฤตโรคโควิด-19”

ในความกังวลของสมาชิกอาเซียนบางประเทศกรณีรัสเซียสนับสนุนกองทัพพม่าหรือตัดมาดอว์ (Tatmadaw) อย่างเปิดเผย โดยมองว่าเป็นการใช้ยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครอง

เอกอัครราชทูตรัสเซียในพิธีส่งมอบเฮลิคอปเตอร์แบบอเนกประสงค์ รุ่น​ Mi-17V-5 จำนวน 3 ลำแก่ประเทศไทย​ ซึ่งได้จัดซื้อมาใช้ตามโครงการของรัฐบาลไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน​ที่ประสบภัยธรรมชาติ ณ อู่ตะเภา

 

“เรายินดีกับการแต่งตั้งทูตพิเศษของอาเซียนประจำประเทศเมียนมา นอกจากนี้ เรายังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ใช้ความยับยั้งชั่งใจและความยืดหยุ่นสูงสุด เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาที่สร้างสรรค์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อยู่ในคำแถลงการณ์ของประธานจากประเทศบรูไน ทั้งนี้ มอสโกกำลังติดตามพัฒนาการในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด และหวังว่าจะสามารถยุติสถานการณ์ได้โดยสันติ”

“รัสเซียพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับอาเซียนในด้านนี้ในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนภายในกรอบของกลไกที่เน้นให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนับสนุนสถานการณ์ในประเทศที่เป็นมิตรนี้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ เราหวังว่าเพื่อนบ้านของเมียนมาในภูมิภาคนี้จะให้ความไว้วางใจ”

“เราเชื่อว่าเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้สำหรับงานต่อไป ควรเป็นคำมั่นสัญญาที่ยั่งยืนต่อหลักการสำคัญในการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอธิปไตย”

รัสเซียได้ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้โดยได้ส่งมอบเฮลิคอปเตอร์​ รุ่น​ Ka-32A11BC จำนวน 2 ลำ ให้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​กระทรวงมหาดไทย​ ณ​ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา

 

 

เฮลิคอปเตอร์​ รุ่น​ Ka-32A11BC จำนวน 2 ลำ รัสเซียมอบให้แก่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​กระทรวงมหาดไทย​

 

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) รัสเซียแสดงบทบาทเป็นผู้นำสมาชิก (EAEU) และการสนับสนุนของรัสเซีย

ท่านทูตให้คำตอบว่า

“เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2018 ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยที่กรุงเทพฯ ตามด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภายในกรอบความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสาร วัตถุประสงค์ของความร่วมมือ คือการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ที่ครอบคลุม เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและบริการระหว่างกัน เพิ่มการลงทุนเพื่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ การดำเนินการตามมาตรการที่มุ่งขจัดอุปสรรค ขัดขวางและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการค้าและการลงทุน”

“การประชุมครั้งที่สองของคณะทำงานร่วมกันดังกล่าวนั้น มีกำหนดจัดในเดือนกันยายน โดยฝ่ายต่างๆ จะมีโอกาสในการอภิปรายประเด็นต่างๆ รวมทั้งประเด็นตามที่ได้กล่าวถึง”

การเลือกตั้งสภาดูมาแห่งประเทศรัสเซีย (Russian State Duma elections)

“สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทยและสถานกงสุลใหญ่รัสเซียประจำจังหวัดภูเก็ตได้จัดการเลือกตั้งสภาดูมา (Russian State Duma) เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เราสนับสนุนให้พลเมืองรัสเซียที่มีสิทธิ์ทุกคนซึ่งพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันสามารถเข้าร่วมได้ รายละเอียดขั้นตอนและกำหนดการลงคะแนน พร้อมผลโหวตถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต”

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย แต่ด้วยความสำคัญของการเลือกตั้ง กระบวนการลงคะแนนเสียงจึงได้รับความร่วมมือในการจัดการอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานท้องถิ่นหลายระดับ”

“คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งของประเทศรัสเซียและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งของไทย (กกต.) ได้รักษาความสัมพันธ์ที่ดี กกต.ได้แสดงความสนใจต่อการจัดกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ใช้ในต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดย กกต.เตรียมที่จะส่งคณะผู้แทนไปดูงานที่ประเทศรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การเยือนจึงได้ถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ตาม เราขอขอบคุณสำหรับแนวทางการทำงานที่สร้างสรรค์ของฝ่ายไทยและความตั้งใจที่จะพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีในด้านนี้ต่อไป”

“เรายินดีที่มีผู้แทนจาก กกต.ได้แสดงความสนใจอย่างแท้จริง ด้วยการมาร่วมในวันลงคะแนนเพื่อเป็นสักขีพยานในการจัดการเลือกตั้ง ณ สถานทูตของเรา”

 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมีย (International Crimean Platform Summit) ณ กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

การประชุมสุดยอดแพลตฟอร์มไครเมีย ริเริ่มโดยประเทศยูเครนซึ่งมีจุดประสงค์ในการจัดประชุมว่าเป็นเครื่องมือนโยบายต่างประเทศที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการเลิกยึดครองไครเมีย และปกป้องหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วโลกในเวลาเดียวกัน

แพลตฟอร์มไครเมียจะให้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์แก่กระบวนการปลดปล่อยไครเมีย ตลอดจนการทำงานร่วมกันในระหว่างรัฐบาล รัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญ หรือทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน แนวคิดของแพลตฟอร์มจะครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ที่กว้างกว่าการบูรณาการดินแดนของยูเครน

สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

การสนับสนุนแพลตฟอร์มโดยประชาคมระหว่างประเทศแสดงถึงข้อความอันทรงพลังในการปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศ, เขตแดนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปโดยกฎหมายระหว่างประเทศ, ค่านิยมร่วมกันเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะละเมิดไม่ได้

ปัจจุบันทางการยูเครนเรียกไครเมียว่า “ดินแดนไครเมียที่ถูกยึดครองชั่วคราว”

ส่วนประเทศรัสเซียเห็นว่า แพลตฟอร์มไครเมียมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นโครงการทางด้านการเมือง โดยพัฒนาขึ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา – “การเลิกยึดครองไครเมียและการนำไปรวมคืนกับประเทศยูเครน (the de-occupation of Crimea and its reintegration with Ukraine)”

ผู้เข้าร่วมงานนี้มีความเกี่ยวข้องและทำเพื่อเป้าหมายนี้โดยเฉพาะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเทศสมาชิก NATO และองค์การระหว่างประเทศบางแห่งที่รับรู้ด้วยความเข้าใจผิดที่ว่าคาบสมุทรไครเมียควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครนในปัจจุบัน และสามารถออกจากสหพันธรัฐรัสเซียด้วยการเพิ่มความกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจ

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

 

ท่านทูตรัสเซีย นายเยฟกินี โทมิคิน ชี้แจงว่า

“มุมมองของรัสเซียโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Mr.Sergey Lavrov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายวิกเตอร์ กรุชโค (Mr.Viktor Grushko) และโฆษกกระทรวงต่างประเทศ นางมาเรีย ซาคาโรวา (Mrs.Maria Zakharova) เห็นว่า เป็นการกระทำที่ยั่วยุโดยทางการยูเครน เป้าหมายคือบ่อนทำลายบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของรัสเซีย เพราะผู้คนในไครเมียได้ตัดสินใจในปี 2014 ด้วยการลงประชามติเพื่อเข้าร่วมกับรัสเซีย บ้านเกิดของพวกเขา”

“ผมขอแสดงความคิดเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ในไครเมีย ก่อนและหลังการรวมประเทศกับรัสเซีย โดยในปี 2013 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาค (GRP) ต่อหัวในไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ นั้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 29.5% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรัสเซีย 4 เท่า (นั่นคือ 100,500 รูเบิล) แต่ในปี 2014-2019 ไครเมีย GRP เติบโตขึ้น 2.5 เท่า (เป็น 245,500 รูเบิล)”

“โครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรมและการขนส่งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับคุณภาพของพลังงานและน้ำประปาของภูมิภาค เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 ของการให้บริการทางหลวงบนสะพานไครเมีย (Crimean bridge)”

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย

สะพานแห่งใหม่ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมีย ความยาว 19 กิโลเมตร นับเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่มีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังรัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครนเมื่อปี 2014 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตรนาโตเกิดรอยร้าว

“อุตสาหกรรมรีสอร์ตของแหลมไครเมียกำลังฟื้นตัว ในปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คน 7.43 ล้านคนใช้เวลาช่วงวันหยุดไปพักผ่อนที่นั่น โดยที่มีผู้เดินทางมาจากยูเครนจำนวนมาก”

“มีการพัฒนาทางสังคมเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความกลมกลืนทางชาติพันธุ์และศาสนาอันมั่นคงในภูมิภาค นโยบายในการรักษาความเท่าเทียมและความหลากหลายทางภาษาในไครเมียรัสเซียได้กำหนดขึ้นในระดับกฎหมาย ขณะนี้มีภาษาราชการสามภาษาในไครเมีย ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน และตาตาร์ (Tatar)”

“ผมขอให้ระลึกว่า ในปี 1954 แหลมไครเมียถูกโอนย้ายจากรัสเซียไปยังยูเครนด้วยการตัดสินใจของนิกิตา ครุชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตในเวลานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศเดียว คือ สหภาพโซเวียต”

 

นายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย